เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
กรมขนส่งทางบกระบุ ต.ค. 59- มี.ค.60เก็บภาษีได้ 3,900 ลบ.


กรมการขนส่งทางบก เผย!!! ผลการจัดเก็บภาษีรถประจำปีในเขตกรุงเทพฯ รอบ 6 เดือน ระหว่างเดือนตุลาคม 2559 – มีนาคม 2560 สามารถจัดเก็บภาษีรถได้กว่า 3,900 ล้านบาท แจง!!สำนักงานของกรมการขนส่งทางบกยังได้รับความนิยมสูงสุด รองลงมาเป็นช่องทาง “เลื่อนล้อ ต่อภาษี” (Drive Thru for Tax) หน่วยเคลื่อนที่รับชำระภาษีตามโครงการ“ช็อปให้พอ แล้วต่อภาษี” (Shop Thru for Tax) ตามลำดับ พร้อมพัฒนาคุณภาพการให้บริการอย่างมีมาตรฐานด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน


นายณันทพงศ์  เชิดชู   รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบกได้อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนมีช่องทางในการรับชำระภาษีรถประจำปีอย่างหลากหลาย  โดยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 – มีนาคม 2560  สามารถจัดเก็บภาษีรถประจำปีในเขตกรุงเทพมหานครได้ทั้งสิ้น  3,986,576,542.89 บาท เป็นการใช้บริการรับชำระภาษีรถยนต์ ณ สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 5 ของกรมการขนส่งทางบกมากที่สุด จำนวน 2,274,548 ราย  จัดเก็บภาษีรถได้ทั้งสิ้น  2,705,580,006.29  บาท  รองลงมาเป็นการใช้บริการรับชำระภาษีรถผ่านช่องทาง “เลื่อนล้อ ต่อภาษี” (Drive Thru for Tax) ชำระภาษีโดยไม่ต้องลงจากรถ จำนวน 432,287 ราย จัดเก็บภาษีรถได้ทั้งสิ้น 759,319,728.32 บาท และการใช้บริการชำระภาษีรถที่ห้างสรรพสินค้าในวันเสาร์ – อาทิตย์ตามโครงการ “ช้อปให้พอ แล้วต่อภาษี” (Shop Thru for Tax) มีประชาชนมาใช้บริการจำนวน  214,962 ราย จัดเก็บภาษีรถได้ทั้งสิ้น 312,693,945.97  บาท การรับชำระภาษีรถผ่านระบบอินเตอร์เน็ตที่เว็บไซต์  www.dlte-serv.in.th สามารถจัดเก็บภาษี ได้ทั้งสิ้น  78,657,774.76 บาท  ส่วนที่ศูนย์บริการร่วมคมนาคม เชิงสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน ที่ให้บริการทุกวันจันทร์ – ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 – 15.00 น. จัดเก็บภาษีได้ทั้งสิ้น 68,305,785.28 บาท  นอกจากนั้นเป็นการรับชำระภาษีรถผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส สามารถจัดเก็บภาษีได้ทั้งสิ้น  50,604,151 บาท  ผ่านไปรษณีย์และผ่านโทรศัพท์มือถือ จัดเก็บภาษีได้ทั้งสิ้น 11,415,151.27 บาท                   

รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก  กล่าวเพิ่มเติมว่า  เจ้าของรถสามารถชำระภาษีรถล่วงหน้าได้ไม่เกิน 90 วัน และต้องเป็นรถที่ไม่ค้างชำระภาษีรถเกินกว่า 1 ปี สำหรับรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานครบ 7 ปี หรือรถจักรยานยนต์ที่มีอายุการใช้งานครบ 5 ปี ต้องเข้ารับการตรวจสภาพรถจากสถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) โดยเป็นระบบการรายงานผลการตรวจสภาพรถจาก ตรอ. แบบออนไลน์  ซึ่งปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยยกระดับงานด้านบริการและงานด้านอื่นๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้รถและสภาพสังคมในปัจจุบัน ทั้งการนำระบบ QR Code เป็นช่องทางเข้าถึงแอพพลิเคชั่น DLT eForm  ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นให้ข้อมูลการให้บริการด้านทะเบียนและภาษีรถ ที่สามารถดาวน์โหลดหรือกรอกแบบฟอร์มออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ Smart Phone เพื่อนำมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ทั้งสะดวก รวดเร็ว ลดขั้นตอน และลดระยะเวลาในการติดต่อราชการอีกด้วย รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวในที่สุด           

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 เม.ย. 2560 เวลา : 19:09:43
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 10:49 am