การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในปี 2561 โดยเฉพาะเมื่อรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานสั่งให้คณะกรรมการไตรภาคีหารือให้จบภายในวันที่ 15 ม.ค. นี้
โดย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ได้สั่งการให้เรียกประชุมคณะกรรมการพิจารณาค่าจ้าง 3 ฝ่าย หรือ (ไตรภาคี) ชุดใหญ่ ซึ่งมีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน เพื่อหารือเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำภายในวันที่ 15 ม.ค.นี้ โดยค่าแรงที่ปรับเพิ่มจะมีผลทันทีในสิ้นเดือน ม.ค. ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นของขวัญปีใหม่แก่ผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ
นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ไทยไม่ได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว แม้ปีที่ผ่านมาอาจปรับขึ้นเป็น 310 บาท แต่ปรับเพียง 30 จังหวัดเท่านั้น ซึ่งรอบนี้จะพิจารณาปรับขึ้นทั่วประเทศ โดยหัวใจสำคัญต้องการเพิ่มสัดส่วนแรงงานไทยให้เข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น รวมถึงจะกำหนดอัตราค่าแรงเป็นรายชั่วโมงในลักษณะงานพิเศษที่สามารถจ้างผู้สูงอายุ คนพิการ และพนักงานทั่วไปหลังเลิกงานประจำ มาทำงานรายชั่วโมงได้อีก เป็นการเปิดโอกาสคนไทยมีช่องทางหารายได้เพิ่ม
ส่วนอัตราที่บอร์ดค่าจ้างไตรภาคีเคยพิจารณาคือ ปรับขึ้นระหว่าง 2-15 บาท ซึ่งอาจขึ้นมากกว่า 15 บาท
ขณะเดียวกันก็มีเสียงเตือนจากอธิบดีกรมการค้าภายใน นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ที่ระบุว่า ผู้ประกอบการไม่ควรฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้าโดยไม่มีเหตุผลอันควร เพราะหากขึ้นค่าแรง 15 บาทต่อวัน ถือว่าไม่มาก และหากมีการฉวยโอกาสขึ้นราคาไม่สมเหตุผล มีโทษจำคุก 7 ปี ปรับ 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนเสียงสะท้อนจากภาคเอกชน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ควรพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อ พื้นที่ตั้งของอุตสาหกรรม ตลอดจนประสิทธิภาพของแรงงานร่วมด้วย ไม่ควรปรับขึ้นเป็นอัตราเดียวกันทั้งประเทศ แต่หากไตรภาคีเห็นชอบแล้วก็ต้องปฏิบัติตาม
นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย ระบุว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะมีผลกระทบต่อกลุ่ม ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เนื่องจากปัจจุบันส่วนใหญ่จ่ายค่าแรงสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว ดังนั้นภาครัฐควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกธุรกิจมากกว่า
สำหรับสถานการค่าแรงทั่วโลก คอร์น เฟอร์รี่ บริษัทวิจัยด้านทรัพยากรมนุษย์จากสหรัฐ เปิดเผยผลการสำรวจบริษัท 2.5 หมื่นแห่งทั่วโลก พบว่ากลุ่มประเทศเอเชียจะมีการปรับขึ้นค่าแรงมากที่สุดในปี 2561 ที่ระดับ 5.4% เมื่อเทียบกับอัตราการปรับขึ้นเฉลี่ยทั่วโลกที่ 1.5% เนื่องจากเศรษฐกิจในเอเชียมีความแข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ข่าวเด่น