การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
กรมสุขภาพจิต เผยแม่วัยใสคลอดลูก 'ชม.ละ 11คน' แนะ 7 ข้อที่แม่วัยรุ่นควรทำ เตือน!! 14 ข้อ ที่ไม่ควรทำกับลูก


กรมสุขภาพจิต เผยในปี 2559 มีเด็กคลอดจากแม่วัยใสอายุ 10-19 ปี 94,584 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 11 คน จัดทำคู่มือการดูแลเด็กให้เติบโตอย่างมีคุณภาพทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม อารมณ์และสติปัญญา   พร้อมแนะแม่วัยรุ่นควรใช้ 7 วิธีการเลี้ยงลูก อาทิอารมณ์ดีเมื่ออยู่กับลูก และย้ำเตือน 14 ข้อที่ไม่ควรทำกับลูก อาทิ การใช้อารมณ์ ใช้ความรุนแรงกับลูก  ชี้จะมีผลต่อเด็ก ใช้พฤติกรรมก้าวร้าวกับคนอื่นเมื่อโตขึ้น และใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา

 

 

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า กรมสุขภาพจิตห่วงใยปัญหาเด็กที่เกิดจากวัยรุ่นตั้งครรภ์ ข้อมูลกรมอนามัยล่าสุดในปี 2559 รายงานมีวัยรุ่นอายุ 10-19 ปีคลอดลูก 94,584 คน คิดเป็นร้อยละ 14 ของหญิงคลอดทั้งหมดที่มี 666,207 คน เฉลี่ยทุก 1 ชั่วโมงจะมีเด็กเกิดจากแม่วัยใส 11 คน ผลการศึกษาวิจัยทั้งในและต่างประเทศยืนยันตรงกันว่าลูกที่เกิดจากแม่วัยรุ่นจะมีความเสี่ยงทั้งด้านสุขภาพ พัฒนาการ จิตใจ และสังคม เนื่องจากความไม่พร้อมของแม่ กรมสุขภาพจิตจึงได้ให้สำนักส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต พัฒนาคู่มือการดูแลเด็กปฐมวัยจากแม่วัยรุ่น เพื่อให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพที่สุดเหมือนเด็กทุกคน  ขณะนี้ได้แจกจ่ายให้บุคลากรหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศทั้งโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต. เทศบาลและอสม. ใช้เป็นแนวทางต้นแบบช่วยเหลือแม่วัยรุ่นตั้งแต่ตั้งครรภ์จนกระทั่งหลังคลอด และดูแลลูกที่อยู่ในวัย 0-5 ขวบ ช่วยให้แม่วัยรุ่นเลี้ยงลูกได้ดีขึ้น  เด็กได้รับการพัฒนาครบทุกด้าน มีศักยภาพความสามารถไม่ต่างจากเด็กทั่วไป 

 “เด็กอายุ 0-5 ขวบ ถือเป็นวัยทองของการพัฒนาทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม อารมณ์และสติปัญญา เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปลูกฝังการควบคุมอารมณ์ การเลี้ยงดูเด็กวัยนี้จึงมีความสำคัญอย่างมาก หากเด็กได้รับการเลี้ยงดูที่มีคุณภาพ เด็กจะเติบโตได้ดี เซลล์สมองของเด็กที่มีประมาณ 100 พันล้านเซลล์ จะเติบโตทั้งขนาดและจำนวนเท่ากับเซลล์สมองผู้ใหญ่ถึงร้อยละ 90  เซลล์ประสาทจะพัฒนาสานต่อกันได้อย่างรวดเร็ว  และเมื่อเด็กอายุ 3 ขวบจะมีจุดสานต่อของเซลล์ประสาทมากกว่าช่วงแรกเกิดถึง 20 เท่าตัว ซึ่งสูงที่สุดในชีวิตและส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กอธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

ทางด้านนางสุดา  วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กล่าวว่าการจัดทำคู่มือฯดังกล่าว ได้รวบรวมผลการวิจัยทั้งในและต่างประเทศ การระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุขและผู้ที่มีประสบการณ์ตรงในการดูแลเด็กปฐมวัยและแม่วัยรุ่นในชุมชน โดยดูแลช่วยเหลือครอบคลุมแม่วัยรุ่น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่ครอบครัวยอมรับ กลุ่มนี้เด็กจะได้รับการเลี้ยงดูดีกว่ากลุ่มอื่น กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่ไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัว ไม่มีงานทำ ต้องออกจากโรงเรียน มีความเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพจิต บุคลากรสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องควรเข้าไปดูแลช่วยเหลือ และกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงทุกด้าน เช่นลูกพัฒนาการไม่สมวัย แม่ดื่มสุราติดสารเสพติด ครอบครัวยากจนไม่มีใครดูแล แม่มีปัญหาสุขภาพจิต จัดอยู่ในประเภทไอซียู บุคลากรสาธารณสุขและภาคีเครือข่าย ต้องให้การช่วยเหลือใกล้ชิด สนับสนุนด้านที่มีความจำเป็นและติดตามดูแลต่อเนื่อง  เพื่อช่วยให้แม่วัยรุ่นสามารถเลี้ยงลูกได้ดีขึ้น 

ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมฯกล่าวต่อว่า  สิ่งที่แม่วัยรุ่นและครอบครัวควรทำเพื่อให้ลูกเจริญเติบโตตามวัย มี 7 ประการได้แก่ 1.ดูแลความปลอดภัยของลูก 2.อารมณ์ดีเมื่ออยู่กับลูก หากเหนื่อยหรือเครียดควรพักผ่อน หรือทำอารมณ์ให้สงบก่อน  3.ให้ลูกทำสิ่งที่ทำเองได้ตามวัย เช่นจับขวดนม แต่งตัว กินข้าวอาบน้ำ ฝึกให้ลูกทำสม่ำเสมอ จะทำให้ลูกมีวินัย ภาคภูมิใจในตัวเองและแบ่งเบาภาระพ่อแม่ได้  4. ดูแลสุขภาพลูก พาลูกไปพบหมอตามนัด 5.ฝึกให้ลูกเคารพสิทธิผู้อื่น เช่น ขออนุญาตเมื่อหยิบของผู้อื่น ไม่ทำร้ายหรือแย่งของผู้อื่น 6.พูดคุยกับลูก สอนวิธีการที่ถูกต้องเมื่อลูกทำผิด และ7.วางแผนอนาคตเพื่อลูกและใช้จ่ายเงินอย่างประหยัด

สิ่งที่แม่วัยรุ่นและครอบครัวไม่ควรทำกับลูกเป็นอย่างยิ่งมี 14 ประการได้แก่ 1.ไม่ควรจับลูกเล็กเขย่าโยน เนื่องจากอาจทำให้สมองเด็กกระทบกระเทือนง่าย  เพราะเส้นเลือดในสมองยังไม่แข็งแรง อาจแตก เสี่ยงเสียชีวิต หรือเกิดอาการชักหรือตาบอดได้  2. ละเว้นการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ใช้ยาเสพติด 3. ไม่ควรทำให้ลูกเสี่ยงอันตราย เช่นอุ้มลูกขณะถือของร้อน ปล่อยลูกให้อยู่คนเดียว  4. ไม่ควรทะเลาะเบาะแว้งกันให้ลูกเห็น 5. ไม่ควรใช้ความรุนแรงกับลูก    6. ไม่ควรทำแทนลูกทุกอย่าง  7.ไม่สนใจความเป็นอยู่ของลูก หงุดหงิดด่าว่าเมื่อลูกป่วย    8. ไม่ควรให้ลูกกิน-นอนหลับไม่เป็นเวลา  9. ไม่ควรพาลูกไปทุกที่เช่นเมื่อไปดื่มสุรากับเพื่อนฝูง 10. ไม่ควรเลี้ยงลูกหน้าจอทีวี  ปล่อยลูกเล่นมือถือแทปเล็ตทั้งวัน 11.ไม่ควรสนับสนุนให้ลูกเอาเปรียบคนอื่น  หรือโกหก ใช้คำพูดหรือท่าทางก้าวร้าว 12.ไม่มีแผนการให้ลูก เลี้ยงลูกแบบคนพิเศษ ซื้อของฟุ่มเฟือยให้ลูกใช้ 13.ไม่ควรใช้เงินทดแทนความรู้สึกผิดที่ไม่มีเวลาให้กับลูก และ14.ไม่ใช้อารมณ์ความรุนแรงเลี้ยงลูก เนื่องจากเด็กสามารถซึมซับเกิดเคยชินกับพฤติกรรมของพ่อแม่  ใช้นิสัยพฤติกรรมก้าวร้าวกับคนอื่นเมื่อโตขึ้นและใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา

ปัจจัยที่ทำให้แม่วัยรุ่นและครอบครัวสามารถเลี้ยงลูกได้ดีมี 5 ปัจจัย ได้แก่1.การยอมรับเด็กที่เกิดมาและมีความรู้สึกอยากเลี้ยงดู  อดทนทุ่มเทใจและได้รับแรงหนุนมาจากครอบครัวเดิม 2. แม่วัยรุ่นและครอบครัวมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ช่วยกันเลี้ยงลูก ทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่นใจและมีความมั่นคงจิตใจ 3. ได้รับการสนับสนุนดูแลช่วยเหลือด้านสังคมจิตใจจากเครือข่ายในชุมชน 4. ตั้งเป้าหมายให้ลูกเติบโตเป็นคนดี เลี้ยงลูกด้วยความรู้  ฝึกวินัยให้ลูก และ5.แม่วัยรุ่นและสามีพยายามปรับตัวเป็นตัวอย่างที่ดี ปรับการใช้ชีวิตจากเพื่อนมาอยู่กับลูกและครอบครัวผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมฯกล่าว


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 05 มี.ค. 2561 เวลา : 16:52:25
23-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 23, 2024, 9:45 pm