เอสเอ็มอี
Startup Thailand 2017 เดินหน้าขึ้นภาคเหนือมุ่ง ล้านนา ชู Creative Valley@เชียงใหม่


“Startup Thailand 2017” เดินหน้าต่อขึ้นภาคเหนือมุ่งล้านนาส่งท้ายจัดงานส่วนภูมิภาคก่อนล่องสู่เมืองกรุงจัดงานปิดท้ายสตาร์ทอัพของปีนี้อย่างยิ่งใหญ่ ชูคอนเซ็ปต์ เชียงใหม่เมืองสร้างสรรค์” (Creative Chiang Mai) พร้อมหนุนให้เป็นเมืองแห่งศูนย์กลางของอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์  ความสร้างสรรค์และนวัตกรรม เผยหนึ่งปีที่ผ่านมาประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติถึงความก้าวหน้าและพัฒนาการที่รวดเร็วของวิสาหกิจเริ่มต้นของประเทศไทย ซึ่งสามารถพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นรายใหม่ที่มีศักยภาพการเติบโตสูง ด้าน สนช.เล็งแผนผลักดันให้เกิดย่านนวัตกรรมที่จังหวัดเชียงใหม่ระยะสองขึ้นอีกในอนาคต อรรชกา” ตั้งเป้าหมายการพัฒนาสตาร์ทอัพไว้ภายในระยะเวลา3 ปี จะสามารถเพิ่มจำนวนสตาร์ทอัพได้ 400 รายต่อปี และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ 1,600 ล้านบาท ภายใน 5 ปี พร้อมก่อให้เกิดการจ้างงานในกลุ่มสตาร์ทอัพ4,000 คนต่อปี

 หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่/ ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กล่าวในโอกาสเดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดงานStartup Thailand 2017 ภาคเหนือ ครั้งที่ 4 ที่จ.เชียงใหม่ ภายใต้แนวคิด “Creative Valley” ว่าการจัดงานครั้งนี้เพื่อเป็นการเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจของรัฐบาลในการขับเคลื่อนและบ่มเพาะนักรบเศรษฐกิจใหม่เป็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ตลอดจนเป็นการสร้างความต่อเนื่องของกิจกรรมดังกล่าวให้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงได้จัดงาน Startup Thailand 2017 อีกครั้งในปีนี้ เพื่อกระจายโอกาสให้คนไทยได้เห็นถึงพลังของประชาคมสตาร์ทอัพที่นำไอเดียผนวกกับเทคโนโลยีมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ รวมถึงมาตรการสนับสนุนต่างๆ จากภาครัฐและเอกชนที่พร้อมให้การบริการอย่างเต็มที่ในงาน

 

 

ดร.อรรชกา กล่าวต่อไปว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมแนวนโยบายThailand 4.0 รวมถึงการรณรงค์เพื่อสร้างการรับรู้และการพัฒนาระบบนิเวศน์สำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ Startup Thailand Campaign ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน หรือ สนช.) และหน่วยงานภาคีในกระทรวงฯ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่าง ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้น (startup) ซึ่งในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาได้ประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติถึงความก้าวหน้าและพัฒนาการที่รวดเร็วของวิสาหกิจเริ่มต้นของประเทศไทย ซึ่งสามารถพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นรายใหม่ที่มีศักยภาพการเติบโตสูง อย่างไรก็ตามเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจและนวัตกรรมของประเทศไทยให้ก้าวไปอีกระดับหนึ่งสนช. จึงได้ใช้แนวคิดย่านนวัตกรรมเข้ามาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมบนฐานการพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ (area – based innovation) ที่คำนึงถึง(1) สินทรัพย์ด้านเครือข่าย (networking assets) (2) สินทรัพย์ด้านเศรษฐกิจ (economic assets) และ (3)สินทรัพย์ด้านกายภาพ (physical assets) ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและคนในชุมชนทั้งการแบ่งปันทรัพยากรและการกำหนดเป้าหมายของการสร้างนวัตกรรมที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ เพื่อพัฒนาพื้นที่เมืองไปสู่การสร้างนวัตกรและนวัตกรรม ให้สามารถดึงดูดกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมรวมเป็นคลัสเตอร์ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน

 

ดร.อรรชกา ยังกล่าวต่อไปอีกว่าภาคเหนือถือเป็นอีกหนึ่งภูมิภาคที่มีความสำคัญและมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียนสำหรับเชียงใหม่เมืองสร้างสรรค์” (Creative Chiang Mai)ได้รับการพัฒนาและสนับสนุน ให้เป็นเมืองแห่งศูนย์กลางของอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ ความสร้างสรรค์และนวัตกรรมที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและการพัฒนาทางด้านสังคม อันนำไปสู่การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของรัฐบาลไทยที่ต้องการดึงศักยภาพที่เป็นจุดแข็งและมีเอกลักษณ์โดดเด่นของเชียงใหม่เพื่อพัฒนาความสร้างสรรค์และความรู้ทางเศรษฐกิจ

 

นอกจากเชียงใหม่จะเป็นศูนย์กลางของภาคเหนือทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การศึกษา การแพทย์ และมีความเป็นเอกลักษณ์ทั้งทางด้านศิลปวัฒนธรรม อาหาร และวิถีชีวิตแล้ว ยังมีผู้ประกอบการเริ่มต้นจำนวนมากที่มีแนวความคิดสร้างสรรค์เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดด ประกอบกับจังหวัดเชียงใหม่มียุทธศาสตร์และแผนดำเนินการที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาย่านนวัตกรรมของสนช. เช่น โครงการ Chiang Mai smart city และโครงการChiang Mai innovation signature เป็นต้น

 

ด้วยศักยภาพและความพร้อมดังกล่าว สนช.จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญและมีแผนที่จะผลักดันให้เกิดย่านนวัตกรรมในจังหวัดเชียงใหม่ในระยะที่สองในอนาคตพร้อมกับย่านนวัตกรรมในจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดภูเก็ต เนื่องจากการพัฒนาย่านนวัตกรรมมีความจำเป็นต้องใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่และกระบวนการสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน เพื่อสร้างความเชื่อมโยงในการดำเนินการให้สามารถตอบสนองความต้องการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอันจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาย่านนวัตกรรมในจังหวัดเชียงใหม่

 

อย่างไรก็ดีพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และกลุ่มจังหวัดทางภาคเหนือยังมีกลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจหลากหลายด้าน เช่น ธุรกิจความงามและสุขภาพ กลุ่มธุรกิจเกษตรและอาหาร การศึกษา การท่องเที่ยวและโรงแรม รวมถึงไอที ซอฟต์แวร์/ดิจิทัลคอนเทนต์  ขณะเดียวกัน ภูมิภาคแห่งนี้ยังเป็นพื้นที่ที่มีสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่สตาร์ทอัพหลายรายยังขาดการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืน  

 

ด้วยเหตุนี้  กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เล็งเห็นว่าการจัดงาน Startup Thailand 2017 ครั้งนี้ จะเป็นกลไกหนึ่งในการสนับสนุนกลุ่มสตาร์ทอัพในสาขาต่างๆ  ช่วยเสริมความสมบูรณ์ของ StartupEcosystem ในภูมิภาคนี้และเชื่อมโยงชุมชนกับการเติบโตของธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ  ตลอดจนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ผ่านการสร้างแรงบันดาลใจให้ชุมชนเห็นประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาสร้างสรรค์ธุรกิจแบบใหม่ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจและชุมชนได้ อันจะส่งผลระยะยาวต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมecosystem และยกระดับคุณภาพของชุมชนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน

 

กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงได้ตั้งเป้าหมายการพัฒนาสตาร์ทอัพไว้ภายในระยะเวลา 3 ปี จะสามารถเพิ่มจำนวนสตาร์ทอัพได้ 400 รายต่อปี สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ 1,600 ล้านบาท ภายใน 5 ปี และเกิดการจ้างงานในกลุ่มสตาร์ทอัพ4,000 คนต่อปี นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยเฉพาะใน 9 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ถือเป็น New Engine of Growth ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคตดร.อรรชกากล่าว

 

ทั้งนี้ นอกจากภาครัฐจะมุ่งหวังให้กลุ่มสตาร์ทอัพเหล่านี้ สามารถเติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืนได้แล้ว ภาครัฐยังมุ่งหวังให้ สตาร์ทอัพเหล่านี้ มีศักยภาพ และเป็นกำลังสำคัญที่สามารถสนับสนุนการพัฒนายกระดับกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสาขาต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมหลักของประเทศด้วย ซึ่งจะส่งผลโดยรวมต่อการยกระดับอุตสาหกรรมของไทยทั้งระบบ และส่งเสริมการสร้างรายได้ และการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตามการพัฒนาสตาร์ทอัพนั้นจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาและเติบโตของสตาร์ทอัพหรือ Startup Ecosystem ดังนั้น งาน Startup Thailand ที่จัดขึ้น จึงไม่ได้มุ่งเน้นแต่เพียงการเติบโตของสตาร์ทอัพกลุ่มเดียว หากแต่เพื่อมุ่งส่งเสริมสตาร์ทอัพและพัฒนา Startup Ecosystem ทั้งระบบ ให้สามารถส่งเสริมการพัฒนา และเอื้อประโยชน์ระหว่างกัน ซึ่งรวมถึงการพัฒนาเครือข่ายมหาวิทยาลัย การสนับสนุนกลุ่มนักลงทุน การสร้างเครือข่ายการพัฒนาระหว่างประเทศ และการสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสตาร์ทอัพ

 

จากแนวคิดการจัดงานในภูมิภาคเหนือครั้งนี้ภายใต้ธีม“Creative Valley” ได้สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจและจุดประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้เป็นอย่างดี คือความมุ่งหวังและต้องการยกระดับการเติบโตของทั้งภูมิภาคไปพร้อมๆกัน เพราะทุกคน ทุกธุรกิจถือเป็นส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศสู่การพัฒนาที่มั่นคงอย่างยั่งยืนดร.อรรชกากล่าวในตอนท้าย

 

 

ด้าน รองศาสตราจารย์สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์หลักของการจัดงานครั้งนี้ว่าเพื่อแสดงความพร้อมของประเทศไทยที่จะเป็นสะพานเชื่อมโยงความร่วมมือการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นในอาเซียน และความพร้อมของภูมิภาคอาเซียน ในการเป็นภูมิภาคชั้นนำในการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้น อีกทั้งเป็นแสดงจุดยืนและความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการก้าวสู่การเป็นประเทศเศรษฐกิจ  ฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมส่งเสริม และสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพในการขยายธุรกิจและสร้างตลาดใหม่ (Scalable) สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด (High growth) รวมไปถึงการเป็นเวทีในการระดมสตาร์ทอัพของประเทศให้มารวมตัวกันเพื่อสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันและสร้างโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีรายใหม่ในประเทศไทย ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพได้พบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติและสร้างความตระหนักรับรู้ให้กับทุกคนในสังคมในการเป็นสตาร์ทอัพเช่น นักเรียน นักศึกษา นักเรียนอาชีวะ เพื่อช่วยผลักดันให้เกิดสังคมแห่งผู้ประกอบการขึ้นในประเทศไทยและส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

 

การจัดงาน Startup Thailand 2017 ในปีนี้ ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้จัดงานรวมทั้งสิ้น 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ  ที่ผ่านมาได้จัดไปแล้ว 3 ครั้ง เริ่มตั้งแต่ภาคตะวันออก .ศรีราชา .ชลบุรี  ภาคใต้ .หาดใหญ่ .สงขลา และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ .ขอนแก่น ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ที่มาจัดขึ้นที่ภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ในระหว่างวันที่ 23-24 มิถุนายน 2560 ด้วยแนวคิด Creative Valley ที่มุ่งเน้นด้านนวัตกรรมสร้างสรรค์และปิดท้ายก็จะจัดที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร  ระหว่างวันที่ 6 - 9 กรกฎาคม 2560 ภายใต้แนวคิด Startup Thailand 2017 : SCALE UP ASIAวางเป้าหมายที่จะขยายฐานของสตาร์ทอัพโดยเริ่มต้นในระดับภูมิภาคอาเซียน จนไปถึงระดับเอเชีย

 

สำหรับกิจกรรมสำคัญที่จะเกิดขึ้นภายในงาน ตลอด 2 วันได้แก่Conference & Seminar: พบ กูรู และผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจสตาร์ทอัพมาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์แลกเปลี่ยนความรู้  Startup Showcase : การรวมตัวของเหล่าสตาร์ทอัพ มานำเสนอผลงานนวัตกรรม แนวคิด และการบริการที่สร้างสรรค์  Startup Ecosystem Showcase นิทรรศการที่รวบรวมกลุ่มผู้สนับสนุนทางธุรกิจภาคเอกชน นักลงทุน มหาวิทยาลัย และหน่วยสนับสนุน Startup Government Support : รวมบริการจากภาครัฐ เพื่อการสนับสนุนและการต่อยอดทางธุรกิจของสตาร์ทอัพและ Pitching Challenge:  กิจกรรมที่ค้นหาสุดยอดสตาร์ทอัพจากเวที Startup Thailand ภาคเหนือโดยที่เชียงใหม่มีทีม Startup Thailand Pitching Challenge เข้าร่วมแข่งขันทั้งสิ้น 11 ทีมและคัดเลือกผู้ชนะเข้าไปในรอบชิงชนะเลิศ Startup Thailand Grand Pitching Challenge ที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2560  รวมไปถึงการจัดการแข่งขัน Startup Thailand League ซึ่งเป็นการแข่งขันการประกวดโมเดลทางธุรกิจของนักศึกษามหาวิทยาลัย สำหรับที่เชียงใหม่มีการแข่งขันทั้งหมด โดยที่เชียงใหม่มีมหาวิทยาลัยส่งนักศึกษาเข้าร่วมแข่งขันทั้งสิ้น 50 ทีมและจะคัดผู้ชนะเลิศจากทั้ง 4 ภาคมาแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ในวันที่ 9 กรกฎาคม ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ เช่นเดียวกัน  รองศาสตราจารย์สรนิต กล่าวในที่สุด

 

 

ด้าน นายประจวบ กันธิยะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้กล่าวต้อนรับว่า ในนามของจังหวัดเชียงใหม่ ต้องขอขอบคุณกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้พิจารณาเลือกจัดงานStartup Thailand ที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งหลังจากงานStartup Thailand ในปีที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดกระแสตื่นตัวเรื่องสตาร์ทอัพอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการเติบโตของ Startup Ecosystemของภาคเหนือเป็นอย่างมาก 

 

นายประจวบ กล่าวเพิ่มเติมว่าจังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีความสวยงามทางวัฒนธรรม ผู้คนมีเสน่ห์ อัธยาศัยดีมีน้ำใจ เป็นแหล่งรวมงานศิลปะ หัตถกรรมและวัฒนธรรมที่ล้ำค่า อีกทั้งยังเป็นเมืองน่าอยู่และปลอดภัย มีสาธารณูปโภคสะดวกสบาย ค่าครองชีพไม่สูงมากนัก นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาด้านการแพทย์และเทคโนโลยี การบริการที่พัก อสังหาริมทรัพย์  รวมถึงการศึกษาที่มีคุณภาพทำให้ปัจจุบันมีกลุ่มชาวต่างชาติเข้ามาอยู่อาศัยแบบระยะยาว (Long Stay) มากขึ้น อันดับหนึ่งได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย เยอรมนี แคนนาดา และเนเธอร์แลนด์ รวมกว่า 20,000 คน”   ด้วยความพร้อมในทุกๆ ด้าน เชียงใหม่พร้อมเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษและเป็นศูนย์กลางความคิดสร้างสรรค์ พร้อมเป็นเมืองที่จะก่อให้เกิดการลงทุน การสร้างงานสร้างโอกาสได้อย่างแน่นอน และการจัดงานในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญของสตาร์ทอัพในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ ให้สามารถพัฒนาธุรกิจและสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางการตลาดได้  ตลอดจนแสดงถึงศักยภาพและขีดความสามารถของสตาร์ทอัพที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทยให้สามารถเติบโตในระดับสากลอีกด้วย


บันทึกโดย : วันที่ : 23 มิ.ย. 2560 เวลา : 23:06:58
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 7:04 pm