วิทยาศาสตร์
ก.วิทย์ฯ-สวทช. ปลดล็อกธุรกิจวิจัย เสริมแกร่งอุตสาหกรรม


ห้องแกรนด์ฮอล์ ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย .ปทุมธานี: กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดงานเสวนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพของประเทศหรือ Characterization and Testing services @ Thailand Science Park เพื่อปลดล็อกธุรกิจด้วยการให้บริการวิเคราะห์ ทดสอบ และให้การรับรอง พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ และหน่วยบริการวิเคราะห์ ทดสอบ และให้การรับรองในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ด้วยเครื่องมือทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยและได้มาตรฐานสากล โดยมี นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธาน พร้อมด้วย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการธุรกิจวิจัยจากอุตสาหกรรมต่างๆ       เข้าร่วมงานกว่า 200 คน 

 

 

นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มุ่งมั่นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการวิจัยและพัฒนา พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมที่มีความทันสมัยของประเทศ           ซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้แก่ การพัฒนาศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การพัฒนาอุทยานวิทยาศาสตร์ รวมทั้งการพัฒนาระบบการให้บริการเทคนิคด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งสิ่งที่มีความสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ คือ โครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพของประเทศ หรือ National Quality Infrastructure (NQI) ซึ่ง NQI ถือเป็นกลไกสำคัญต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ ไม่น้อยไปกว่าการคิดค้นวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ทั้งนี้การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ที่มีเทคโนโลยีเป็นฐาน รัฐบาลจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพควบคู่ไปกับการส่งเสริมการลงทุน เพื่อนำงานวิจัยออกมาสร้างอุตสาหกรรม ซึ่งการที่ สวทช. สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (วว.) กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.)  สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) และหน่วยงานต่างๆ ทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย เพื่อพัฒนา NQI ให้ทันต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม ช่วยให้ผลงานวิจัยและธุรกิจวิจัยก้าวพ้นหุบเหวมรณะ ที่งานวิจัยไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์เพราะขาดมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ เปลี่ยนไปสู่การนำงานวิจัยทั้งสินค้าและบริการออกมาขายได้จริงในเชิงพาณิชย์ จาการสร้างมาตรฐาน การให้บริการวิเคราะห์ ทดสอบ และให้การรับรอง ด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพของประเทศ ที่ได้มาตรฐานสากล จะช่วยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้าน วทน. ให้กับประเทศอย่างแท้จริง 

 



ทั้งนี้ในปี 2562 – 2566 กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีแผนจะลงทุนพัฒนาความสามารถด้าน NQI ให้มากขึ้น เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายและประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 ได้ในที่สุด

 

 

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. และภาคเอกชนในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย รวมถึงเครือข่ายและพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นในด้านการวิเคราะห์ทดสอบผลิตภัณฑ์และมาตรฐานชิ้นงาน จึงได้พัฒนาบริการวิเคราะห์ทดสอบเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย และการตรวจประเมินให้การรับรองที่ได้มาตรฐานสากลให้กับภาคเอกชนและหน่วยงานของรัฐ ทั้งมาตรฐาน ISO มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และมาตรฐานเฉพาะทางอื่นๆ โดย สวทช. มีเครื่องมือวิเคราะห์ทดสอบขนาดใหญ่เพื่อรองรับการวิเคราะห์ทดสอบงานวิจัยและพัฒนาครอบคลุมหลายอุตสาหกรรม เช่น การทดสอบ   แบตเตอรี่แพค การจัดการแบตเตอรี่ การรีไซเคิลแบตเตอรี่      ระบบมอเตอร์ รวมถึงกระบวนการผลิตแบบดิจิทัล  เป็นต้น

 

 

นอกจากนั้นแล้ว สวทช. ยังเป็นหน่วยหลักที่ทำงานร่วมกับภาครัฐ ทั้งกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการตรวจสอบโครงการต่างๆ เพื่อให้การรับรองว่า โครงการที่ผ่านการรับรองจาก สวทช. เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนา และเป็นโครงการลงทุนที่ส่งเสริมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศอย่างแท้จริง เพื่อให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ภาครัฐให้การสนับสนุนตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา 

 

 

อย่างไรก็ตามงานเสวนานี้ นอกจากผู้ฟังจะทราบถึงบทบาทของ สวทช. และภาคเอกชนในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย รวมทั้งทราบแนวทางการดำเนินงานในอนาคตของ NQI เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจวิจัย ภาคสังคม และประชาชนมากขึ้นแล้ว ในโอกาสนี้ สวทช. ยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการและหน่วยบริการวิเคราะห์ ทดสอบ ที่ทันสมัยในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ซึ่งถือเป็นประชาคมวิจัยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศด้วย อาทิ กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน วัสดุศาสตร์ และอิเล็กทรอนิกส์ เยี่ยมชม ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) กลุ่มเกษตรอาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ เยี่ยมชม บริษัท ศูนย์วิทยาศาสตร์เบทาโกร จำกัด บริษัท ทูฟ ซูด (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการธุรกิจวิจัย ได้รู้จักและใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพของประเทศ ซึ่งเปิดให้บริการ 7 วัน 24 ชั่วโมง เป็นการช่วยผู้ประกอบการภาครัฐภาคเอกชน ลดค่าใช้จ่ายการส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบต่างประเทศ สนับสนุนการวิจัยที่มีมูลค่าสูง ยกระดับคุณภาพความปลอดภัยของสินค้า เพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการไทยในการแข่งขันและผลักดันให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป


LastUpdate 25/01/2561 19:36:24 โดย : Admin
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 8:39 am