เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ธปท.เตรียมเพิ่มมาตรการคุมเข้ม 'บาท'


 เงินบาทที่ปรับแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง  จนอาจส่งผลกระทบต่อพื้นฐานเศรษฐกิจไทย ซึ่งแม้จะเป็นผลจากปัจจัยภายนอกประเทศ   แต่ล่าสุดก็มีการแสดงความเป็นห่วงถึงการแข็งค่าของเงินบาทจากธนาคารแห่งประเทศไทย  โดยนายวิรไท  สันติประภพ   ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า  ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา   เงินดอลลาร์สหรัฐฯได้อ่อนค่าลงอย่างรุนแรง ส่งผลให้เงินสกุลต่างๆ ในภูมิภาครวมทั้งเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว  

 

 


 

ซึ่ง ธปท.กังวลว่า หากเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง อาจกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงได้ ธปท. จึงจะยกระดับการดูแลและเพิ่มความเข้มงวดในการติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด พร้อมทบทวนมาตรการเพิ่มเติมหากเห็นว่าการเคลื่อนไหวของค่าเงินผิดปกติ  โดยสามารถปรับเปลี่ยนมาตรการเพิ่มเติมสำหรับมาตรการป้องกันและปราบปรามการเก็งกำไรค่าเงิน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ธปท.พบว่า มีสถาบันการเงินในประเทศไทยบางแห่ง มีพฤติกรรมเอื้อให้ลูกค้าทำผิดเกณฑ์ของมาตรการป้องกันและปราบปรามการเก็งกำไรค่าเงิน  ได้กำชับสถาบันการเงินให้มีความเข้มงวดการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้นว่าผิดหลักการหรือไม่ โดยเฉพาะช่วงที่มีธุรกรรมหนาแน่น   โดยขณะนี้ ธปท.ได้ติดตามการทำธุรกรรมของสถาบันการเงินอย่างใกล้ชิดว่า ยังคงมีพฤติกรรมในลักษณะเดิมต่อเนื่องหรือไม่  ซึ่งหาก ธปท.พบว่ามีความผิดปกติจะแจ้งข้อมูลให้ทราบต่อไป

แต่ในขณะนี้คงยังไม่สามารถบอกได้ว่า การยกระดับการดูแลและเพิ่มความเข้มงวดจะออกมาเป็นอย่างไร  แต่ที่ชัดเจนคือ ธปท.ติดตามการเคลื่อนไหวของการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ และการเคลื่อนไหวของเงินบาทในระดับที่ใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อดูแลความผันผวนที่เกิดขึ้น และหากจำเป็นที่ต้องมีมาตรการใดๆออกมาเพื่อช่วยดูแลเพิ่มขึ้น ธปท.จะประกาศในทราบเป็นระยะๆต่อไป

ผู้ว่าการ ธปท. ยอมรับว่า ค่าเงินเปรียบเสมือน เหรียญที่มี 2 ด้าน มีทั้งผลกระทบด้านบวกและลบ กระทบผลประโยชน์ของคนหลายกลุ่ม   การทำนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท มีทั้งคนได้ประโยชน์และเสียประโยชน์   ดังนั้น วิธีที่จะดูแล คือจะไม่มองผลระยะสั้นมากเกินไป แต่ต้องมองใน ระยะไกลและมองผลประโยชน์โดยรวมเป็นหลัก   จะไม่อิงกับประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง   ดังนั้น ภาคเอกชนต้องบริหารจัดการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนที่จะเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น ควรพิจารณาลดสัดส่วนการตั้งราคาสินค้าด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมีความผันผวนสูง  แต่เรามีการส่งออกไปยังสหรัฐฯมีสัดส่วนเพียง 10-11% ของการส่งออกรวม โดยขณะนี้เริ่มเห็นการใช้เงินสกุลท้องถิ่น เงินสกุลบาท หรือสกุลที่ใช้ขายสินค้า เช่น เงินยูโร ในการตั้งราคาขายมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบความผันผวนของดอลลาร์สหรัฐฯ

ขณะที่อดีตผู้ว่าการธปท. นายประสาร   ไตรรัตน์วรกุล  กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องมาจากปัจจัยภายนอก คือเงินดอลลาร์สหรัฐผันผวนในระยะสั้น จากคำสัมภาษณ์ของประธานาธิบดีสหรัฐและรัฐมนตรีคลังสหรัฐที่ไม่สอดคล้องกัน  ซึ่งเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลใหญ่ เมื่อมีความผันผวนย่อมกระทบต่อเงินสกุลทั่วโลก   ดังนั้นเงินดอลลาร์สหรัฐมีโอกาสเคลื่อนไหวทั้ง 2 ทิศทางทั้งแข็งค่า และ อ่อนค่า ซึ่งนักลงทุนที่จะเก็งกำไรค่าเงินต้องระมัดระวัง อาจมีความเสี่ยงได้

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยในประเทศจากการที่ประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง ทำให้เงินบาทแข็งค่าค่อนข้างเร็ว  ซึ่งธปท. มีนโยบายดูแลไม่ให้เงินบาทผันผวนเกินไปจนกระทบต่อภาคธุรกิจ


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 ม.ค. 2561 เวลา : 10:04:25
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 8:29 pm