เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จัดงานสัมมนา Global Research Briefing นำเสนอผลวิจัยระดับโลก สะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2560


ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จัดงานสัมมนา Global Research Briefing 2017” นำ เสนอผลงานวิจัยสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ภาพรวมเศรษฐกิจทวีปเอเชีย แนวโน้มเศรษฐกิจไทยรวมถึงแนวโน้มตลาดเงินตราต่างประเทศในปี 2560 ให้แก่ลูกค้าและสื่อมวลชน

 

 

โดยได้รับเกียรติจากนายพลากร หวั่งหลี (กลาง) กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ประจำประเทศไทยและสำนักงานตัวแทน เป็นประธานเปิดงาน และทีมนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารฯ ประกอบด้วย นางอุสรา วิไลพิชญ์ (ที่ 2 จากขวา) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส นายดิฟยา ดาเวช (ขวาสุด) นักกลยุทธ์ด้านอัตราแลกเปลี่ยน ประจำทวีปเอเชีย นายคัวชิค รูดรา (ที่ 2 จากซ้าย)  หัวหน้าทีมวิจัยเครดิตและอัตราแลกเปลี่ยน และนายเอ็ดเวิร์ด ลี (ซ้ายสุด) หัวหน้าทีมวิจัย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมให้ข้อมูล ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้
 
ภายในงาน นายดิฟยา ได้กล่าวถึงแนวโน้มของอัตราแลกเปลี่ยนว่า ค่าเงินดอลล่าร์มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากนโยบายการเงินของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ส่วนค่าเงินหยวนจีน มีแนวโน้มอ่อนค่าเป็นระยะ ต้องใช้การบริหารให้มีเสถียรภาพมากขึ้น สำหรับทิศทางค่าเงินบาท มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น และมีการอ่อนค่าเป็นระยะๆ แต่ก็ถือว่าน้อยกว่าและมีเสถียรภาพมากกว่า เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ปลายปีนี้ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ประมาณ 36 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับปี 2561 ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น โดยปลายปีค่าเงินบาทจะอยู่ที่ประมาณ 34 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
 
ด้านนางอุสรา ได้นำเสนอมุมมองเกี่ยวกับภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2560 ว่า ประเทศไทยมีปัจจัยปัจจัยพื้นฐานที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง จึงไม่ค่อยอ่อนไหวต่อปัจจัยเสี่ยงในตลาดการเงินโลก โดยเฉพาะจากนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ รวมถึงการเมืองในยุโรป มากนัก ซึ่งปัจจัยพื้นฐานเหล่านั้นได้แก่ การลงทุนจากภาครัฐ หนี้ของภาครัฐที่ต่ำ ภาระหนี้ครัวเรือนที่ดีขึ้น การส่งออกที่ดีขึ้น และการท่องเที่ยว คาดการณ์ว่า GDP จะเติบโตในอัตราร้อยละ 3.5 ในปีนี้ และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.3 ในปี 2561 และร้อยละ 5 ในปี 2562

  • การลงทุนจากภาครัฐ ประเทศไทยใช้การลงทุนจากภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงสามารถรับมือกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกได้ดี รัฐบาลมีแผนเร่งการเบิกจ่ายการลงทุนในโครงการคมนาคมต่างๆ  สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ประมาณการว่า การลงทุนในภาครัฐวิสาหกิจจะเพิ่มขึ้นเป็น 257,000 ล้านบาท ในปีนี้ เทียบกับปีที่แล้วที่ 66,500 ล้านบาท การบริโภคภายในประเทศจะเติบโตขึ้นร้อยละ 3 นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังได้อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมมูลค่า 190,000 ล้านบาท สำหรับปีงบประมาณ 2560 ส่งผลให้การลงทุนในภาคเอกชนจะกระเตื้องขึ้น แม้จะค่อยเป็นค่อยไปก็ตาม การลงทุนภาครัฐ เติบโตร้อยละ 12.9 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่การลงทุนจากภาคเอกชน โตขึ้นร้อยละ 2.6 ทั้งยังคาดการณ์ว่าการลงทุนในภาครัฐในปี 2562 อาจสูงถึง 550,000 ล้านบาท
  • หนี้ของภาครัฐต่ำ มีดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล มีหนี้น้อยกว่าทุนสำรองของประเทศ หนี้ต่างประเทศต่อทุนสำรองของประเทศคิดเป็น 0.6 เท่า ทำให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพดี
  • ภาระหนี้ครัวเรือนที่มีสถานการณ์ผ่อนคลายลง น่าจะเป็นปัจจัยช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
  • การส่งออกมี แนวโน้มที่ดีขึ้น อยู่ในแกนบวก แต่ก็ยังไม่เต็มศักยภาพนัก ทั้งนี้ มีปัจจัยบวกในด้านนี้คือ การนำเข้าของไทย ส่วนมากเป็นเพื่อการส่งออก คือนำเข้าเป็นวัตถุดิบแล้วนำมาเพิ่มมูลค่า ผลิต แปรรูป แล้วส่งออกเป็นสินค้าไปขาย การส่งออกในปีนี้คาดว่าจะเติบโตขึ้นประมาณร้อยละ 1.5 – 3.0 ซึ่งเป็นไปตามที่รัฐบาลวางแผนไว้
  • การท่องเที่ยว ประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมาก รวมทั้งมีนโยบายจากภาครัฐที่ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวออกมาเรื่อยๆ จึงช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและทำให้บัญชีสะพัดเกินดุล
นอกจากนี้ นางอุสรา ยังกล่าวว่า ธนาคารฯ คาดการณ์ว่าจะมีเงินไหลเข้าตลาดหุ้นไทยสูงขึ้น เพราะนักลงทุนจะกล้าเข้ามาลงทุนมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยบวกจากความชัดเจนของการเมืองและการเลือกตั้ง สำหรับอัตราเงินเฟ้อที่น่าจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 1.8 อาจผลักดันให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปลายปีนี้ และอีก 2 ครั้งในปี 2561 ทำให้ต้นทุนทางการเงินที่ต่ำมาตลอดหลายปีจะกลับมาเริ่มสูงขึ้น ภาคธุรกิจจึงควรให้ความสำคัญกับการป้องกันความเสี่ยงเรื่องต้นทุนทางการเงิน ที่จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะความต้องการใช้เงินจะมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 ก.พ. 2560 เวลา : 14:25:26
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 12:01 pm