การตลาด
สกู๊ป "ร้านกาแฟ" เปิดกลยุทธ์ดิจิทัล ชิงเค้ก 1.7 หมื่นล้าน


นับวันการแข่งขันของธุรกิจร้านกาแฟจะมีความรุนแรงมากขึ้น  เพราะนอกจากจะแข่งกันขยายสาขาให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้ได้มากที่สุดแล้ว  ยังหันมาแข่งขันกันด้านของบริการมากขึ้นอีกด้วย จากเดิมอาจจะแข่งขันในด้านของรสชาติ เมนูกาแฟ บริการที่สะดวกรวดเร็ว แต่ปัจจุบันหันมาแข่งกันในด้านของดิจิทัลมากขึ้น จะเห็นได้ว่าปัจจุบันร้านกาแฟส่วนใหญ่จะมีบริการไวไฟภายในร้าน  เนื่องจากปัจจุบันพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คือ หันมาทำงานนอกออฟฟิศกันมาขึ้น


ด้วยเหตุนี้บรรดาผู้ประกอบการร้านกาแฟจึงเล็งเห็นโอกาสในการเจาะกลุ่มเหมายดังกล่าว พร้อมกับเพิ่มบริการที่เกี่ยวกับดิจิทัลใหม่ๆ มาอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า  ซึ่งรายล่าสุดที่ออกมาเปิดกลยุทธ์ดิจิทัล เพื่อเอาใจคนรุ่นใหม่ในยุคดิจิทัล คือ ทรูคอฟฟี่  ที่ล่าสุดออกมาเปิดตัวกลยุทธ์ “ดิจิตอล ไลฟ์สไตล์ คาเฟ่” ให้ลูกค้าจิบกาแฟแก้วโปรด คู่ขนมอร่อย พร้อมใช้อินเทอร์เน็ตฟรีแบบไม่มีสะดุด

 
 
 
 
 
นายชัยสิทธิ์  สุทธิขจรกิจการ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรูไลฟ์สไตล์ รีเทล จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจร้านทรูคอฟฟี่  กล่าวว่า แนวทางการดำเนินธุรกิจในปี 2560 นี้ บริษัทจะเปิดเกมรุกตลาดร้านกาแฟพรีเมียมด้วยแผนการตลาดที่เน้นการให้บริการแบบครบครัน ด้วยการเติมเต็มทุกไลฟ์สไตล์ของลูกค้าอย่างครบถ้วนผ่านกลยุทธ์ “ดิจิตอล ไลฟ์สไตล์ คาเฟ่” (Digital Lifestyle Café) เพื่อตอกย้ำความแข็งแกร่งของแบรนด์ “ทรูคอฟฟี่” ที่นอกจากเสิร์ฟความสุขให้ลูกค้าได้จิบกาแฟแก้วโปรด ทานขนมอร่อย และได้ท่องโลกออนไลน์อย่างลื่นไหลแล้ว บริษัทยังเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า  เพื่อเพิ่มความสะดวกในการซื้อสินค้าภายในร้านผ่าน TrueCoffee Application ที่สามารถชมเมนูและจ่ายเงินผ่านสมาร์ทโฟนได้ทันที

นอกจากนี้  ยังมอบคะแนนสะสมให้แก่ลูกค้า โดยทุกการใช้จ่ายผ่านแอพ 25 บาท จะได้รับคะแนน 1 บีนพอยท์ เพื่อแลกรับสิทธิพิเศษต่างๆ เช่น รับเครื่องดื่มฟรี หรือกิจกรรมพิเศษอื่นๆ ที่ ทรูคอฟฟี่ จัดขึ้นอีกด้วย ขณะเดียวกัน ยังได้มีการเพิ่มเมนูอาหารให้มีความหลากหลายมากขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ “มื้ออาหารดีๆสร้างความสุขได้ ทุกช่วงเวลา” หรือ Everyday’s Pleasure. Good Time & Good Meal  ที่จะเสิร์ฟความอร่อยแบบพร้อมสรรพกับ All Day Breakfast และเมนูอาหารพร้อมทานในราคา เริ่มต้น 69 บาท

พร้อมกันนี้  ยังมีเบเกอรี่นานาชนิดให้ลูกค้าได้เลือกซื้อ โดยเฉพาะสูตรขนม “ฮอกไกโด เบค” ที่ชูจุดเด่นด้วยความนุ่ม หอม สไตล์ฮอกไกโดจากทรูคอฟฟี่ ให้ลูกค้าเลือกรับความอร่อยได้เต็มอิ่มในทุกมื้ออาหารคุณภาพได้ทุกวัน โดยเบื้องต้นจะเริ่มทดลองให้บริการดังกล่าวใน 13 สาขา ได้แก่ เอ็มควอเทียร์, เออร์เบิน พาร์ค พารากอน, ดิจิตอล เกตเวย์, สยามสแควร์ ซอย2, สยามสแควร์ ซอย3, จามจุรี สแควร์, แฟชั่น ไอส์แลนด์, เซ็นทรัล บางนา, เอ็มไพร์ ทาวเวอร์, ซีพี ทาวเวอร์, โรงพยาบาลจุฬา, ทรูทาวเวอร์  และบลูพอร์ท หัวหิน 

นายชัยสิทธิ์  กล่าวอีกว่า  บริษัทตระหนักถึงคุณภาพชีวิตของลูกค้าคนสำคัญ ดังนั้นการทำตลาดของร้านทรูคอฟฟี่จึงจะใส่ใจทุกเรื่องที่จะช่วยเติมเต็มวิถีชีวิตของคนเมืองในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมกระตุ้นตลาดที่ไม่จำเจ เช่น  โปรโมชั่นแนะนำเมนูใหม่ เพื่อรองรับทุกไลฟ์สไตล์ลูกค้า ซึ่งนอกจากจะเน้นในด้านของบริการแล้วในด้านของการขยายสาขาใหม่บริษัทก็มีแผนเปิดเพิ่มเช่นกัน  โดยในปีนี้มีแผนที่จะเปิดร้านทรูคอฟฟี่เพิ่มอีกประมาณ 40 สาขา เพื่อให้มีสาขารวมกันทั่วประเทศที่ 274 สาขา ซึ่งทำเลที่ยึดเป็นหัวหาดในการขยายสาขายังคงเน้นไปที่อาคารสำนักงาน และมหาวิทยาลัย  โดยสิ้นปีคาดว่าจะมียอดขายเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาไม่ต่ำกว่า 20%

ปัจจัยที่ทำให้ ทรูคอฟฟี่ หันมาลุยขยายธุรกิจอย่างเต็มสูบในครั้งนี้  นอกจากจะตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้มีความครบวงจรแล้ว  ทรูคอฟฟี่ ยังมีแผนที่จะพาธุรกิจก้าวไปสู่อันดับ 1 ของร้านกาแฟพรีเมียมแบรนด์ไทย  ซึ่งปัจจุบันร้านกาแฟระดับพรีเมียมมีมูลตลาดอยู่ที่ประมาณ 8,000  ล้านบาท ขณะที่ร้านกาแฟทั่วไปมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 9,000 ล้านบาท  และจากการแข่งขันของธุรกิจร้านกาแฟที่รุนแรง ทำให้คาดการณ์กันว่าภาพรวมธุรกิจร้านกาแฟในปี 2560 นี้น่าจะมีอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% จากปัจจุบันมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 17,000 ล้านบาท

 
 
 
 
ขณะที่ร้านทรูคอฟฟี่ออกมาประกาศกลยุทธ์ขยายฐานลูกค้าอย่างครบวงจร ในส่วนของร้านสตาร์บัคส์  ซึ่งถือเป็นผู้นำตลาดร้านกาแฟพรีเมียมในประเทศไทยก็ยังคงเดินหน้าขยายสาขา และลุยทำการตลาดผ่านกลยุทธ์ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งอย่างหนักเช่นกัน  หลังจากปีที่ผ่านมาออกมาประกาศกลยุทธ์ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง ด้วยการเปิดตัวแอพพลิเคชั่นของแบรนด์ และทำการตลาดผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย  เพื่อให้การทำการตลาดเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอย่างตรงจุด

นายเมอร์เรย์ ดาร์ลิ่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท สตาร์บัคส์ คอฟฟี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในปี 2559 ที่ผ่านมาบริษัทได้ให้บริการเครื่องดื่มเฉลี่ยภายในร้านสูงถึง 3.5 ล้านแก้วต่อเดือน ทำให้มียอดขายเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 20% และจากความสำเร็จที่ได้รับดังกล่าวบริษัทจึงจะเดินหน้าพัฒนาสินค้าและบริการ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด   ซึ่งในส่วนของแผนการทำตลาดในปีนี้บริษัทจะยังคงใช้กลยุทธ์ที่จะสร้างสรรค์ประสบการณ์สตาร์บัคส์ที่แตกต่างและเป็นเอกลักษณ์ของร้านสตาร์บัคส์อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มองหาประสบการณ์การดื่มกาแฟที่หลากหลาย

นอกจากนี้ ยังจะเดินหน้าทำการตลาดผ่านการสื่อสารทางออนไลน์กับผู้บริโภค เพื่อให้ สตาร์บัคส์ กลายเป็นส่วนหนึ่งในไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยจะสื่อสารกับผู้บริโภคผ่านทั้งแอพพลิเคชั่นของแบรนด์ และการสื่อสารผ่านโซเชียล ซึ่งปัจจุบันมีความรวดเร็วมากขึ้น  และจากการออกมาเน้นกลยุทธ์การตลาดในรูปแบบดังกล่าว ส่งผลให้ สตาร์บัคส์ ยังเป็นแบรนด์ร้านกาแฟรายแรกๆ ที่เปิดตัวโมบายเพย์เมนท์ในประเทศไทย เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการซื้อเครื่องดื่มและสินค้าภายในร้าน ซึ่งในปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดสูงถึง 450,000 ครั้ง
                
 
 
 
 
 
อีกหนึ่งร้านกาแฟพรีเมี่ยมที่ออกมาตอกย้ำโพซิชั่นนิ่งของธุรกิจ คือ ร้านคอฟฟี่เวิลด์  แม้ว่าจะยังไม่มีแผนการดำเนินธุรกิจที่จะหันมาลุยในด้านของดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งอย่างจริงจังเหมือนกับคู่แข่ง  แต่ก็ลุยหาโอกาสทางการตลาดใหม่ๆแบบที่คู่แข่งในตลาดยังไม่มีใครทำ ด้วยการออกมาขยายธุรกิจร้านกาแฟคอฟฟี่เวิลด์ ในรูปแบบฟู้ดทรัคส์   ภายหลังพบพฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงไป คือ ชอบความสะดวกสบายมากขึ้น

นายดาเรน ไวท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอฟเอ คอร์ปอเรชั่น(ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในแต่ละปี  โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่  ที่หันมานิยมบริการใหม่ๆ สะดวก และทันสมัยมากขึ้น บริษัทจึงได้มีการปรับรูปแบบบริการของร้านคอฟฟี่เวิลด์ให้ออกมาในรูปแบบของฟู้ดทรัคส์ภายใต้ชื่อ "คอฟฟี่เวิลด์  ทรัคส์"  ด้วยการออกแบบร้านให้มีความทันสมัยเข้ากับไลฟ์สไตล์ ลอฟท์ โมเดิร์น ที่มีความผสมผสานระหว่างความเป็นไม้และเหล็ก  รวมไปถึงการวาดลวดลายที่ตัวรถแบบ Typography ซึ่งตกแต่งให้ดูเข้ากับยุคสมัยตอบโจทย์ความต้องการทั้งกลู่มลูกค้าใหม่และกลุ่มลูกค้าเก่า

หลังจากทดลองนำร้านคอฟฟี่ เวิลด์ ทรัคส์ ไปให้บริการตามสถานที่ต่างๆ เมื่อช่วงปลายปี 2559 ที่ผ่านมาเริ่มจากจตุจักร ประตูน้ำ  ศูนย์การค้าฮาบิโตะ และศูนย์การค้าเกตเวย์ เอกมัย พบว่า ลูกค้าให้ผลการตอบรับเป็นอย่างดี ด้วยการมียอดขายเท่ากับร้านที่เปิดให้บริการภายในศูนย์การค้า แม้ว่าระยะเวลาในการให้บริการจะสั้นกว่าการเปิดให้บริการในศูนย์การค้า

จากความสำเร็จที่ได้รับเท่ากับร้านที่เปิดให้บริการในศูนย์การค้า  การที่ค่าเช่าสถานที่ยังมีราคาถูกกว่า คือ ร้านที่เปิดให้บริการภายในศูนย์การค้าจะมีต้นทุนในด้านของค่าเช่าสถานที่คิดเป็นอัตราส่วนประมาณ 15% ของงบลงทุนทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าการเช่าสถานที่เพื่อให้เปิดให้บริการในรูปแบบฟู้ดทรัคส์ที่จะเสียค่าเช่าคิดเป็นอัตราส่วนเพียง 10% ของงบลงทุนทั้งหมด ส่งผลให้บริษัท จีเอฟเอฯ เล็งเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจของร้านคอฟฟี่เวิลด์ในรูปแบบของฟู้ดทรัคส์เพิ่มเติม  โดยในปีนี้จะทำการเปิดร้านคอฟฟี่ เวิลด์ ทรัคส์คันที่ 2 และคันที่ 3 ในอีกประมาณ 3-4 เดือนนับจากนี้ จากปัจจุบันมีร้านคอฟฟี่ เวิลด์ ทรัคส์เพียง 1 คันเท่านั้น ซึ่งการเปิดคอฟฟี่ เวิลด์ ทรัคส์เพิ่มเติมในครั้งนี้ เพราะบริษัทมีแผนที่จะนำร้านคอฟฟี่ เวิลด์ ทรัคส์เข้าไปเปิดให้บริการในตลาดต่างจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอย่างเชียงใหม่ พัทยา และหัวหิน เป็นต้น  ขณะเดียวกัน ก็จะทำการเปิดร้านคอฟฟี่เวิลด์ใหม่อีกประมาณ 15 สาขา ภายใต้งบลงทุนรวม 45 ล้านบาท  แบ่งเป็นแฟรนไชส์ 12 สาขา และลงทุนเอง 3 สาขา

การออกมาปรับตัวของผู้ประกอบการร้านกาแฟในปีนี้  น่าจะทำให้ภาพรวมธุรกิจร้านกาแฟเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 10% ตามที่เคยคาดการณ์กันไว้อย่างแน่นอน เพราะนอกจากจะมีบริการใหม่ๆ ที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคแล้ว  กำลังซื้อของผู้บริโภคยังเพิ่มขึ้นอีกด้วย

LastUpdate 17/03/2560 13:22:54 โดย :
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 3:25 pm