การตลาด
สกู๊ป "ค้าปลีก" ลุ้นปัจจัยเสี่ยง ขยายตัวสิ้นปี 3.2%


แม้ว่าตลอดปี 2559 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมค้าปลีกจะต้องประสบกับปัญหากำลังซื้อของผู้บริโภคชะลอตัวต่อเนื่องตลอดทั้งปี ส่งผลให้ต้องออกมาทำกิจกรรมส่งเสริมการขายกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อประคองรายได้ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ช่วยให้ยอดขายกระเตื้องขึ้นเท่าไหร่นัก เห็นได้จากสินค้าหลายกลุ่มที่ยังคงมียอดขายลดลง และบางกลุ่มยังคงมียอดขายทรงตัว เช่น หมวดสินค้าคงทนถาวร (Durable Goods) มีอัตราการเติบโตไม่สูงนัก เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆมา  

 

ทั้งนี้ สาเหตุหลักที่ทำให้ภาพรวมสินค้าคงทนถาวรมีอัตราการเติบโตไม่สูงนัก หลักๆ ก็น่าจะเกิดจากปัจจัยการที่อุตสาหกรรมการก่อสร้างและที่อยู่อาศัยในปี 2558 - 2559 ไม่เติบโตเท่าที่ควร ประกอบกับความเข้มงวดในการให้สินเชื่อเพื่อการบริโภคของสถาบันการเงิน และแม้กลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน (Home Appliance) จะมีอัตราการเติบโตอยู่บ้าง แต่กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (Mobile & IT) ทั้งอุตสาหกรรมมีอัตราการเติบโตไม่ถึง 5% เนื่องจากไม่มีกลุ่มสินค้าใหม่ๆ มากระตุ้นตลาด  ส่งผลให้โดยรวมหมวดสินค้าคงทนถาวรในปี 2559 เติบโตเพียง 1.95% เท่านั้น

นอกจากนี้  หมวดสินค้ากึ่งคงทนถาวร (Semi Durable Goods) ก็มีอัตราการเติบโตทรงตัว เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆมา แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นจาก 29.5 ล้านคนในปี 2558 เป็น 32 ล้านคนในปี 2559 แต่ก็ไม่เป็นผลให้การจับจ่ายในหมวดสินค้ากึ่งคงทนถาวรเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการจับจ่าย คือ อัตราภาษีสินค้านำเข้าแบรนด์หรูในประเทศไทยยังอยู่ในเกณฑ์สูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

จากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้กลุ่มสินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง และเครื่องหนังในปี 2559 มีอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างต่ำกว่าปีที่ผ่านๆมา มีเพียงกลุ่มสินค้าอุปกรณ์กีฬาและสุขภาพที่มีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง เนื่องจากเทรนด์สุขภาพที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน มาช่วยพยุงให้หมวดสินค้ากึ่งคงทนถาวร ยังคงมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 3.5% เท่ากับปี 2558

อีกหนึ่งหมวดสินค้าที่เติบโตได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น คือ หมวดสินค้าไม่คงทนถาวร (Non Durable Goods) เนื่องจากได้รับผลกระทบจากรายได้เกษตรกรที่หดตัวต่อเนื่องจากปี 2558  รวมถึงสถานการณ์ภัยแล้งและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ยอดขายในไตรมาสแรกไม่เติบโตเท่าที่ควร

อย่างไรก็ดี  หลังจากผ่านพ้นฤดูแล้ง ฝนเริ่มตกได้ตามปกติ ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรเริ่มปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือด้วยการใส่เม็ดเงินเข้าไปในระบบผ่านโครงการต่างๆ ขณะเดียวกันก็มีการส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรในด้านของการเพาะปลูก และช่วยหาช่องทางการขายส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มขับเคลื่อน เนื่องจากเกษตรกรเริ่มมีรายได้ทำให้มีกำลังซื้อที่ดีขึ้น

แนวโน้มที่ดีดังกล่าว ส่งผลให้ภาพรวมยอดขายกลุ่มสินค้าไม่คงทนถาวรในไตรมาส 2 ต่อเนื่องไตรมาส 3 เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น และเริ่มกลับมาชะลอตัวอีกครั้งในไตรมาส 4 จะมีชะลอตัวไปบ้าง เนื่องจากมีปัจจัยลบการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แต่หลังจากรัฐบาลออกมาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” ในช่วงกลางเดือน ธ.ค.ต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นเดือน ธ.ค. กำลังซื้อของผู้บริโภคก็เริ่มกลับมา และส่งผลให้หมวดสินค้าไม่คงทนถาวรมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2558 อยู่ที่ประมาณ 3.03%

 

น.ส.จริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า แม้ว่าปี 2559 จะมีปัจจัยลบหลายด้านเกิดขึ้น แต่ดัชนีอุตสาหกรรมค้าปลีกโดยรวมในปี 2559 ก็มีการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 2.97% ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลข 3.0% ที่ประมาณการณ์ไว้เมื่อต้นปี นับว่ามีอัตราการเติบโตสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2558 ที่มีการเติบโตเพียง 2.8% สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิผลของนโยบายการใช้จ่ายภาครัฐและมาตรการเร่งรัดงบประมาณ ที่ส่งผลให้การบริโภคของประชาชนในระดับฐานรากเพิ่มสูงขึ้น

แต่อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการค้าปลีกก็ยังคงต้องดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากยังมีปัจจัยลบอีกหลายด้านในปีนี้ให้ต้องระแวดระวัง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่ยังส่งสัญญาณที่จะทรงตัวในระดับ 80.2% มีผลต่ออำนาจการซื้อของครัวเรือนต่ำ ทำให้การบริโภคสินค้าในหมวดคงทนถาวรและหมวดสินค้ากึ่งคงทนถาวรอาจต้องชะลอออกไป

นอกจากนี้ แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ SME จากสถาบันการเงิน มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการปล่อยสินเชื่อทั้งระบบหดตัวลง การลงทุนลดลง การว่างงานเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังมีปัจจัยในด้านของราคาน้ำมันสูงขึ้น ส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งอาจเพิ่มแรงกดดันต่อการใช้จ่ายของครัวเรือนไทยชะลอการจับจ่ายลง และเป็นภาระต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงปัญหาด้านการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนที่ยังคงต้องดูและปรับตัวตามเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน

น.ส.จริยา กล่าวต่อว่า จากปัจจัยลบดังกล่าวอยากยื่นข้อเสนอให้ภาครัฐรับไว้พิจารณา เพื่อกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่งมีการขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้นด้วยกัน 6 ข้อ คือ 1. ภาครัฐควรเร่งหามาตรการสร้างความเชื่อมั่นเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศในการจับจ่ายและการลงทุน เช่น การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงโลว์ซีซั่น (Low Season) 2. สร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคภายในประเทศและผู้บริโภคที่เป็นนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ โดยให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประกาศจัดงาน “ไทยแลนด์ แบรนด์ เซลล์ (Thailand Brand Sale)” เป็นระยะเวลา 3  เดือน เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายผู้บริโภคที่ยังมีกำลังซื้ออยู่ให้กลับคืนมา

3. รัฐบาลควรศึกษาและพิจารณาเรื่องการลดภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์หรูอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในกลุ่มแฟชั่น เครื่องสำอาง เครื่องหนัง และนาฬิกาชั้นนำ (Luxury Brand) เพื่อกระตุ้นยอดจับจ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เพิ่มขึ้น 4. รัฐบาลต้องมีมาตรการส่งเสริมการค้าชายแดนอย่างชัดเจน โดยพิจารณาผ่อนผันการเปิดด่านต่างๆ การเพิ่มจำนวนด่าน และการอำนวยความสะดวก รวมทั้งพิจารณาให้มี VAT Refund for Tourist ในกรณีนักท่องเที่ยวเพื่อนบ้านเดินทางเข้ามาในประเทศทางบก 5. กำหนดมาตรการช่วยเหลือ ผู้ประกอบการ SME โดยเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหากระแสเงินสดหมุนเวียนที่ขาดสภาพคล่อง และ 6. จัดระเบียบการค้าออนไลน์ที่อยู่นอกกรอบให้เข้าระบบ

 

 

 

แต่ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ว่าปี 2560 นี้จะมีปัจจัยบวกที่เข้ามาหนุนอุตสาหกรรมค้าปลีกให้ขยายตัวดีกว่าปีที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 งบเหลื่อมปีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 และการดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกและพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน

พร้อมกันนี้ ยังมีการเพิ่มงบประมาณกลางปีอีก 1.9 แสนล้านบาท โดยคาดว่าจะเห็นผลในไตรมาส 2และ 3  รวมไปถึงการรักษาการขยายตัวของรายได้จากการท่องเที่ยว โดยการดำเนินการตามยุทธศาสตร์แผนการตลาดท่องเที่ยวปี 2560 โดยประมาณการณ์จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศ 35 ล้านคน และสร้างรายได้ถึงกว่า 2.8 ล้านบาท อีกทั้งยังมีปัจจัยหนุนด้านการปรับตัวของรายได้เกษตรกรที่คาดการณ์น่าจะดีขึ้นจากสถานการณ์ภัยแล้งที่เริ่มคลี่คลาย ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรเริ่มปรับตัวกลับมามีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะพืชเกษตรหลักๆ อย่าง ยางพารา ปาล์ม อ้อย สับปะรด ปัจจัยดังกล่าวน่าจะเป็นตัวหนุนอย่างดีให้ภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีกในสิ้นปี 2560 นี้ มีการขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 3-3.2% ได้อย่างแน่นอน ถ้าไม่มีปัจจัยลบที่เกินคาดหมายและยากแก่การควบคุมมาฉุดให้กำลังซื้อและอารมณ์ในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคปรับทรุดลงอีกครั้ง


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 ก.พ. 2560 เวลา : 13:52:20
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 4:50 pm