การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
กรม สบส.จัดทีมเอ็มเสิร์ทรับมือพายุฤดูร้อน 20 -23 มี.ค. พร้อมกู้ชีพสถานพยาบาลทุกแห่งใน 24 ชั่วโมง


กรมสนับสนุนบริการสุขภาพจัดทีมเอ็มเสิร์ทเฝ้าระวังสถานพยาบาลในพื้นที่เสี่ยงประสบภัยพายุฤดูร้อน และพายุลูกเห็บทั่วประเทศ หากเกิดเหตุฉุกเฉินพร้อมเข้าฟื้นฟูสถานพยาบาลให้กลับมาใช้การได้ใน 24 ชั่วโมง

 

 

นายแพทย์ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 20-23 มีนาคม 2561 ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง กรม สบส. ได้กำชับให้ทีมเอ็มเสิร์ท (Medical Supportive Emergency Response Team : MSERT) ซึ่งประกอบด้วยวิศวกรเครื่องมือแพทย์  วิศวกรโยธา ทีมวิชาการด้านสุขศึกษา และทีมสนับสนุนการปฏิบัติงานของ อสม.ทั้งจากส่วนกลาง และสำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพ 12 เขตทั่วประเทศ เฝ้าระวังสถานการณ์ในพื้นที่เสี่ยงอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมักจะเกิดพายุลูกเห็บที่สร้างความเสียหายให้แก่อาคารสถานพยาบาลจะต้องมีการเตรียมความพร้อมเป็นพิเศษ หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะต้องพร้อมเข้าฟื้นฟูหัวใจหลักของสถานพยาบาลใน 5 ด้าน ทั้งระบบไฟฟ้าระบบประปาระบบสื่อสารเครื่องมือแพทย์ และอาคารสถานที่ ให้สามารถกลับมาใช้การได้ภายใน 24 ชั่วโมง  

นายแพทย์ประภาส กล่าวต่อว่า นอกจากการเตรียมความพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉินในสถานพยาบาลแล้ว ยังได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำแก่ประชาชน ในการรับมือสถานการณ์พายุฤดูร้อน และพายุลูกเห็บที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่เพื่อลดทอนความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น 7 ข้อ ดังนี้ 1)สำรวจที่อยู่อาศัยและรีบทำการซ่อมแซมวัสดุที่ไม่มั่นคงให้มีความแข็งแรงและทนทานต่อพายุลูกเห็บได้ 2)ในขณะที่เกิดพายุขอให้หลบอยู่ในบ้านเรือน และปิดประตู/หน้าต่างให้สนิทป้องกันการกระแทกและสิ่งของปลิวเข้ามา 3)หากอยู่ในรถยนต์ ไม่ควรขับขี่ต่อ ควรจอดรถและจอดให้อยู่ห่างจากบริเวณที่น้ำอาจท่วม ต้นไม้ใหญ่ เสาไฟ หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง 4)หากอยู่ในที่โล่งแจ้ง ให้นั่งกอดเข่า โน้มตัวไปข้างหน้า โดยพยายามให้เท้าติดดินน้อยที่สุด และไม่ควรนอนราบกับพื้นเพราะพื้นที่เปียกจะเป็นสื่อนำไฟฟ้า หรือหลบใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา เสาไฟฟ้า เพราะอาจได้รับอันตรายจากฟ้าผ่า 5)ไม่ควรหลบบริเวณหลังคากระจกหรืออยู่ใกล้ประตูและหน้าต่างที่เป็นกระจก เพราะอาจได้รับอันตรายหากเกิดการแตกหักของกระจก 6)อยู่ห่างจากวัตถุ หรือสื่อนำไฟฟ้าทุกชนิด และงดการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าชั่วคราว เพราะในช่วงที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนองมักเกิดฟ้าผ่าทำให้เกิดอันตรายได้ และ 7)หากพบผู้ได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุ ให้รีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 โดยอาจจะให้การช่วยเหลือปฐมพยาบาลในเบื้องต้นตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ก่อนเพื่อความปลอดภัยของผู้บาดเจ็บ


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 มี.ค. 2561 เวลา : 15:19:04
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 3:33 am