เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"จับสัญญาณ Trumponomics....นัยต่อการค้าการลงทุนไทย" โดย ฝ่ายวิจัยธุรกิจ EXIM BANK


นโยบายเศรษฐกิจของโดนัลด์ ทรัมป์ (Trumponomics) ถูกวางกรอบไว้ภายใต้แนวคิด ผลประโยชน์ของอเมริกาต้องมาก่อน หรือ “America First” ที่ชูนโยบายปกป้องทางการค้า (Protectionism) เป็นหนึ่งในนโยบายหลัก เนื่องจากทรัมป์มองว่าในช่วงที่ผ่านมาการที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าจำนวนมหาศาล รวมถึงบริษัทสัญชาติอเมริกันจำนวนมากย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศกำลังพัฒนา เป็นต้นตอสำคัญของปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ซบเซาในปัจจุบัน ทำให้หลายฝ่ายกำลังจับตามองนโยบาย Protectionism ของสหรัฐฯ โดยเฉพาะนโยบายการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าที่กำลังพุ่งเป้าไปยังจีนและเม็กซิโก ซึ่งถือเป็น 2 ประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าสูงเป็นอันดับต้นๆ รวมกันถึงกว่า 55% ของยอดขาดดุลการค้ารวมของสหรัฐฯ

ยอดขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ปี 2558

อันดับ

ประเทศคู่ค้า

ยอดขาดดุล
(ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

1

จีน

-386,446

2

เยอรมนี

-76,861

3

ญี่ปุ่น

-72,305

4

เม็กซิโก

-61,122

5

เวียดนาม

-32,593

6

เกาหลีใต้

-30,623

7

ไอร์แลนด์

-30,567

8

อิตาลี

-29,025

9

อินเดีย

-25,097

10

มาเลเซีย

-22,283

11

แคนาดา

-21,046

12

ไทย

-18,343

 

อื่นๆ

+3,360

รวม

-802,951

หมายเหตุ : เครื่องหมาย หมายถึง สหรัฐฯ ขาดดุลการค้า

เครื่องหมาย + หมายถึง สหรัฐฯ เกินดุลการค้า

ที่มา : International Trade Center

 

 

 

แม้ไทยไม่ใช่ประเทศที่ตกเป็นเป้าหมายที่สหรัฐฯ จะดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้า แต่หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน/เม็กซิโกจริงอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยทั้งทางบวกและทางลบ ดังนี้

 

สินค้าไทยที่เป็นคู่แข่งกับจีน/เม็กซิโกในตลาดสหรัฐฯ

สินค้า

สัดส่วนมูลค่านำเข้าของสหรัฐฯ (%)

จีน

เม็กซิโก

ไทย

ยางล้อรถยนต์

22

 

8

เครื่องปรับอากาศ

31

 

3

เครื่องนุ่งห่ม

36

 

1

รถยนต์และส่วนประกอบ

 

26

0.3

ส่วนประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์และ HDD

 

21

6

ยางและผลิตภัณฑ์

 

8

8

ที่มา : International Trade Center (ข้อมูลปี 2558)

 

 

ผลกระทบเชิงบวก : กลุ่มสินค้าที่ไทยเป็นคู่แข่งกับจีน/เม็กซิโกในตลาดสหรัฐฯ มีโอกาสแย่งส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ และมีจีน/เม็กซิโกเป็นคู่แข่งสำคัญ อาทิ ยางล้อรถยนต์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องนุ่งห่ม รถยนต์และส่วนประกอบ ส่วนประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์และ Hard Disk Drive (HDD) ยางและผลิตภัณฑ์ ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลดี หากจีน/เม็กซิโกเผชิญอุปสรรคด้านภาษีมากขึ้น ขณะเดียวกันไทยยังอาจได้อานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติในจีนมายังไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ไทยมีห่วงโซ่อุปทานหรือคลัสเตอร์ที่แข็งแกร่ง อาทิ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ทั้งนี้ ปัจจุบันเริ่มมีนักลงทุนต่างชาติในบางอุตสาหกรรมย้ายฐานจากจีนมาไทยบ้างแล้ว อาทิ แผงโซลาร์เซลล์ ยางล้อรถยนต์ (สำหรับในเม็กซิโกคาดว่านักลงทุนต่างชาติน่าจะย้ายฐานไปประเทศที่อยู่ในภูมิภาคใกล้เคียง อาทิ ลาตินอเมริกา)

 

สินค้าที่ไทยเป็นคู่ค้าและอยู่ในห่วงโซ่อุปทานเดียวกับจีน/เม็กซิโก

ห่วงโซ่อุปทานไทย-จีน

สินค้าวัตถุดิบ/ทุนของไทยไปจีน (%)*

สินค้าสำเร็จรูปของจีนไปสหรัฐฯ (%)**

ส่วนประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์และ HDD (5) แผงวงจรไฟฟ้า (5) วงจรพิมพ์ (2)

เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (23)

เม็ดพลาสติก (11)

พลาสติกและผลิตภัณฑ์ (3)

ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ (4)

เฟอร์นิเจอร์และที่เกี่ยวเนื่อง (7)

ห่วงโซ่อุปทานไทย-เม็กซิโก

สินค้าวัตถุดิบ/ทุนของไทยไปเม็กซิโก (%)*

สินค้าสำเร็จรูปของเม็กซิโกไปสหรัฐฯ (%)**

ชิ้นส่วนยานยนต์ (12) ยางรถยนต์ (1)

รถยนต์สำเร็จรูป (14)

ส่วนประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์และ HDD (23) แผงวงจรไฟฟ้า (1) และวงจรพิมพ์ (1)

เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (23)

หมายเหตุ : * สัดส่วนต่อมูลค่าส่งออกรวมของไทยไปจีนหรือเม็กซิโก

** สัดส่วนต่อมูลค่าส่งออกรวมของจีนหรือเม็กซิโกไปสหรัฐฯ

ที่มา : International Trade Center และกระทรวงพาณิชย์ (ข้อมูลปี 2558)

S,

 

 

ผลกระทบเชิงลบ : กลุ่มสินค้าที่ไทยเป็นคู่ค้าและอยู่ในห่วงโซอุปทานเดียวกับจีน/เม็กซิโก อาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการที่จีน/เม็กซิโกส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ลดลง ทำให้จีน/เม็กซิโกนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบจากไทยลดลง อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (ส่วนประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า วงจรพิมพ์) ชิ้นส่วนยานยนต์/ยางล้อรถยนต์ ขณะเดียวกัน สินค้าไทยอาจเสี่ยงต่อการถูกจีนทุ่มตลาด หลังจากสหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีน อาจทำให้จีนได้รับผลกระทบรุนแรงจนต้องระบายสินค้าไปยังประเทศอื่นแทน ส่งผลให้สินค้าไทยที่ส่งออกไปตลาดเดียวกับจีนต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านราคาจากการทุ่มตลาดของจีนในกลุ่มสินค้าดังกล่าวมากขึ้น อาทิ ผลิตภัณฑ์พลาสติก (เม็กซิโกไม่ใช่ฐานการผลิตหลักของโลกเหมือนจีน ทำให้ไทยไม่น่าจะได้รับผลกระทบด้านนี้จากเม็กซิโก)

 

สัดส่วนเงินลงทุนโดยตรงสะสมในต่างประเทศ
(Outward FDI Stocks) ของสหรัฐฯ

 

ที่มา : US Department of Commerce (ข้อมูลปี 2558)

 

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเกี่ยวกับนโยบายดึงดูดให้บริษัทสหรัฐฯ ที่ไปลงทุนในต่างประเทศย้ายฐานกลับสหรัฐฯ อาทิ การปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยเฉพาะบริษัทที่เป็นผู้ส่งออก ซึ่งหากรัฐบาลสหรัฐฯ ดำเนินการในลักษณะดังกล่าวจริง อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรง (Foreign Direct Investment : FDI) ในประเทศที่บริษัทสหรัฐฯ เข้าไปลงทุนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่ต้องพึ่งพา FDI ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อาทิ เม็กซิโก บราซิล จีน ขณะที่บริษัทสหรัฐฯ เข้ามาลงทุนในไทยคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของมูลค่าลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของสหรัฐฯ ไทยจึงไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากจากมาตรการนี้

 อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามความเคลื่อนไหวและนโยบาย Protectionism ของทรัมป์ว่าจะพุ่งเป้าต่อไปที่ประเทศใดอีกหรือไม่ อย่างไร โดยเฉพาะประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าอยู่มาก เพราะสหรัฐฯ อาจใช้เป็นข้ออ้างในการเพิ่มมาตรการกีดกันทางการค้า อาทิ เพิ่มความเข้มข้นของอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers : NTBs) หรือแม้กระทั่งอาจตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ที่ให้กับประเทศต่างๆ ลงในอนาคต ซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการส่งออกของไทยในระยะถัดไปได้ การค้าโลกในระยะข้างหน้าจึงนับว่ามีความไม่แน่นอนสูง ผู้ส่งออกไทยควรติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างไม่กะพริบตา รวมทั้งนำเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงต่างๆ มาใช้ โดยเฉพาะการประกันการส่งออก เพื่อลดผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกขณะ

 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 01 ก.พ. 2560 เวลา : 23:48:44
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 11:12 am