เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
อีไอซีฟันธงการเติบโตอย่างยั่งยืนของการท่องเที่ยวไทยไม่สามารถพึ่งพาตลาดเดิมได้


 

นายวิธาน เจริญผล ผู้อำนวยการคลัสเตอร์ธุรกิจบริการ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงภาพรวมธุรกิจการท่องเที่ยวของไทยว่า   จุดเด่นของการท่องเที่ยวไทยกลายมาเป็นส่วนสำคัญที่พยุงการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เติบโตกว่า 10% ต่อปีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ความยั่งยืนของการท่องเที่ยวต้องการมากกว่าเพียงข้อได้เปรียบทางด้านแหล่งท่องเที่ยวและความคุ้มค่า แต่หากจำเป็นต้องเพิ่มคุณภาพของการท่องเที่ยว การขยายตลาดและการท่องเที่ยวในด้านใหม่ๆ และพัฒนาด้านอุปทานของการท่องเที่ยว เพื่อรองรับและสนับสนุนการเติบโตในระยะยาว

การท่องเที่ยวไทยมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องเติบโตอย่างชัดเจนใน ช่วงที่ผ่านมา โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านระดับ 30 ล้านคนในปี 2016 ส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นราว 11% ต่อ GDP นอกจากนี้ 10 ปีที่ผ่านมา โรงแรมและร้านอาหารมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยแบบเร่งตัว จาก 3% เป็น 8% ต่อปี ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกก็เร่งตัวเร็วขึ้นเช่นกัน จาก 1% เป็น 3% ต่อปี ซึ่งธุรกิจนี้ในบริเวณกรุงเทพฯ และแหล่งท่องเที่ยวหลักๆ ของไทยมีส่วนแบ่งรายได้ที่มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงถึง 40% ในขณะที่ธุรกิจขนส่งและคมนาคมเติบโตในระดับ 5-6% ต่อปี
 

อีไอซีเชื่อว่า การเติบโตอย่างยั่งยืนของการท่องเที่ยวไทยไม่สามารถพึ่งพาตลาดเดิมๆ ได้ตลอดไป จึงควรมองหาตลาดอื่นๆ เข้ามาเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในด้านที่ไทยมีจุดแข็งอยู่แล้ว โดยอินเดีย และอินโดนีเซียนับเป็นตลาดที่มีศักยภาพในตลาดการท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนด้วยรายได้และจำนวนของชนชั้นรายได้ระดับปานกลางที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ยังมีโอกาสขยายตลาดใหม่ๆ ทั้งจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มองหาบริการด้านสุขภาพที่ราคาถูกลง เช่น ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีความต้องการบริการด้านสุขภาพที่ดีกว่าในประเทศของตนเอง เช่น เมียนมา อีกทั้งตลาด MICE ที่ไทยน่าจะได้เปรียบมากในด้านของตลาดการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลและการจัดนิทรรศการต่างๆ

ในขณะเดียวกัน การเสริมสร้างการท่องเที่ยวในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะด้านการสนับสนุนการถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น และการสร้างตลาดการท่องเที่ยวเชิงกีฬาจะช่วยส่งเสริมการเติบโตในระยะยาวซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นการให้สิทธิประโยชน์พิเศษกับกองถ่ายภาพยนตร์จากต่างประเทศ หรือการสนับสนุนการลงทุนสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เช่น สวนสนุก สวนน้ำ รวมถึงการดึงงานกีฬาระดับโลกเข้ามาจัดที่ไทย ทั้งหมดนี้จะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยเพิ่มจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยว อีกทั้งยังช่วยกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาการท่องเที่ยวในด้านเดิมๆ

 
นอกจากนี้ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนยังต้องร่วมกันพัฒนาด้านอุปทานของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งด้านบุคลากร การบำรุงรักษาแหล่งท่องเที่ยว และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงคมนาคมขนส่งในมิติที่กว้างมากขึ้น เช่น การเสริมสร้างด้านจรรยาบรรณ ด้านเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมให้กับบุคลากรด้านการท่องเที่ยวเพิ่มเติมจากทักษะด้านภาษาและคุณภาพการบริการ การคำนึงถึงความเพียงพอของบุคลากรในการดูแลด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น การปรับปรุงกฎระเบียบและการบังคับใช้อย่างจริงจัง การจัดให้มีบริการการขนส่งสาธารณะที่เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวหลักกับแหล่งท่องเที่ยวรองที่มีประสิทธิภาพและเอื้อต่อการใช้บริการของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาระบบการให้ข้อมูล ยานพาหนะ เส้นทางการเดินทาง หรือระบบจองตั๋วออนไลน์ เป็นต้น
 
 

ที่ผ่านมาถึงแม้ว่าธุรกิจท่องเที่ยวไทยจะมีการเติบโตจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ไทยก็ควรคำนึงถึงคุณภาพเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวตั้งแต่วันนี้ เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยจากบทเรียนที่เคยเกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ในอดีตเคยมีความสามารถในการแข่งขันสูงและเติบโตได้ดีในฐานะฐานการผลิตที่สำคัญแต่ปัจจุบันนั้นกลับเริ่มมีแนวโน้มที่ชะลอตัวและมีความเสี่ยงที่จะหดตัว ซึ่งการเติบโตอย่างยั่งยืนของท่องเที่ยวไทยนั้นต้องการการพัฒนาของโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องไปพร้อมๆ กัน

  
 
 

















 

LastUpdate 23/11/2559 07:44:44 โดย : Admin
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 4:19 am