แบงก์-นอนแบงก์
EXIM BANK ชูนโยบายพัฒนาผลิตภัณฑ์ส่งเสริมการค้าการลงทุนใน CLMV และสร้างผู้ส่งออก SMEs ให้เข้มแข็ง


EXIM BANK เดินหน้าขับเคลื่อนองค์กรและเศรษฐกิจไทย เป้าหมายปี 61 เร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ตอบรับทิศทางเศรษฐกิจการค้าโลกที่มุ่งสู่ตลาดใหม่ การลงทุนของไทยในต่างประเทศขยายตัวขึ้น และการเติบโตของภาคธุรกิจอย่างยั่งยืนต้องนำด้วยนวัตกรรม พร้อมนำผู้ประกอบการไทยรุกขยายการค้าการลงทุนในตลาด CLMV และต่อยอดพัฒนาผู้ส่งออกและนักลงทุน SMEs ไทยให้มีศักยภาพในการแข่งขัน พร้อมนำเสนอบริการใหม่สร้างผู้ส่งออก SMEs รายใหม่ ช่วย SMEs ที่ไม่มีหลักประกันให้เริ่มต้นส่งออกได้ด้วยสินเชื่อส่งออกสุขใจวงเงินสูงสุด 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 4.50% ต่อปีในปีแรกสำหรับนิติบุคคลบัญชีเดียวตามนโยบายรัฐบาล

 


 

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การค้าโลกมุ่งสู่ตลาดใหม่ที่เรียกว่า New Frontiers โดยเศรษฐกิจตลาดใหม่ในปี 2560 มีสัดส่วนกว่า 50% เทียบกับประมาณ 20% ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา EXIM  BANK จึงมีเป้าหมายขยายสินเชื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดใหม่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะ CLMV ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่สำคัญของไทย ด้วยมูลค่าส่งออกที่ขยายตัวเฉลี่ย 13% ต่อปี จาก 260,000 ล้านบาทในปี 2550 เป็น 850,000 ล้านบาทในปี 2560 

ขณะเดียวกัน ทิศทางเศรษฐกิจโลกในปัจุบันใช้การลงทุนนำการค้า ทำให้เกิดการขยายการลงทุนในต่างประเทศเพื่อสร้างฐานการผลิตและตลาดการค้าแห่งใหม่ ผู้ประกอบการไทยจึงต้องปรับตัวให้ทัน EXIM BANK จึงพร้อมให้สินเชื่อขยายการลงทุนของผู้ประกอบการไทยใน CLMV ต่อยอดเม็ดเงินลงทุนของผู้ประกอบการไทยในตลาดดังกล่าว ซึ่งขยายตัวเฉลี่ย 30% ต่อปี จากยอดคงค้างเงินลงทุนของไทยใน CLMV ที่ 33,000 ล้านบาทในปี 2550 เป็น 470,000 ล้านบาทในไตรมาส 3 ของปี 2560

 

 

 

นอกจากนี้ เมื่อการเติบโตของภาคธุรกิจอย่างยั่งยืนต้องนำด้วยนวัตกรรม EXIM BANK จึงเร่งขยายเครือข่ายพันธมิตร ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดโครงการและช่องทางใหม่ๆ ที่จะสนับสนุนด้านข้อมูลความรู้และบริการทางการเงินให้ SMEs ที่มีศักยภาพสามารถพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตสินค้าและบริการ เพื่อต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยและแข่งขันในเวทีการค้าระหว่างประเทศได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว รวมทั้งปิดช่องว่างในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ SMEs ที่พร้อมเริ่มต้นส่งออกให้สามารถเข้าสู่ ตลาดการค้าโลกได้ เพื่อสร้างฐานรากเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่ง ทั้งนี้ EXIM BANK มีโครงการนำร่องด้านนวัตกรรม อาทิ การให้บริการประกันการส่งออกออนไลน์ การทบทวนวงเงินสินเชื่อออนไลน์ และการพัฒนาธุรกรรมออนไลน์
 

ในปี 2561 EXIM BANK ได้พัฒนาบริการใหม่สินเชื่อส่งออกสุขใจ (EXIM Happy Credit)” เป็นบริการสินเชื่อหมุนเวียน พร้อมวงเงินสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract) วงเงินสูงสุด 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 4.50% ต่อปีในปีแรกสำหรับนิติบุคคลบัญชีเดียวตามนโยบายรัฐบาล อนุมัติภายใน 7 วันทำการ ไม่ต้องมีหลักประกัน ใช้เพียงบุคคลค้ำประกันเท่านั้น เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่ไม่มีหลักประกันสามารถเริ่มต้นส่งออกได้ โดยมีเป้าหมายอนุมัติวงเงินให้แก่ผู้ส่งออก SMEs รายใหม่จำนวน 750 รายภายในปี 2561 

 

นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า จากปี 2560 ที่ EXIM BANK ได้ดำเนินงานตามแผนแม่บท 10 ปี (ปี 2560-2570) โดยสอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 แผนยุทธศาสตร์ 20 ปีของประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (ปี 2560-2564) และแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจสาขาสถาบันการเงิน ผลการดำเนินงานของ EXIM BANK ปี 2560 มีกำไรสุทธิ 1,360 ล้านบาท โดย สิ้นเดือนธันวาคม 2560 มีเงินให้สินเชื่อคงค้างจำนวน 91,886 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก สิ้นปี 2559 จำนวน 8,717 ล้านบาท เป็นสินเชื่อใหม่ที่เบิกจ่ายเพิ่มขึ้นในระหว่างปีจำนวน 27,331 ล้านบาท และมีการชำระคืนของสินเชื่อเดิมบางส่วน ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ (Business Turnover) 159,948 ล้านบาท 

 

 

นอกจากนี้ EXIM BANK ได้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ที่มีศักยภาพให้แข่งขันได้มากขึ้นทั้งทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดยมีปริมาณธุรกิจของ SMEs เท่ากับ 99,612 ล้านบาท และมีเงินให้สินเชื่อคงค้างแก่ SMEs เท่ากับ 37,141 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,110 ล้านบาท หรือ 6.02% เมื่อเทียบกับปีก่อน

 

 

อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคาร (NPL Ratio) สิ้นเดือนธันวาคม 2560 อยู่ที่ 3.57% เท่ากับปีก่อน โดยมีสินเชื่อด้อยคุณภาพ จำนวน 3,285 ล้านบาท และมีเงินสำรองหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 7,949 ล้านบาท เป็นสำรองหนี้พึงกันตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 3,493 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินสำรองที่กันไว้แล้วต่อสำรองหนี้พึงกัน 227.53% ทำให้ธนาคารยังคงดำรงฐานะการเงินที่มั่นคง 

 

 

ในการทำหน้าที่องค์กรรับประกัน ให้บริการประกันการส่งออกเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินจากคู่ค้าในต่างประเทศ ช่วยเพิ่มความมั่นใจและความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย ทั้งในตลาดการค้าเดิมและตลาดใหม่ ในปี 2560 EXIM BANK มีปริมาณธุรกิจด้านการรับประกันการส่งออกและประกันความเสี่ยงการลงทุน เท่ากับ 65,903 ล้านบาท โดย 12,883 ล้านบาทเป็นธุรกิจส่งออกของ SMEs หรือ 19.55% ของปริมาณธุรกิจสะสมรวม 

สำหรับการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการขยายฐานการค้าและการลงทุนไปยังต่างประเทศ ปัจจุบัน EXIM BANK มีวงเงินที่ให้การสนับสนุนแก่สินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวมทั้งสิ้น 67,160 ล้านบาท และมีเงินให้สินเชื่อคงค้าง สิ้นปี 2560 จำนวน 36,216 ล้านบาท อีกทั้ง EXIM BANK ยังมุ่งเน้นการขยายฐานการค้าและการลงทุนในตลาดใหม่อย่าง CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) โดยในเดือนมิถุนายน 2560 EXIM BANK ได้เปิดสำนักงานผู้แทนในย่างกุ้ง เมียนมา และ EXIM BANK มีแผนจะเปิดสำนักงานตัวแทนใน สปป.ลาว และกัมพูชาต่อไป

 

 

ในปี 2561 EXIM BANK ยังคงมีบทบาทในเชิงรุกขยายสินเชื่อเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายสินเชื่อคงค้างโต 9% เป็น 100,000 ล้านบาท และเร่งขยายบริการประกันส่งออกและการลงทุนเพื่อให้ผู้ส่งออกใช้เป็นเครื่องมือบุกตลาดอย่างมั่นใจ ผ่านช่องทางออนไลน์และช่องทางใหม่ๆ โดยความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องที่จะกระตุ้นให้เกิดปริมาณธุรกิจระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้นนายพิศิษฐ์กล่าว 

 

 

นายพิศิษฐ์กล่าวว่า เมื่อปัจจุบันบริบทโลกเปลี่ยน  ตลาดหลักเริ่มแผ่วลง เอ็กซิมแบงก์จึงต้องปรับบริบทมุ่งสู่ตลาดใหม่ โดยเฉพาะตลาด CLMV ซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญของไทย โดยจะมุ่งเน้นกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs เป็นหลักในภาคบริการ และก่อสร้างที่มีอัตราการเติบโตที่ดี ยอดสินเชื่อเพิ่มขึ้นจาก 800 ล้านบาท เป็น 1,000 ล้านบาทในปัจจุบัน หรือเติบโตถึง 23%

นอกจากนี้ เอ็กซิมแบงก์จะมุ่งสนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อเกื้อหนุนการส่งออกให้เติบโตต่อเนื่อง เพราะจะมุ่งหวังการเติบโตในประเทศอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ รวมทั้งในปีนี้เอ็กซิมแบงก์ต้องมุ่งในการพัฒนานวัตกรรมและการบริการใหม่ๆ ด้วยความเชื่อที่ว่า การเติบโตอย่างยั่งยืนต้องนำด้วยนวัตกรรมโดย ในช่วงต้นปี 2561 นี้ ได้ออก "สินเชื่อส่งออกสุขใจ" หรือ EXIM Happy  Credit  ซึ่งเป็นสินเชื่อหมุนเวียนเพื่อการส่งออก พร้อมวงเงินสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า ด้วยวงเงินสูงสุด 500,000 บาทต่อราย และได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 4.50% ต่อปีในปีแรก ซึ่งจะได้อนุมัติภายใน 7 วัน และไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ใช่เพียงบุคคลค้ำประกันเท่านั้น

สำหรับเป้าหมายสินเชื่อคงค้างในปี  2561 นี้ นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า  ตั้งเป้าไว้ที่ 100,000 ล้านบาท หรือเติบโต 9% โดยเป็นยอดสินเชื่อใหม่ 47,000 ล้านบาท จากปี 2560 ที่มีสินเชื่อคงค้าง 91,886 ล้านบาท และปี 2559 ที่ 83,169 ล้านบาท และปี 2558 ที่ 73,540 ล้านบาท

 

"ปี 2561 ตั้งเป้าการเติบโตของกำไรสุทธิไว้ 4-5% จากปี 2560 ที่มีกำไรสุทธิ 1,360 ล้านบาท เติบโต 4.32% หรือเพิ่มขึ้น 56 ล้านบาท จากปี 2559 ที่กำไรสุทธิ 1,304 ล้านบาท" นายพิศิษฐ์กล่าว

 


LastUpdate 08/02/2561 23:23:36 โดย : Admin
07-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 7, 2024, 5:33 am