ข่าวประชาสัมพันธ์
DJSI คัดเลือกซีพีเอฟเป็นสมาชิกต่อเนื่อง 2 ปีซ้อน


 


บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ดำเนินธุรกิจบนเส้นทางแห่งความยั่งยืน เพื่อสร้างการเติบโต ขับเคลื่อนความเป็นเลิศ และสร้างพื้นฐานที่มั่นคง ภายใต้วิสัยทัศน์ 'ครัวของโลก' ตอกย้ำความภูมิใจที่บริษัทไทยได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกในกลุ่มดัชนีความยั่งยืนของดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI) ประเภท Emerging Markets ประจำปี 2559 ในหมวดอุตสาหกรรมอาหาร ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 

นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า จากการประกาศผล DJSI 2016  โดยมี RobeccoSam เป็นผู้ดำเนินการประเมิน ซีพีเอฟได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิก DJSI เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่ง DJSI เป็นดัชนีประเมินประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ครอบคลุม 3 มิติสำคัญ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม  ถือเป็นความภาคภูมิใจที่บริษัทไทยได้ประกาศศักยภาพบนเวทีความยั่งยืนระดับโลก  และยังช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนและผู้มีส่วนได้เสีย ในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการร่วมรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม บนพื้นฐานการกำกับกิจการที่ดี อันนำไปสู่การเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว
 

“ซีพีเอฟเป็น 1 ใน 4 จาก 33 บริษัท ในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร (FOA Food Products) โดยในปีนี้ได้คะแนนรวม 75 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่ได้ 65 คะแนน โดยมีคะแนนสูงขึ้นในทุกมิติ และสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร มีคะแนนที่โดดเด่นสูงกว่า 80 คะแนนถึง 12 หัวข้อ ซึ่ง 4 หัวข้อสูงกว่า 90 คะแนน ได้แก่ การบริหารความเสี่ยง การจัดหาวัตถุดิบ การลงทุนทางสังคม และการบริหารทรัพยากรบุคคล และได้รับคะแนนเต็ม 100% ใน 2 หัวข้อ ได้แก่ ประเด็นที่มีนัยสำคัญ และ กลยุทธ์สภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ยังมีประเด็นใน 3 หัวข้อ ได้แก่ ประเด็นที่มีนัยสำคัญ การบริหารทรัพยากรบุคคล และประสิทธิภาพเชิงนิเวศ ที่บริษัทชั้นนำระดับโลกได้คะแนนต่ำสุด แต่ซีพีเอฟได้รับคะแนนที่โดดเด่นใน 2 ประเด็นแรก” นายวุฒิชัย กล่าวเสริม
 
ซีพีเอฟได้วางกลยุทธ์และและแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมสู่ความยั่งยืน ภายใต้ 3 เสาหลัก “อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่” พร้อมวางเป้าหมายหลัก 6 ด้านในการขับเคลื่อน ผ่านการดำเนินงานดังนี้ 
 
“อาหารมั่นคง” ประกอบด้วย 1. ยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยตลอดกระบวนการ ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพตามนโยบาย Healthy Nutrition  โดยมีกลุ่มตลาดกลุ่มสุขภาวะ (Adult Well-Being), กลุ่มตลาดกลุ่มโภชนาการเด็ก (Kid’s Health and Nutrition และกลุ่มตลาดอาหารสดอนามัย (High Food Safety Standard Fresh Meats) ตลอดจนการลดอัตราข้อร้องเรียน 2. ส่งเสริมการเข้าถึงอาหาร ให้กับกลุ่มเยาวชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และเยาวชนที่อยู่รอบรั้วโรงงานหรือฟาร์มทั่วประเทศกว่า 150,000 คน  ผ่านการดำเนิน “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” ขยายไปยังโรงเรียนอีก 50 แห่ง และการดำเนิน “โครงการซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต” ในโรงเรียน 69 แห่ง  รวมทั้งสิ้นกว่า 600 โรงเรียน 

 
“สังคมพึ่งตน” ประกอบด้วย 3. พัฒนาคู่ค้าธุรกิจให้เติบโตไปด้วยกัน มีแผนงานบริหารความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานทั้งในกลุ่ม Critical Supplier และ Non-Critical Supplier โดยปี 2559 ส่งมอบนโยบายการจัดหาอย่างยั่งยืนและแนวปฏิบัติสำหรับคู่ค้าธุรกิจ ให้แก่คู่ค้าธุรกิจกลุ่ม  Non-Critical Supplier กว่า 7,500 ราย และการจัดหาวัตถุดิบหลักทางการเกษตรอย่างรับผิดชอบ 5 กลุ่มประกอบด้วย ปลาป่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง และน้ำมันปาล์ม

นอกจากนี้ยังเข้าไปส่งเสริมคุณภาพชีวิตชาวประมง ผ่านศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลา จังหวัดสงขลา เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตเด็กและสตรีในครอบครัวของแรงงานประมง รวมถึงมีการอบรมอาชีพ และสร้างห้องเรียนให้แก่เด็กต่างด้าวก่อนวัยเรียน ครอบคลุมจำนวนแรงงานและความเสี่ยงกว่า 25,000 คน อย่างไรก็ตามบริษัทยังได้เข้าไปส่งเสริมเกษตรกร และสานต่อโครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น 4.  ส่งเสริมคุณภาพชีวิตชุมชน สานต่อโครงการส่งเสริมคุณภาพชีวิตชุมชน รอบรั้วโรงงานและฟาร์ม และเสริมสร้างอาชีพและรายได้ของเกษตกร

 “ดินน้ำป่าคงอยู่” ประกอบด้วย 5. บรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การบริหารประสิทธิภาพเชิงนิเวศ (Eco-Efficiency)  โดยตั้งเป้าหมายลดการใช้พลังงานรวม 9% น้ำ 10%, ของเสีย 7%, ก๊าซเรือนกระจก 4 % ต่อตันการผลิต   6. อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านการดำเนิน “โครงการซีพีเอฟปลูก-ปัน-ป้องป่าชายเลน” เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนในพื้นที่ยุทธศาสตร์ 5 จังหวัด กว่า 2,600 ไร่ พร้อมเปิดตัว “ศูนย์การเรียนรู้ซีพีเอฟ ปลูก-ปัน-ป้องป่าชายเลน ปากน้ำประแส” อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และวางแผนเปิดศูนย์การเรียนรู้ฯ ที่จังหวัดชุมพรในช่วงปลายปีนี้ 

นอกจากนี้ยังมีการดำเนินโครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวรอบรั้วโรงงานและฟาร์ม ผ่านการจัดฝึกอบรมแก่พนักงานเพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจ มีการจัดทำระบบรวบรวมข้อมูลและอบรมการวัดการเติบโตของต้นไม้ การกักเก็บ CO2 และการให้บริการระบบนิเวศ เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
“การเข้าร่วมประเมิน DJSI ในแต่ละปี จะทำให้เราเห็นโอกาสในการพัฒนาและปรับปรุงประเด็นสำคัญต่างๆ ที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ แล้วนำมาพัฒนากระบวนการบริหารจัดการขององค์กรให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจเจริญเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน” นายวุฒิชัย กล่าวทิ้งท้าย./

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 ก.ย. 2559 เวลา : 07:32:34
16-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 16, 2024, 5:38 am