ไอที
เน็ตมือถือไม่พอใช้ปัญหาใหญ่ยุคดิจิตอล


 

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง “พฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 30 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2560 จากประชาชนที่มีอายุ 15 – 40 ปี ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,529 หน่วยตัวอย่าง การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็น จากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ”นิด้าโพล” ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่ม (Cluster Sampling) โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error : S.E.) ไม่เกิน 1.3 

จากการสำรวจพบว่า ตัวอย่างเกือบทั้งหมดใช้มือถือ (Smartphone) คิดเป็นร้อยละ 98.43 และแท็ปเล็ต (Tablet), ไอแพด (I-pad) คิดเป็นร้อยละ 9.94

เมื่อถามถึงวัตถุประสงค์ในการใช้อินเทอร์เน็ตบนอุปกรณ์พกพาเคลื่อนที่ พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่
ใช้เพื่อพูดคุยติดต่อกับบุคคลที่รู้จัก คิดเป็นร้อยละ 85.61 โดยอันดับแรก ผ่าน Applications Line อันดับสอง ผ่าน Applications Facebook อันดับสาม ผ่าน Applications Instagram รองลงมา โพสต์ข้อความ/รูปภาพ คิดเป็นร้อยละ 63.90 โดยอันดับแรก ผ่าน Applications Facebook อันดับสอง ผ่าน Applications Instagram อันดับสาม ผ่าน Applications Line และติดตามข่าวสารทั่วไป (การเมือง เศรษฐกิจ สังคม กีฬา) คิดเป็นร้อยละ 55.79 ตามลำดับ

ระยะเวลาในหนึ่งวันที่ตัวอย่างใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ พบว่า ตัวอย่างใช้เวลา 1 – 2 ชั่วโมงต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 24.72 มากที่สุด รองลงมา ใช้เวลามากกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 21.91และใช้เวลา 2 – 3 ชั่วโมงต่อวัน คิดเป็นร้อยละ19.23 ตามลำดับ

แพ็กเกจมือถือที่ตัวอย่างใช้ คือ แบบเติมเงิน คิดเป็นร้อยละ 50.69 โดยปัญหาที่ตัวอย่างพบเป็นอันดับแรก คือ โปรเสริมมีข้อจำกัดมากมาย บางครั้งไม่สามารถรู้เท่าทัน จึงทำให้เสียเงินไปในสิ่งที่ไม่ได้ตั้งใจ หรือได้จำนวนเน็ตหรือโทรที่ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิดไว้ คิดเป็นร้อยละ 41.18 อันดับสอง คือ โปรเสริมมีมากมาย ซับซ้อน ยุ่งยาก ไม่เข้าใจรายละเอียดในการใช้งาน คิดเป็นร้อยละ 26.66 อันดับสาม คือ ยอดเงินที่เติมหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ คิดเป็นร้อยละ 20.45  สำหรับตัวอย่างที่ใช้แบบรายเดือน คิดเป็นร้อยละ 49.31
โดยปัญหาที่ตัวอย่างพบเป็นอันดับแรก คือ อินเทอร์เน็ตมักจะถูกปรับลดสปีด ทำให้วิ่งช้าลง เมื่อการใช้งานผ่านไประยะหนึ่ง คิดเป็นร้อยละ 41.07 อันดับสอง คือ จำนวนอินเทอร์เน็ตที่ให้มาตามแพ็กเกจ ไม่เคยใช้พอ คิดเป็นร้อยละ 35.88  อันดับสาม คือ ค่าโทรที่ให้มาตามแพ็กเกจ ไม่เคยใช้พอ คิดเป็นร้อยละ 22.33

         

ระดับความพึงพอใจต่อแพ็กเกจในอุปกรณ์พกพาเคลื่อนที่ จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า ผู้ใช้บริการแพ็กเกจแบบเติมเงิน มีความพึงพอใจ ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 6.52 คะแนน และผู้ใช้บริการแพ็กเกจ
แบบรายเดือน มีความพึงพอใจ ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 6.67 คะแนน

ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้เน็ตแบบ “Unlimited”  หรือ แพ็กเกจประเภท “ใช้เน็ตได้ไม่อั้น” พบว่า ตัวอย่างมีความเข้าใจว่า สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ไม่จำกัด แต่เมื่อใช้ปริมาณอินเทอร์เน็ตจนถึงจุดหนึ่งที่กำหนดไว้ในแพ็กเกจ อินเทอร์เน็ตจะถูกลดความเร็ว แต่ก็ยังใช้ต่อไปได้ด้วยความเร็วที่ไม่มากนัก มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 49.05 รองลงมา สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ไม่จำกัด จะใช้เท่าไหร่ก็ได้ ด้วยความเร็วที่ดีที่สุดของเครือข่ายมือถือนั้น คิดเป็นร้อยละ 35.45 และสามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ไม่จำกัด ตามจำนวนวันที่ซื้อ เช่น ซื้อ 7 วัน ก็ใช้ได้ 7 วัน จ่ายเป็นรายเดือน ก็ใช้ได้ทั้งเดือน คิดเป็นร้อยละ 15.30

ปัญหาหลักที่พบจากการใช้แพ็กเกจอินเทอร์เน็ตทางมือถือ ตัวอย่างเห็นว่าเป็นเรื่องความต้องการ
การใช้อินเทอร์เน็ตมีมากกว่าแพ็กเกจที่ทางผู้ให้บริการเสนอขายอยู่ คิดเป็นร้อยละ 43.99 รองลงมาเรื่องราคาของแพ็กเกจสูงเกินไป ทำให้ไม่สามารถจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตให้เพียงพอกับความต้องการใช้ได้ คิดเป็นร้อยละ 36.01 และแพ็กเกจของผู้ให้บริการมีความซับซ้อน เข้าใจยาก บางครั้งจึงได้ในสิ่งที่ไม่ตรงตามความต้องการ คิดเป็นร้อยละ 28.47

สำหรับข้อเสนอแนะ หรือวิธีการแก้ไขปรับปรุงเกี่ยวกับแพ็กเกจแบบรายเดือน หรือแพ็กเกจแบบเติมเงิน ของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ประเด็นสัญญาณอินเทอร์เน็ตควรมีความเร็วสม่ำเสมอ มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 28.38 รองลงมา ประเด็นปรับปรุงสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้มีความเสถียร คิดเป็นร้อยละ 16.59 และควรเพิ่มจำนวนชั่วโมงอินเทอร์เน็ตให้มากขึ้นแต่ราคาแพ็กเกจถูกลง คิดเป็นร้อยละ 15.72

เมื่อพิจารณาข้อมูลทั่วไป พบว่า ตัวอย่างเป็นเพศหญิง ร้อยละ 51.34 เพศชาย ร้อยละ 48.20 และเพศทางเลือก ร้อยละ 0.46 ซึ่งมีอายุระหว่าง 21 - 25 ปี มากที่สุด ร้อยละ 21.52 รองลงมาอายุระหว่าง
15 – 20 ปี ร้อยละ 21.45 อายุระหว่าง 36-40 ปี ร้อยละ
19.62 อายุระหว่าง 31 – 35 ปี ร้อยละ 18.90 และ อายุระหว่าง 26 -30 ปี  ร้อยละ 18.51  

ตัวอย่างส่วนใหญ่มีสถานภาพโสด ร้อยละ 65.93  รองลงมา สมรส ร้อยละ 31.59 และหม้าย/หย่าร้าง/แยกกัน ร้อยละ 2.49 ซึ่งมีการศึกษาระดับปริญญาตรี ร้อยละ 47.42 รองลงมา ระดับมัธยมศึกษา/เทียบเท่า ร้อยละ 28.65 ระดับอนุปริญญา/เทียบเท่า ร้อยละ 16.35 ระดับสูงกว่าปริญญาตรี/เทียบเท่า
ร้อยละ 6.08  ระดับประถมศึกษา/ต่ำกว่า ร้อยละ 1.50

ตัวอย่างประกอบอาชีพพนักงานเอกชน มากที่สุด ร้อยละ 30.41 รองลงมานักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 28.84  เจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 14.98  อาชีพข้าราชการ/ลูกจ้างของรัฐ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ
ร้อยละ 13.67 ผู้ใช้แรงงาน/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 10.46 พ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน  ร้อยละ 1.37 และ เกษตรกร/ประมง ร้อยละ 0.26

ตัวอย่างมีรายได้รวมเฉลี่ยต่อเดือน ระหว่าง 10,001 – 20,000 บาท มากที่สุด ร้อยละ 36.04 รองลงมา รายได้ระหว่าง 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 20.27 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 19.49 ไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 12.36 รายได้ระหว่าง 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 7.46 มากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป
ร้อยละ 2.35

ตัวอย่างส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 53.43 รองลงมา สมุทรปราการ ร้อยละ 11.97 นนทบุรี ร้อยละ 10.99 ปทุมธานี ร้อยละ 10.14 นครปฐม ร้อยละ 8.24 และสมุทรสาคร ร้อยละ 5.23

เครือข่ายที่ตัวอย่างใช้เป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ AIS คิดเป็นร้อยละ 35.32 รองลงมา True move H ร้อยละ 34.01 dtac ร้อยละ 30.28 และอื่นๆ ร้อยละ 0.72


บันทึกโดย : วันที่ : 11 ก.พ. 2560 เวลา : 14:49:14
03-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 3, 2024, 12:19 am