การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
สธ.เตือนผู้ประกอบการจำหน่ายอาหารฝ่าฝืน พ.ร.บ.การสาธารณสุขโทษจำคุก-ปรับ


 


กระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้ประกอบการจำหน่ายอาหารใส่ใจเรื่องสุขาภิบาลอาหาร  ปฏิบัติให้ถูกต้องตาม พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 ทั้งการปรุง วาง เก็บสะสมอาหาร ต้องถูกสุขลักษณะ หากไม่ปฏิบัติหรือฝ่าฝืนข้อกำหนดมีโทษขั้นต่ำปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือขั้นสูงจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ ว่า อาหารมีความสำคัญต่อสุขภาพของประชาชน กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดเป็นนโยบายและภารกิจระดับชาติ ที่จะให้ประชาชนได้บริโภคอาหารที่สะอาด ปลอดภัย ไร้สารพิษ ด้วยการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใส่ใจเรื่องสุขาภิบาลอาหาร เพราะทุกขั้นตอนทั้งการประกอบอาหาร การวาง หรือเก็บเพื่อจำหน่าย อาจทำให้อาหารสกปรก ปนเปื้อนเชื้อโรค พยาธิ หรือสารเคมีที่เป็นพิษ จากตัวอาหารดิบ สุขลักษณะส่วนบุคคลของผู้ปรุง ผู้เสิร์ฟ ภาชนะอุปกรณ์ น้ำใช้ รวมทั้งความสกปรกของสถานที่ ห้องน้ำห้องส้วม เป็นต้น ซึ่งเมื่อประชาชนรับประทานอาหารนั้นเข้าไป อาจทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โรคที่พบได้บ่อยคืออุจาระร่วงและอาหารเป็นพิษ ซึ่งแต่ละปีพบผู้ป่วยจำนวนมาก ล่าสุดปี 2559 ตั้งแต่ 1 มกราคม-20 มิถุนายน พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงกว่า 500,000 คน 
 
 

ในการควบคุมให้อาหารที่จำหน่ายมีความปลอดภัย มีพระราชบัญญัติที่ให้อำนาจแก่ราชการส่วนท้องถิ่นในการควบคุมดูแลด้านสุขลักษณะของสถานประกอบกิจการดังกล่าว ที่สำคัญคือ พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 ที่มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสุขลักษณะของอาหาร กรรมวิธีการจำหน่าย ทำ ประกอบ ปรุง เก็บรักษา หรือสะสมอาหาร รวมทั้งการรักษาความสะอาดของภาชนะน้ำใช้ และของใช้ต่างๆ เช่น การจำหน่าย ทำ ประกอบ ปรุง เก็บสะสมอาหาร และการล้างภาชนะอุปกรณ์ ต้องสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องปรุงรส ในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ต้องมีเลขทะเบียนตำรับอาหาร อาหารสดประเภทเนื้อ ต้องเก็บในภาชนะที่ปิดสนิท ที่อุณหภูมิที่ต่ำกว่า 7.2 องศาเซลเซียส

ส่วนอาหารที่ปรุงสำเร็จแล้วต้องเก็บในภาชนะที่สะอาด มีการปกปิด ภาชนะที่บรรจุอาหารหรือใส่เครื่องปรุงรสต่างๆ ต้องใช้วัสดุที่มีการออกแบบที่ถูกหลักสุขาภิบาลอาหารและปลอดภัย ภาชนะที่ใช้แล้วต้องล้างและเก็บให้ถูกหลักสุขาภิบาลอาหาร ส่วนภาชนะประเภทใช้แล้วทิ้ง ห้ามนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น หากไม่ปฏิบัติหรือฝ่าฝืนข้อกำหนดมีโทษขั้นต่ำปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือขั้นสูงจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับกรณีข่าวที่มีการพบหนูในสถานที่จำหน่ายอาหารแห่งหนึ่งในกทม.นั้น กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบอำนาจให้ราชการส่วนท้องถิ่นคือกรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 ที่ต้องเข้าไปดำเนินการให้ถูกสุขลักษณะ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค


 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 มิ.ย. 2559 เวลา : 12:33:32
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 12:17 pm