การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
สธ. เตือน 6 กลุ่มเสี่ยงโรคลมแดด ช่วงหน้าร้อน


กระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้ทำงานกลางแดด ข่วงหน้าร้อนแดดแรง ระวังโรคลมแดด 6 กลุ่มเสี่ยงต้องระวัง หากตัวร้อนจัดแต่เหงื่อไม่ออก  หัวใจเต้นเร็ว อ่อนเพลีย รีบดื่มน้ำเช็ดตัว อาจหมดสติและเสียชีวิตได้

 

 

นายแพทย์โอภาส  การ์ยกวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ช่วงหน้าร้อนปีนี้ ประเทศไทยมีอากาศร้อนจัด อาจทำให้เกิดโรคลมแดด หรือฮีทสโตรก (Heat Stroke) ซึ่งเป็นอาการที่เกิดจากการออกกำลังกาย หรือทำงานในที่อากาศร้อนจัดเป็นเวลานานจนร่างกายไม่สามารถปรับตัวและควบคุมความร้อนในร่างกาย มีผลกับการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งระบบประสาท ส่งผลให้เสียชีวิตจากอวัยวะต่าง  ทำงานล้มเหลวได้ โดยเฉพาะ 6 กลุ่มเสี่ยงเกิดโรคนี้ได้ง่าย ได้แก่ 1.ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น ออกกำลังกาย กรรมกร ก่อสร้าง เกษตรกร  2.เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีและผู้สูงอายุ  3.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง  4.คนอ้วน  5.ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ และ 6.ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  

 

 

สถานการณ์ของโรคลมแดด ลมร้อน หรือฮีทสโตรก พบว่า ตั้งแต่ปี 2557–2559 มีรายงานผู้ป่วยประมาณ 2,500 – 3,000 รายต่อปี แนวโน้มเพิ่มขึ้น และมีผู้ป่วยสูงสุดในช่วงเดือนเมษายนพฤษภาคมของทุกปี ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยทำงานที่มีกิจกรรมกลางแจ้ง อาชีพที่พบผู้ป่วยมากสุดคือ เกษตรกรรม รับจ้าง ทหาร เป็นต้น ซึ่งในปี 2559 ที่ผ่านมา ผู้ป่วยมีอายุเฉลี่ยประมาณ 41 ปี ซึ่งเป็นวัยกลางคนและเป็นวัยทำงาน

 

 

อาการของผู้ที่เป็นลมแดด ได้แก่ อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ไม่มีเหงื่อออก รู้สึกกระหายน้ำมาก  ตัวร้อนขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียล ปวดศีรษะ ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว เพ้อ ชัก มึนงง หน้ามืด หากไม่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงทีอาจหมดสติและเสียชีวิตได้ กรณีพบผู้มีอาการโรคลมแดด ขอให้รีบนำเข้าที่ร่ม อากาศถ่ายเทสะดวก ให้นอนราบยกเท้าทั้งสองข้างขึ้นสูงเพื่อเพิ่มการไหลเวียน ถอดเสื้อผ้าให้เหลือน้อยชิ้น คลายชุดชั้นใน ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น น้ำแข็งประคบตามซอกคอ หน้าผาก รักแร้ ขาหนีบร่วมกับใช้พัดลมเป่า เพื่อระบายความร้อนและลดอุณหภูมิร่างกายให้ต่ำลงอย่างรวดเร็วที่สุด หากไม่หมดสติให้ดื่มน้ำเปล่ามากๆ

 

 

สำหรับวิธีป้องกันโรคลมแดด ขอให้พยายามหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดจัด ควรอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่ออกกำลังกายเป็นเวลานาน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรดื่มน้ำชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำ สวมเสื้อผ้าที่โปร่งสบาย สีอ่อน ระบายอากาศได้ดี ไม่รัดรูป สวมแว่นกันแดด กางร่ม ทาโลชั่น ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่าปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำจนรู้สึกกระหายหรือริมฝีปากแห้ง  ควรดื่มน้ำ 1-2 แก้วก่อนออกบ้านในวันที่อากาศร้อน เลือกออกกำลังกายการช่วงเช้าหรือเย็น หรือช่วงที่ไม่มีแสงแดดจัด หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์  ดูแลไม่ให้เด็ก ผู้สูงอายุ อยู่กลางแดด ผู้มีโรคเรื้อรังให้รับประทานยาตามแพทย์สั่ง


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 มี.ค. 2561 เวลา : 14:16:34
23-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 23, 2025, 9:33 am