การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
สบส. เตือนประชาชนระวังไฟฟ้าดูด โดยเฉพาะบ้านที่ปลั๊กไฟอยู่ต่ำ เตือนหากแตกลายงา หรือหักงอห้ามใช้เทปพัน เพราะกันน้ำเข้าไม่ได้


กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แนะประชาชนประสบภัยน้ำท่วม ระวังอันตรายจากไฟฟ้าดูด โดยเฉพาะบ้านที่ปลั้กไฟอยู่ต่ำ เช่น บ้านสมัยใหม่ที่ฝังปลั๊กไฟในผนัง  ขอให้สำรวจระบบควบคุมไฟในบ้านหรือเบรคเกอร์ หากมีน้ำท่วมฉับพลันให้ตัดไฟทันที ส่วนผู้ที่มีปั๊มสูบน้ำไฟฟ้า ขอให้ตรวจสอบสภาพสายไฟ หากมีสภาพแตกลายงา ข้อต่อหักงอ ห้ามใช้เทปหรือสก๊อตเทปพันสาย เพราะกันน้ำไม่ได้  ขอให้เปลี่ยนสายไฟหรือส่งซ่อมก่อนใช้งาน

วันนี้ (6 มกราคม 2560) นายแพทย์ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้มีความเป็นห่วงเรื่องสถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ จากฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้เกิดท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง ประเด็นที่น่าห่วง คือ ปัญหาการเสียชีวิตจากเหตุไฟฟ้าดูดในช่วงน้ำท่วม ซึ่งเป็นปัญหาการเสียชีวิตที่พบรองมาจากการจมน้ำ โดยเฉพาะบ้านที่ติดตั้งปลั๊กไฟอยู่ต่ำ เช่น บ้านสมัยใหม่ซึ่งมักจะนิยมฝังปลั้กไฟในผนังปูนหรือที่เสาบ้าน ในระดับต่ำเพื่อความสะดวกสบายในการใช้งาน มีความเสี่ยงน้ำท่วมปลั้กไฟได้ง่าย ทำให้เกิดไฟฟ้ารั่วไหลเป็นอันตรายต่อผู้พักอาศัย ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนระมัดระวังปัญหานี้

นายแพทย์ประภาส กล่าวต่อไปว่า กรณีที่เป็นบ้านชั้นเดียว หรือที่มีปลั๊กไฟอยู่ในระดับต่ำ หากเป็นไปได้ให้ย้ายปลั๊กไฟขึ้นที่สูง  ในกรณีที่เป็นบ้าน 2 ชั้นให้ตรวจสอบระบบควบคุมไฟฟ้าหรือเบรคเกอร์ในบ้านว่ามีการแยกระบบระหว่างชั้นบนกับชั้นล่างหรือไม่ หากมีน้ำท่วมให้ตัดไฟชั้นล่างทันที และย้ายเครื่องใช้ไฟฟ้าขึ้นที่สูงให้พ้นจากน้ำ ห้ามใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าในขณะที่ตัวเปียกหรือร่างกายสัมผัสกับน้ำ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้จุดเสี่ยงกระแสไฟรั่วไหลเช่น เสาไฟฟ้า ตู้โทรศัพท์ อย่างน้อย 2 เมตร

ทางด้านนายสุรพันธ์ ชัยล้อรัตน์ ผู้อำนวยการกองวิศวกรรมการแพทย์ กล่าวว่า เรื่องที่น่าเป็นห่วงอีกประเด็น คือ การนำเครื่องปั๊มสูบน้ำไฟฟ้าออกมาใช้ช่วงเกิดเหตุน้ำท่วม ก่อนใช้งานไม่ว่าจะเป็นเครื่องเก่าหรือใหม่ ขอให้ตรวจสอบสภาพความปลอดภัยก่อนทุกครั้ง หากพบว่ามีสายไฟชำรุด สายไฟเก่าอยู่ในสภาพแตกหักจนเห็นลวดทองแดง หรือแตกเป็นลายงา แนะนำให้เปลี่ยนสายไฟ หรือส่งซ่อมก่อนเพื่อความปลอดภัย ห้ามใช้เทปพันสายไฟหรือเทปกาวพันห่อหุ้มบริเวณที่ชำรุดอย่างเด็ดขาด เนื่องจากไม่สามารถป้องกันน้ำเข้าได้ และหากสายไฟแช่น้ำจะทำให้กระแสไฟฟ้ารั่วไหลออกมาได้ ในกรณีที่ปลั๊กไฟภายในบ้านถูกน้ำท่วม หลังน้ำลดลงแล้ว ห้ามเปิดเบรคเกอร์ที่เชื่อมต่อกับปลั๊กไฟตัวนั้นโดยทันที เนื่องจากในปลั๊กไฟจะมีความชื้นหรือยังชุ่มน้ำอยู่อาจเกิดไฟฟ้าช๊อตได้ และขอให้ติดต่อช่างไฟฟ้าเข้ามาตรวจสอบความพร้อมก่อนใช้งาน


LastUpdate 06/01/2560 14:29:49 โดย : Admin
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 7:38 am