กองทุนรวม
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยข้อมูลหลักเกณฑ์กำกับสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนใหม่ 4 หลักเกณฑ์


 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยข้อมูลหลักเกณฑ์กำกับสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนใหม่ 4 หลักเกณฑ์ หลังหารือร่วมกับ 4 หน่วยงานภาครัฐ พร้อมวางแนวทางการปฏิรูป การบริหารจัดการและการกำกับดูแลกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน ให้ครอบคลุมความเสี่ยงทุกด้าน 


นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้มีการประชุม เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 โดยมีมติเห็นชอบแนวทางการปฏิรูปการบริหารจัดการและการกำกับดูแลกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ตามที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังกระทรวงการคลังเสนอ ให้มีการออกหลักเกณฑ์ให้ครอบคลุมความเสี่ยงสำคัญ ที่เกิดจากการประกอบกิจการทางการเงินของสหกรณ์ เช่นเดียวกับแนวทางปฏิบัติของสถาบันการเงิน 4 ด้านคือ ด้านธรรมาภิบาล ด้านสภาพคล่องด้านเครดิตและด้านการปฏิบัติการ  โดยนำหลักการกำกับดูแลสถาบันการเงินของ Basel I มาใช้ และให้มีการพัฒนาบุคลากรของหน่วยงานกำกับดูแล รวมทั้งพัฒนาระบบสารสนเทศระบบการเงินของสหกรณ์ให้ทันสมัย

โดยให้ 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย
กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมกันหารือเพื่อวางแนวทางการปฏิรูป การบริหารจัดการและการกำกับดูแลกิจการทางการเงิน ให้ครอบคลุมความเสี่ยงทั้ง 4 ด้าน ซึ่งขณะนี้ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่เพื่อนำมาใช้กำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนแล้ว  4 เกณฑ์ ได้แก่ หลักเกณฑ์ที่ 1.การกำหนดอัตราจ่ายเงินปันผลตามหุ้นที่ชำระแล้ว สำหรับสหกรณ์ประเภทสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เนื่องจากเห็นควรแก้ไขอัตราจ่ายเงินปันผลตามหุ้นที่ชำระแล้วของสหกรณ์ประเภทสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมกับให้สอดคล้องกับหลักการสหกรณ์ ที่ระบุว่าสมาชิกพึงได้รับผลตอบแทนจากเงินทุนอย่างจำกัด และเป็นการช่วย ลดแรงกดดัน ในการแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุน
เพื่อนำมาแบ่งกัน โดยเห็นควรออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราจ่ายเงินปันผลตามหุ้นที่ชำระแล้ว สำหรับสหกรณ์ประเภทออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน อีกทั้งร่างกฎกระทรวงฯ ฉบับนี้กำหนดให้จ่ายเงินปันผล ตามหุ้นที่ชำระแล้วของสหกรณ์ประเภทสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ไม่เกินอัตราร้อยละ 10 ต่อปี แต่เมื่อคำนวณรวมกับเงินปันผล ที่จ่ายทั้งหมดแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 80 ของกำไรสุทธิที่เหลือ จากการจัดสรรเป็นทุนสำรองและค่าบำรุงสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

หลักเกณฑ์ที่ 2 กำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากของสหกรณ์  โดยเห็นชอบให้มีการทบทวนอัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และดำเนินการให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่ธนาคารพาณิชย์ ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากประจำ โดยเฉลี่ยในอัตราไม่เกินร้อยละ 1.5 ต่อปี  แต่ยังมีหลายสหกรณ์ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากไว้สูงกว่านี้มาก อันเป็นผลให้สหกรณ์มีต้นทุนทางการเงินที่สูงและไม่เป็นผลดีต่อการบริหารการเงินของสหกรณ์ จึงให้สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนและชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์และชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากในระเบียบว่าด้วยการรับฝากเงินทุกประเภทไม่เกินร้อยละ 4.5 ต่อปี และให้ถือว่าระเบียบดังกล่าว ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์ และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากแต่ละคราว ให้แจ้งนายทะเบียนสหกรณ์ทราบด้วย ซึ่งหลักเกณฑ์นี้ได้ให้เวลาสหกรณ์ปรับตัว
เพื่อถือใช้และปฏิบัติตามเกณฑ์กำกับนี้เป็นเวลา 60 วัน 

หลักเกณฑ์ที่ 3 เห็นชอบให้สหกรณ์ถือใช้ระเบียบว่าด้วยการรับฝากเงินจากสหกรณ์อื่น โดยกำหนดให้สหกรณ์ผู้รับฝาก จะรับฝากเงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์หรือสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนใด ที่มีสินทรัพย์มากกว่า 5,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับเงินกู้จากสหกรณ์ดังกล่าว (หากมี) ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของทุนเรือนหุ้น รวมกับทุนสำรองของสหกรณ์ผู้ฝากเงิน ซึ่งหลักเกณฑ์นี้ได้ให้เวลาสหกรณ์ปรับตัว เพื่อถือใช้และปฏิบัติตามเกณฑ์กำกับนี้เป็นเวลา 120 วัน 

หลักเกณฑ์ที่ 4 เห็นชอบให้สหกรณ์ถือใช้ระเบียบว่าด้วยการให้สหกรณ์อื่นกู้ยืมเงิน ซึ่งเป็นเกณฑ์การกำกับความเสี่ยงด้านเครดิตในการกำกับดูแลลูกหนี้รายใหญ่ โดยกำหนดให้สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน
ขนาดใหญ่ ที่มีสินทรัพย์มากกว่า 5,000 ล้านบาท จะให้เงินกู้แก่สหกรณ์ใดสหกรณ์หนึ่ง ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์ผู้ให้กู้  และเมื่อรวมหนี้ทุกรายของสหกรณ์ผู้ขอกู้แล้ว ต้องไม่เกินวงเงินกู้ยืมหรือค้ำประกันประจำปี ที่สหกรณ์ผู้ขอกู้ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์ ซึ่งหลักเกณฑ์นี้ได้ให้เวลาสหกรณ์ปรับตัว เพื่อถือใช้และปฏิบัติตามเกณฑ์กำกับนี้เป็นเวลา 120 วัน 

เกณฑ์กำกับสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน จะนำมาถือใช้โดยจะออกมาในรูปของคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ ระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ คำแนะนำนายทะเบียนสหกรณ์และกฎกระทรวง และจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมกำกับดูแลการดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน ประกอบด้วยผู้แทนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลัง ในการเข้ามาให้คำแนะนำแก่สหกรณ์และติดตามการดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในช่วงเปลี่ยนผ่านระยะแรก ซึ่งคาดหวังว่าการดำเนินงานตามเกณฑ์กำกับสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนนี้ จะช่วยป้องกันความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของสหกรณ์ และจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในเสถียรภาพทางการเงินและความมั่นคงให้กับสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนได้ในที่สุด


บันทึกโดย : วันที่ : 12 มิ.ย. 2560 เวลา : 14:43:21
18-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 18, 2024, 7:13 pm