ไอที
ผลสำรวจไมโครซอฟท์เผย เยาวชนไทยคาดว่า AI และ Internet of Things จะมีผลกระทบกับชีวิตในอนาคตมากที่สุด


ผลสำรวจของไมโครซอฟท์เผยถึงความเชื่อของคนรุ่นใหม่ที่ว่านวัตกรรมใหม่ๆ อย่างปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence) อินเตอร์เน็ตออฟธิงส์ (Internet of Things: IoT) ตามด้วยนวัตกรรมที่ผสมผสานโลกเสมือนเข้ากับโลกความจริงอย่าง Virtual Reality (VR), Mixed Reality (MR) และ Augmented Reality (AR) จะส่งผลกระทบต่อชีวิตในอนาคตมากที่สุด ในโลกที่กำลังหมุนเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลอย่างไม่หยุดยั้ง

ขณะเดียวกัน ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ทำให้เยาวชนไทยเล็งเห็นถึงประเด็นปัญหาจำนวนหนึ่งที่อาจเป็นผลมาจากบทบาทที่เพิ่มมากขึ้นของเทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน ได้แก่โอกาสด้านอาชีพการงานที่ลดลง ความห่างเหินกันระหว่างผู้คน และความปลอดภัยหรือความเป็นส่วนตัวที่ลดน้อยลงในโลกยุคดิจิทัล


ไมโครซอฟท์ได้เปิดเผยผลการสำรวจหัวข้อ อนาคตด้านดิจิทัลในเอเชีย (Microsoft Asia Digital Future Survey) ในกลุ่มคนอายุ 18-24 ปี จำนวน 1,400 คนทั่วเอเชียแปซิฟิก อาทิ ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวันและเวียดนาม โดยมีตัวแทน 100 คนจากประเทศไทย

 

อนาคตที่มี AI ทุกหนแห่ง

ผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยจัดให้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอินเตอร์เน็ตออฟธิงส์ (IoT) เป็นเทคโนโลยีอันดับต้นๆที่จะเข้ามามีอิทธิพลเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตผู้คน เพราะไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ได้เกิดอุปกรณ์ล้ำสมัยใหม่ๆ รวมทั้งคลาวด์และโลกข้อมูลที่ประสานพลังกันทำให้วิสัยทัศน์ที่มองอนาคตว่า AI และ IoT จะก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตแบบดิจิทัลของมนุษย์อย่างแยกไม่ออก มีความชัดเจนมากขึ้น 


AI ยังเกี่ยวข้องกับการสร้างจักรกลอัจฉริยะ หรืองานบริการที่ตอบโต้เหมือนมนุษย์ – ฟีเจอร์ที่เริ่มพบได้ในแทบทุกอย่างตั้งแต่การแปลภาษา ไปจนถึงผู้ช่วยเสมือนหรือวิดีโอเกมส์ การนำเอาศักยภาพของ AI เข้ามาทำงานซ้ำๆ เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมาก การจดจำคำพูด การแก้ปัญหาจะช่วยให้ผู้คนบรรลุเป้าหมายได้มากขึ้นในขณะที่ทำงานน้อยลง หรือการเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่งานนั่นเอง 

 

IoT หมายถึง เครือข่ายของวัตถุที่เชื่อมต่อเข้ากับอินเตอร์เน็ต ที่สามารถสื่อสารระหว่างกัน ระหว่างอุปกรณ์ และข้ามระบบได้ ซึ่งกำลังเติบโตขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ อินเตอร์เน็ตออฟธิงส์ รวมถึงทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่เซนเซอร์บนท้องถนน เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน อุปกรณ์สวมใส่ และยานพาหนะ 


การสำรวจได้ถามเจาะลึกไปอีกถึงการจัดอันดับ 3 สถานการณ์ที่ใช้เทคโนโลยีAI ซึ่งคนกลุ่มนี้คาดว่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงยิ่งใหญ่ที่สุดต่อการดำเนินชีวิตของพวกเขาในอนาคต (เรียงจากมากที่สุดลงไป) 

1.รถยนต์ที่ติอต่อกันได้และไม่ต้องมีคนขับ (46%) 

2.ซอฟท์แวร์บอทที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน (25%) 

3.หุ่นยนต์ (20%)


ในขณะเดียวกัน กลุ่มคนเจเนอเรชั่นใหม่นี้ยังคาดว่า IoT จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตใน 3 เรื่อง

1.สมาร์ทโฮม บ้านแสนฉลาดที่อุปกรณ์ไฟฟ้าสามารถ “พูดคุย” กันเองได้ (42%) 

2 ระบบจัดการจราจรที่สามารถช่วยย้ายถ่ายเทรถยนต์ไปยังท้องถนนที่โล่งกว่าได้อย่างเรียลไทม์ (24%) 

3.อาคารชาญฉลาดที่สามารถปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานในอาคารได้ตามสภาวะอากาศและจำนวนผู้อยู่อาศัย  (24%)


เทคโนโลยีอันดับสองที่คนรุ่นใหม่กล่าวถึงกันมากรองลงมาคือ VR/MR/AR 


เทคโนโลยีความจริงเสริมคือการนำเอาโลกเสมือนไปวางอยู่ในโลกแห่งความจริง ขณะที่ความจริงเสมือนคือการสร้างความรู้สึกแบบโลกแห่งความจริงมาไว้ข้างในโลกเสมือน ส่วนความจริงผสมรวบรวมเอาทั้งสองส่วนประกอบเข้าด้วยกัน โดยขณะที่ผู้ใช้กำลังท่องไปในโลกความจริงก็จะสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับวัตถุเสมือนได้ เห็นและสัมผัสมันได้ โดยจำลองความรู้สึกในมิติต่างๆ อาทิเช่นการสัมผัสได้ถึงความลึกของวัตถุเสมือน เป็นต้น


การสำรวจยังค้นพบอีกว่า กลุ่มคนเจเนอเรชั่นนี้มองหาเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาช่วยเหลือพวกเขาเพื่อ (เรียงจากมากไปน้อย)

1.อำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อพวกเขาเข้ากับเพื่อนร่วมงาน 

2.ช่วยยกระดับสุขภาพทางร่างกายและจิตใจ 

3.ช่วยเสริมความสามารถ เพิ่มโอกาสการจ้างงานมากขึ้น


นางสาวศิริพร พัชรวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ประชากรเยาวชนมากกว่า 60% ของทั้งโลกอยู่ในโซนเอเชียแปซิฟิก ซึ่งจะเป็นภูมิภาคที่ขับเคลื่อนการปฏิวัติดิจิทัลให้กับโลก จึงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่จะได้ทำความเข้าใจกับความคิดอ่านของกลุ่มคนไทยเจเนอเรชั่นใหม่กลุ่มนี้ว่าพวกเขามีมุมมองต่อนวัตกรรมในอนาคตอย่างไรบ้าง ทั้งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ อินเตอร์เน็ตออฟธิงส์ ร่วมกับ VR/MR/AR จะเปิดโอกาสการพลิกโฉมทางดิจิทัลให้กับนานาประเทศ และองค์กร เพื่อต่อยอดสร้างสรรค์อนาคตใหม่ที่น่าตื่นเต้นให้กับพวกเราทุกคน” 


การเตรียมพร้อมเพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลง 

ถึงแม้ว่ากว่า 70% ของเยาวชนไทยที่เข้าร่วมทำการสำรวจนี้จะรู้สึกว่าประเทศไทยมีความพร้อมต่อการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะพลิกรูปแบบการดำเนินชีวิต แต่พวกเขาก็ยังมีข้อกังวลใหญ่ๆ อยู่จำนวนหนึ่ง ได้แก่

  1. ความเป็นไปได้ที่อาจตกงาน (30%)
  2. ความสัมพันธ์ระหว่างคนกลายเป็นเรื่องผิวเผิน ห่างเหิน (29%)
  3. ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว (17%)


คนจำนวนมากมีความกังวลถึงเรื่องที่อาจจะตกงานหรือไม่สามารถแข่งขันในตลาดแรงงานได้ สะท้อนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนสำหรับทั่วโลกที่จะต้องให้ความรู้และพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลเพื่อการทำงานในยุคศตวรรษที่ 21นางสาวศิริพรกล่าวเสริม “อีกประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่องของความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว ซึ่งถือเป็นปัญหาที่ทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ในยุคดิจิทัล เนื่องจากมีอุปกรณ์จำนวนมหาศาลรอบตัวเราที่เชื่อมต่อถึงกัน จึงทำให้ช่องโหว่หรือความเสี่ยงเพียงจุดเดียวสามารถสร้างความเสียหายได้อย่างใหญ่หลวง ดังนั้น ทุกภาคส่วนในสังคม นับตั้งแต่นักวิจัยและนักพัฒนาไปจนถึงผู้ใช้งานทั่วไป จะต้องร่วมแรงร่วมใจกันและประพฤติตนอย่างรับผิดชอบ เพื่อรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของทุกคน”

 


 

เมื่อถามถึงชีวิตในวันข้างหน้า เยาวชนไทยเชื่อว่าการจะประสบความสำเร็จในอนาคตได้นั้น จะต้องอาศัยสถาบันการศึกษาที่สามารถสร้างความพร้อมให้นักเรียนมีทักษะที่ทันยุคสมัย เพื่อนำเอานวัตกรรมในอนาคตมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (57%) ตามด้วยการทำให้เทคโนโลยีในอนาคตมีราคาไม่แพงและสามารถเข้าถึงได้ (17%) และการสร้างสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้อต่อสตาร์ทอัพ (13%)

นอกจากนั้นแล้วกลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้ยังแสดงความเชื่อมั่นว่าความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (49%) จะมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการพลักดันนวัตกรรมใหม่ๆ มากกว่าการที่รัฐบาลเดินหน้าอยู่เพียงฝ่ายเดียว (20%) หรือภาคเอกชนทำเพียงลำพัง (16%) 


บันทึกโดย : วันที่ : 21 มิ.ย. 2560 เวลา : 14:56:03
29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 2:26 pm