เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
กรมชลฯ สั่งทุกโครงการฯ พร้อมรับมือฝนตกหนักอีกระลอก 2 - 6 ต.ค. นี้


นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ กรมอุตุนิยมวิทยา และสถานบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ได้คาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 2 – 6 ตุลาคม 2560 บริเวณประเทศไทยจะมีฝนตกชุกหนาแน่น กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ และมีลมกระโชกแรงบางแห่ง โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทั้งนี้เนื่องจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง


สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ณ 3 ต.ค. 60 มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 56,574 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 9,303 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 32,755 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 64 สามารถรองรับน้ำได้อีก 18,644        ล้าน ลบ.ม. เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณน้ำรวมกัน 17,431 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 70 ของความจุอ่างฯรวมกัน ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 2,618 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้ 10,735 ล้าน ลบ.ม.      คิดเป็นร้อยละ 59 (ปี 2559 มีน้ำใช้การได้ 8,117 ล้าน ลบ.ม.) สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 7,440 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน(3 ต.ค. 60) มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 1,853 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 3.28 เมตร มีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 1,306   ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งบริเวณเหนือเขื่อนได้รับน้ำเข้าสู่คลองฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก รวมทั้ง 2 ฝั่งวันละประมาณ 560    ลบ.ม.ต่อวินาที ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำที่อยู่บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้เข้าระบบชลประทานให้มากที่สุดตามศักยภาพของพื้นที่  ก่อนจะกระจายน้ำบางส่วนไปเก็บไว้ในทุ่งแก้มลิงต่างๆ ตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพื่อลดปริมาณน้ำจำนวนมากที่จะไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่างของแม่น้ำเจ้าพระยา

ในส่วนของการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้น ในช่วงวันที่ 2 – 6 ต.ค. 60 กรมชลประทานได้ให้ทุกโครงการชลประทานทั่วประเทศ กำชับเจ้าหน้าในการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมกับให้ตรวจสอบระบบชลประทาน อาคารชลประทาน ให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้เต็มศักยภาพ ตามสถานการณ์น้ำที่เป็นจริงในแต่ละช่วงเวลา รวมทั้งบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัด สำหรับพื้นที่ที่เคยเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ ให้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องมืออื่นๆ เตรียมพร้อมไว้ด้วยแล้ว

ทั้งนี้ ได้ให้ทุกโครงการชลประทานรายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด รวมไปถึงฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชน ให้เตรียมรับสถานการณ์น้ำ พร้อมกับให้ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศที่อาจจะเกิดหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดด้วย

สำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่กรมชลประทานได้ส่งเสริมให้ทำการเพาะปลูกไปก่อนแล้วและอยู่ระหว่างเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อใช้เป็นพื้นที่รองรับน้ำหลาก นั้น ได้มอบหมายให้โครงการชลประทานในพื้นที่บูรณาการร่วมกับจังหวัด ฝ่ายความมั่นคงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปดำเนินการประชุมชี้แจงเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำต่างๆ ให้ชะลอการเพาะปลูกข้าวต่อเนื่อง โดยให้ไปทำการเพาะปลูกพร้อมกันในช่วงต้นฤดูแล้งปี 2560/61 นอกจากนี้ ยังได้ให้ทุกโครงการฯเตรียมความพร้อมทางด้านเครื่องจักร เครื่องมือ รถแบคโฮ/รถขุด รถเทรลเลอร์ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ และเครื่องผลักดันน้ำ ในบริเวณพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ เพื่อให้สามารถนำไปช่วยเหลือประชาชน เมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วมได้อย่างทันท่วงที       จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนอย่างใกล้ชิดด้วย    

 

LastUpdate 03/10/2560 15:00:46 โดย : Admin
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 5:54 am