การตลาด
สกู๊ป "เอ็นไวโนเซล" แนะค้าปลีกไทยปรับตัว รับมือขายออนไลน์


"ธุรกิจค้าปลีก" ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีโดยตรง เพราะจากการพัฒนาของเทคโนโลยีที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และใช้งานได้ง่ายขึ้น ทำให้ปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มปรับพฤติกรรมหันไปช้อปปิ้งผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ซึ่งจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้ห้างค้าปลีกต่างๆ เริ่มมียอดขายที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจนในที่สุดต้องปิดตัวไป เนื่องจากไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นได้  


               

ยิ่งปัจจุบันมีผลกระทบด้านเศรษฐกิจเข้ามารุ่มเร้าไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจภายในประเทศของตัวเอง หรือเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกหลายรายต้องยุติธุรกิจค้าปลีกของตัวเองไป เห็นได้ชัดก็ผู้ประกอบการในสหรัฐอเมริกา ภายหลังเจอคู่แข่งในโลกออนไลน์ และผลกระทบจากปัจจัยลบเศรษฐกิจมารุมเร้า ส่งผลให้ห้างค้าปลีกชื่อดังในอเมริกาอย่าง ห้างMacy’s ประกาศปิดกิจการไปถึง 100 สาขา

ขณะที่ "เซียร์แอนด์เคมาร์ท" ก็ออกมาประกาศปิดกิจการไปประมาณ 150 สาขา ส่วน "เจซี เพนนี" ก็มีแผนที่จะปิดสาขาเพิ่ม จากปัจจุบันมีจำนวนสาขาที่เปิดให้บริการอยู่ที่ประมาณ 1,000 สาขา  และ "ซีวีเอส" ออกมาแย้มว่าอาจจะต้องปิดกิจการจำนวน 70 สาขา เช่นเดียวกับ "ห้าง แอโรโพสเทล" ก็มีแผนที่จะปิดกิจการเช่นกัน

ผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าวกับบรรดาห้างค้าปลีกในสหรัฐอเมริกา ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นกับวงการห้างค้าปลีก ซึ่งนอกจากสหรัฐอเมริกาจะออกมาประกาศปิดกิจการห้างค้าปลีกแล้ว ในด้านของห้างค้าปลีกในยุโรป  และเกาหลีใต้ก็สื่อแววที่จะปิดกิจการกันอีกพอสมควร ภายหลังจากเจอกระแสความนิยมช้อปปิ้งออนไลน์ลูกใหญ่มาส่งผลกระทบโดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

 

น.ส. สรินพร จิวานันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นไวโรเซล ประเทศไทย จำกัด บริษัทในเครือของบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ผู้นำแห่งความคิดสร้างสรรค์ในภูมิภาคอาเซียน กล่าวว่า จากสถานการณ์การปิดตัวของร้านค้าปลีกจำนวนมากในสหรัฐอเมริกา มหานครนิวยอร์ก ที่มีเศรษฐกิจเทียบได้ในอันดับที่ 20 ของโลก มีพนักงานกว่า 9 แสนคน ทำงานในธุรกิจค้าปลีกกว่า 7.7 หมื่นแห่ง เป็นศูนย์รวมของสำนักงานใหญ่ (Head Quarter) ของบริษัทยักษ์ใหญ่กว่า 80 ราย และเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลกกว่า 60 ล้านคนต่อปี นับเป็นสัญญาณสั่นคลอนต่อวงการค้าปลีกของโลกไม่ช้าก็เร็ว

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เกิดขึ้นดังกล่าว เกิดขึ้นจากการจับจ่ายซื้อสินค้า การใช้บริการสามารถข้ามข้อจำกัดในเรื่องของเวลา สถานที่ รูปแบบ และวิธีการซื้อไปได้ โดยเฉพาะกลุ่มมิลเลเนียมที่มีการเติบโต และมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ปัจจุบันผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าวเริ่มมีบทบาทในสังคม ทั้งด้านการงาน และมีศักยภาพในการใช้จ่ายที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่กลุ่มเบบี้บูมเบอร์มีสัดส่วนที่ลดลง

อย่างไรก็ดี จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าว บริษัท เอ็นไวโรเซลฯ ได้มีการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค และพบว่า เทรนด์การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคมีความน่าสนใจ 3 ลักษณะหลัก คือ 1.พฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคที่ มีความต้องการแบบไร้ขีดจำกัด คือ ผู้บริโภคไม่ได้ต้องการสินค้าที่อยู่บนชั้นวางเท่านั้น แต่อาจต้องการสินค้าที่ไม่มี ในประเทศ เช่น อยากได้นมที่ผลิตในออสเตรเลีย(Consumer Demand is more globalization) แต่ที่ร้านค้ากลับไม่มี ทำให้ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้

ส่วนลักษณะที่ 2. คือ พฤติกรรมด้านนิสัยการเลือกซื้อที่เปลี่ยนไป เช่น แทนที่จะเลือกซื้อเสื้อผ้าที่แขวนไว้ตามร้านค้า แต่กลับเลือกซื้อด้วยวิธีการ ‘คลิ๊ก’ ซึ่งสามารถหาชุดที่แมทเข้ากัน ทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า และรองเท้าจากหลายๆ แหล่ง ได้ในเวลาเดียวกัน 

3.พฤติกรรมด้านเวลาที่ไม่ได้ช้อปปิ้งในเวลาที่เลิกงาน หรือ ห้างเปิดอีกต่อไป (จากการวิจัย พบว่า 43% ของชาวอเมริกัน ช้อปปิ้งจากเตียงนอน และ 23% จากโต๊ะทำงาน)

ดังนั้น สามารถพูดได้ว่าเรื่องของสถานที่ (Location) อาจจะไม่ได้เป็นจุดแข็งของร้านค้าปลีกอีกต่อไป แต่ราคากลับเป็นเรื่องสำคัญ ผลักดันให้หลายๆ รีเทล เริ่มเข้าสู่แพลตฟอร์มในรูปแบบ ‘ออมนิแชนแนล’ (Omnichannel) แนวคิดของ Omnichannel คือ ไม่ได้ยึดว่าจะขายอย่างไร ขายที่ไหน แต่ยึดว่าผู้บริโภคจะซื้อตอนไหน ซื้อที่ไหน ซื้อด้วยวิธีการใดก็ได้ ขอให้เกิดการซื้อ แต่ยังไม่ใช่ air space แพลตฟอร์มเต็มรูปแบบ เพราะยังไม่สามารถสั่งซื้อสินค้าแบบใด ที่ใดในโลกก็ได้

น.ส.สรินพร กล่าวว่า การทำ Omnichannel ย่อมดีกว่าไม่ทำแน่นอน เพราะ 59% ของร้านค้าปลีกในสหรัฐอเมริ กาบอกว่า Omnichannel ช่วยทำรายได้ให้ธุรกิจมากกว่า ที่สำคัญสามารถสร้าง Engagement กับลูกค้าได้มากถึง 90% ในขณะที่ร้านค้าปลีกที่ไม่ทำ Omnichannel สามารถสร้าง Engagement กับลูกค้าได้เพียง 33% เท่านั้น ถ้ารีเทลใดเข้าสู่ air space platform เต็มรูปแบบ คือ transform จากการเป็นผู้ขาย เป็นคนกลางในการให้บริการที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทุกรูปแบบ โดยไม่มีข้อจำกัดด้านphysical product  place และ access รับประกันว่าสามารถอยู่รอดในธุรกิจได้อีกนาน การที่ได้อยู่ติดตัวกับลูกค้าทุกที่ทุกเวลา (air space) ย่อมมีโอกาสมากกว่า shelf space ที่อยู่ห่างไกล เข้าถึงยากไม่ได้ตลอดเวลาอย่างแน่นอน

ทั้งนี้  ธุรกิจค้าปลีกที่อยู่รอด กลับไม่ใช่คู่แข่งด้านค้าปลีกโดยตรง แต่กลับเป็น Amazon ผู้ซึ่งเป็นตัวอย่างที่สำเร็จของ air space platform เพราะไม่มีข้อจำกัดใดๆ ในการตอบสนองผู้บริโภคเลย ล่าสุด ออกบริการ Prime Air ที่สามารถส่งสินค้าได้ ด้วยโดรนภายในไม่กี่ชั่วโมง รวมทั้งล็อกเกอร์รับสินค้าตามจุดสำคัญต่างๆ ในเมือง ที่ผู้บริโภคสามารถรับของได้เลย โดยไม่ต้องรอข้ามวัน ดังนั้นคู่แข่งร้านค้าปลีกที่สำคัญ จึงไม่ใช่ physical ที่เห็นตัวเห็นตน แต่เป็น service ที่มีความคล่องตัว ไฮเทค และไม่มีต้นทุนที่เป็น Fixed cost และอาจไม่ได้อยู่ในวงการค้าปลีกอีกต่อไป

 

ดังนั้น ธุรกิจค้าปลีกที่ต้องการจะอยู่รอด ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงในขณะนี้ ต้องการปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นสินค้า หรือบริการ เนื่องจากปัจจุบันคู่แข่งของธุรกิจค้าปลีกเอง ไม่ได้มีแค่ธุรกิจค้าปลีกในช่องทางออฟไลน์ด้วยกันอีกต่อไปแล้ว แต่มีคู่แข่งในด้านของออนไลน์ และอีคอมเมิร์ซเข้ามาเป็นคู่แข่งที่สำคัญอีกด้วย

อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่าปัจจุบันบรรดาห้างค้าปลีกทั้งหลายเริ่มมีการปรับตัว ด้วยการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในโลกออนไลน์ ด้วยการหันมาชูจุดเด่นในด้านของบริการในรูปแบบต่างๆ ที่ผู้ค้าออนไลน์ไม่สามารถทำได้ นั่นก็คือ การปรับรูปแบบของห้างให้มีความเป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น ด้วยการดึงแม็กเน็ตที่สำคัญต่างๆ เข้ามาให้บริกาไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร สวนสนุก หรือศูนย์การเรียนรู้ เพื่อให้ลูกค้าทั้งครอบครัวสามารถเข้ามาใช้บริการภายในห้างค้าปลีกพร้อมกันได้ซึ่งสิ่งเหล่านี้ห้างค้าปลีกมั่นใจว่า ห้างออนไลน์ไม่สามารถทำได้


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 07 เม.ย. 2560 เวลา : 13:59:11
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 11:22 am