ข่าวประชาสัมพันธ์
ขบ. ร่วมกับ กรมการแพทย์ และสถาบันประสาทวิทยา จัดเสวนาเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคลมชัก


ห้องประชุมอาคาร 6 ชั้น 7กรมการขนส่งทางบก จตุจักร นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบกและนายแพทย์ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เป็นประธานเปิด   การเสวนาเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคลมชัก เนื่องในวันลมชักโรค ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่วิทยากรอบรมผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถ ผู้ฝึกสอนขับรถจากโรงเรียนสอนขับรถที่กรมการขนส่งทางบกให้การรับรอง

 

 

นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้ป่วยโรคลมชักส่วนใหญ่ยังคงขับขี่รถบน    ท้องถนน โดยขาดความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงอันตราย เป็นเหตุให้มีการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ประกอบกับยังไม่มีกฎหมายข้อบังคับไม่ให้ผู้ป่วยโรคลมชักที่ยังควบคุมอาการชักไม่ได้ขับรถ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องกรมการขนส่งทางบกในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่พิจารณาให้ใบอนุญาตขับรถ และให้ความรู้แก่ผู้ขอรับและต่ออายุใบอนุญาตขับรถทุกประเภท จึงให้ความร่วมมือกับกรมการแพทย์ และสถาบันประสาทวิทยา

 

 

เพื่อจัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคลมชักให้แก่ผู้ทำหน้าที่อบรมผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่วิทยากรอบรมผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถ ผู้ฝึกสอนขับรถจากโรงเรียนสอนขับรถที่กรมการขนส่งทางบกให้การรับรอง และบุคลากรของกรมการขนส่งทางบกในทุกกระบวนการที่เกี่ยวกับใบอนุญาต  ขับรถทุกประเภท เพื่อให้มีความเข้าใจอาการของโรคลมชัก รับรู้ถึงอันตราย ความเสี่ยงของโรคลมชัก การให้ความช่วยเหลือปฐมพยาบาลผู้ป่วยเบื้องต้น

 

 

และนำไปถ่ายทอดให้แก่ผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถ หรือสอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับโรคลมชัก ในชั่วโมงอบรมภาคทฤษฏีที่ผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถทุกประเภทต้องผ่านการอบรมตามที่กรมการขนส่งทางบก ซึ่งจะเป็นมาตรการหนึ่งที่จะสร้างความตระหนักให้กับผู้ขับรถในการดูแลป้องกันตนเองและผู้ใกล้ชิดที่มีอาการของโรคลมชัก รวมถึงสามารถป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดจากผู้ป่วยที่มีอาการลมชักขณะขับรถได้

 

 

รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนการกำหนดให้โรคลมชักเป็นหนึ่งในโรคในกลุ่มเสี่ยงที่อาจเป็นอันตรายต่อการขับรถนั้น ยังอยู่ในระหว่างการหารือร่วมกับระหว่างกรมการขนส่งทางบกและแพทยสภาเพื่อปรับปรุง        ร่างกฎกระทรวงเพื่อกำหนดรายละเอียดของใบรับรองแพทย์ให้สามารถกลั่นกรองผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถ สำหรับโรคใน    กลุ่มเสี่ยงอาจให้มีการกำหนดเพิ่มเติม เช่น โรคเบาหวานระยะที่ต้องฉีดอินซูลิน โรคความดันโลหิตสูง โรคลมบ้าหมูหรือลมชัก ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดทางสมอง ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายที่ผ่านการผ่าตัดหัวใจหรือขยายเส้นเลือดหัวใจซึ่งแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าเป็นอุปสรรคต่อการขับรถ เป็นต้น เพื่อการคัดกรองผู้ขับรถที่มีความรู้และทักษะการขับรถได้อย่างถูกต้องปลอดภัยและไม่เป็นภัยอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนนรายอื่น


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 12 ก.พ. 2561 เวลา : 12:15:13
30-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 30, 2024, 8:14 am