กองทุนรวม
บลจ.ธนชาต ยังยืนยัน อสังหาฯ เอเชีย ยังเติบโตได้ แม้ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น


บลจ.ธนชาต ยังเชื่อมั่นในอสังหาริมทรัพย์เอเชีย แม้ทิศทางดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น เชื่อไม่กระทบกองทุน เพราะยังได้รับผลดีจากเศรษฐกิจฟื้น ยิ่งได้เป็นภูมิภาคเอเชีย ศักยภาพเติบโตยิ่งสูง แนะ  T-AsianProp ตอบโจทย์ได้

นายบุญชัย เกียรติธนาวิทย์
กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ธนชาต จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันสินทรัพย์ประเภทอสังหาริมทรัพย์ยังคงน่าสนใจ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย แม้ทิศทางดอกเบี้ยจะเป็นขาขึ้นก็ตาม เพราะความพิเศษของสินทรัพย์ประเภทนี้ที่หลายคนมองว่ามีความอ่อนไหวเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ย ความน่าสนใจจะน้อยลงเมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ไม่ได้ถูกหมดเสียทีเดียว เพราะในแง่หนึ่งการที่เศรษฐกิจดี ย่อมหมายถึงโอกาสในการปรับค่าเช่าและทำกำไรให้สูงขึ้นนั่นเอง และการเข้ามาของเทคโนโลยีก็ส่งผลต่อภาคอสังหาริมทรัพย์เช่นกัน ทำให้ธุรกิจมีการขยายตัวและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้เช่าได้มากขึ้น

“คุณสมบัติที่ดีอีกแง่หนึ่ง คือ คำว่าอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ที่อยู่อาศัยหรือสำนักงานให้เช่าเท่านั้น แต่มีการปรับให้สอดคล้องไปกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและวิถีชีวิตในสังคม เช่น ในปัจจุบันวิวัฒนาการของเทคโนโลยีนำไปสู่การขยายตัวของ E-Commerce มีการขายของออนไลน์กันอย่างแพร่หลายและกว้างขวาง ทำให้อสังหาริมทรัพย์ประเภทพื้นที่โกดังให้เช่า (Logistics real estate) ได้รับความนิยมสูงมากโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ในประเทศจีนที่ธุรกิจกลุ่มเทคโนโลยีมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดทำให้เราเห็นว่าอัตราการเช่าโกดังแบบนี้เติบโตอย่างมีนัย  นอกจากนั้นยังมีเรื่องแนวโน้มประชากรโลกที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุหลังเกษียณ ทำให้เกิดอสังหาริมทรัพย์ที่มีความเฉพาะตัว อย่างในประเทศญี่ปุ่นก็สร้างโอกาสในธุรกิจบริการโรงแรมและสันทนาการต่างๆที่เหมาะกับผู้สูงอายุ นับเป็นตลาดเฉพาะ (niche market) ที่ทรงประสิทธิภาพมาก” นายบุญชัยกล่าว

นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราสนใจภูมิภาคเอเชีย เพราะในตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลกอัตราผลตอบแทนในรูปของอัตราเงินปันผลของตลาดเอเชียสูงสุด (Dividend Yield) เนื่องจากภูมิภาคเอเชียถือว่าเป็นตลาดเกิดใหม่และมีขนาดเล็กกว่าเมื่อเทียบกับตลาดสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้มีโอกาสเติบโตได้สูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ  และตัวเลขสถิติก็พบว่าระดับราคายังน่าสนใจ ขณะที่ระดับหนี้สินของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์โดยรวมในภูมิภาคนี้ต่ำกว่าในอดีตมากแล้ว แสดงให้เห็นว่ามีโครงสร้างหนี้ที่ต้นทุนต่ำและอายุหนี้ยาวขึ้นจากเศรษฐกิจที่ทรงตัวมานาน ทำให้ผลกระทบจากแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นไม่น่ากังวลเท่าในอดีต

สำหรับมุมมองในปีนี้ ตลาดโลกโดยรวมมีสัญญาณการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ชัดเจนขึ้นโดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว (Develop market) อย่าง สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น  ซึ่งทำให้เราเชื่อว่าเศรษฐกิจในเอเชียน่าจะพ้นจุดต่ำสุดและยิ่งส่งผลดีต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาคอย่างมาก

บลจ.ธนชาต มีกองทุนที่ลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในเอเชีย คือ กองทุนเปิดธนชาตเอเชี่ยนพร๊อพเพอร์ตี้ (Thanachart Asian Property Fund) หรือ T-AsianProp ตั้งแต่จัดตั้งกองทุนเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 59 ปัจจุบันเวลาเพียง 6 เดือนมีผลตอบแทนอยู่ที่ 5.76% เมื่อเทียบกับดัชนีมาตรฐาน 3.66% (ข้อมูลจาก    มอร์นิ่งสตาร์, 23 พ.ค. 60) และเมื่อดูพอร์ตลงทุนพบว่าค่าเฉลี่ยเงินปันผลของหลักทรัพย์ที่กองทุนเลือกลงทุนในพอร์ตก็สูงกว่าค่าเฉลี่ยในภูมิภาค อย่างในญี่ปุ่นมีค่าเฉลี่ยเงินปันผลอยู่ที่ 3.6% แต่พอร์ตของกองทุนหลักประเทศญี่ปุ่นที่ T-AsainProp ลงทุนอยู่ที่ 4.2% ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าผู้จัดการกองทุนที่ บลจ.ธนชาตเลือกสรรมีความเชี่ยวชาญอย่างมากในการคัดเลือกอสังหาริมทรัพย์ในเอเชีย

กองทุน T-AsianProp ลงทุนในกองทุน B&I Asian Real Estate Securities Fund (UCITS) บริหารและจัดการโดย B&I Capital AG จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศลิกเตนสไตน์ (Liechtenstein) ซึ่งอยู่ภายใต้ UCITS กองทุนนี้เป็นกองทุนแรกในอุตสาหกรรมกองทุนบ้านเรา ที่ไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เอเชีย ซึ่งนโยบายสามารถลงทุนในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิคได้ทั้งหมด โดยกองทุนนี้มีจุดแข็งสำคัญ คือ ผู้จัดการกองทุนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ในเอเชียมาอย่างยาวนาน เพราะแม้ว่าเราจะรู้ว่าในเอเชียเป็นภูมิภาคที่เติบโตสูง และมีศักยภาพที่ดี แต่การติดตามข้อมูลข่าวสาร หรือข้อมูลวิเคราะห์ในเชิงลึก คงเป็นเรื่องยากสำหรับผู้จัดการกองทุนไทย

ที่ผ่านมากองทุนหลัก B&I Asian Real Estate Securities Fund (UCITS) สามารถทำผลตอบแทนได้อย่างน่าสนใจ ตั้งแต่จัดตั้งกองทุนเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2553 จนถึงเดือนเมษายนปีนี้ เป็นเวลาประมาณ 6 ปี ทำผลตอบแทนไปแล้ว 90.5%


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 พ.ค. 2560 เวลา : 20:06:17
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 9:27 am