เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
คลังหนุนแบงก์พาณิชย์ช่วยเอสเอ็มอี ลดดอกเงินกู้


 


การเข้าถึงแหล่งเงินกู้และต้นทุนทางการเงินนับเป็นปัจจัยและต้นทุนที่สำคัญในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและย่อมหรือ SMEs  ซึ่งในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่  การช่วยเหลือSMEs   โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เป็นสิ่งที่ช่วยผู้ประกอบการได้ดีที่สุด

ซึ่งนายสมชัย  สัจจพงษ์   ปลัดกระทรวงการคลัง  เปิดเผยว่า  กระทรวงการคลังต้องการให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากและประหยัดขึ้น    ถึงแม้ว่าธนาคารพาณิชย์จะเสียรายได้จากการปล่อยกู้ไปบ้าง แต่ก็จะมีฐานการขยายสินเชื่อได้มากขึ้น ไม่ใช่ลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น   รวมทั้งยังเป็นผลดีในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
 
         
ขณะที่นายวิสุทธิ์   ศรีสุพรรณ   รมช.คลัง  กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมากคิดเป็น 99% ของผู้ประกอบการทั้งหมด   จึงอยากให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี   เพื่อให้มีทุนหมุนเวียนและเกิดการลงทุนใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันรัฐบาลก็มีมาตรการเข้าไปช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต่อเนื่อง ทั้งการให้สินเชื่อผ่อนปรนดอกเบี้ยต่ำ การอบรมให้ความรู้   และการให้ บสย. เข้าไปช่วยค้ำประกันเพื่อให้เข้าถึงสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ได้มากขึ้น
 

ด้านนายนิธิศ  มนุญพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า  วันที่ 1 ธ.ค. นื้ บสย. จะลงนามร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อเดินหน้า“โครงการค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทวีทุน” (Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 6) หรือ PGS ระยะที่ 6 โดยคาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน 33,000 ราย  ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินรวม 168,000 ล้านบาท   และก่อให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 458,000 ล้านบาท  โดยจะเปิดให้ยื่นค้ำประกันสินเชื่อได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2561 หรือจนกว่าวงเงินจะหมด
 
         
สำหรับผู้ที่จะขอรับสินเชื่อ “โครงการค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทวีทุน” (Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 6) หรือ PGS ระยะที่ 6   ต้องเป็นผู้ประกอบการที่ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล  นอกจากนี้บสย.จะขยายระยะเวลาการค้ำประกันสินเชื่อจากเดิม หรือPGS5 จาก 7 ปี  เป็น 10 ปี เพื่อให้การช่วยเหลือ SMEs เป็นไปอย่างต่อเนื่อง  โดยคิดค่าธรรมเนียมค้ำประกันอยู่ที่ 1.75% ต่อปี
         
โดยเงื่อนไขการค้ำประกันหากเกิดความสูญเสียจากหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ไม่เกิน 20% ของพอร์ตสินเชื่อของธนาคาร บสย.รับผิดชอบ 100%   หากความสูญเสียมากกว่า 20% แต่ไม่เกิน 25% ของพอร์ตสินเชื่อของธนาคาร บสย. รับ 50% และหากเกิดความสูญเสียมากกว่า 25% แต่ไม่เกิน 30% ของพอร์ตสินเชื่อของธนาคาร บสย. รับผิด 25%

ขณะที่คุณสมบัติผู้ยื่นค้ำประกันสินเชื่อ ต้องมีทรัพย์สินถาวรไม่รวมที่ดินไม่เกิน 200 ล้านบาท เป็นประเภทบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่มีสัญชาติไทย และประกอบกิจการโดยชอบด้วยกฎหมาย และต้องไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี วงเงินค้ำประกันไม่เกิน 40 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน
         
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 พ.ย. 2559 เวลา : 17:51:40
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 1:00 am