การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
เครือข่ายเขตสุขภาพที่ 7 เร่งผลักดันงานสุขภาพจิต สู่เป้าหมายสุขภาวะสมบูรณ์ จิตใจดี ชีวิมีสุข


กรมสุขภาพจิต ชี้แนวโน้มสุขภาวะคนไทยถูกคุกคามเพิ่มมากขึ้น พบในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 รวม 4 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด มีปัญหาสุขภาพจิต ที่ต้องเร่งป้องกันแก้ไขทั้งด้านสติปัญญาในวัยเรียน การตั้งครรภ์ซ้ำในวัยรุ่น ปัญหาการฆ่าตัวตาย ซึมเศร้า วิตกกังวล ในวัยทํางาน และผู้สูงอายุ  จึงเร่งใช้กลไกตำบลจัดการสุขภาพ สร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ด้วยตัวเอง และมุ่งยกระดับสุขภาพจิตดีทุกกลุ่มวัยสู่การเป็นประชากรที่มีคุณภาพ สมบูรณ์ทั้งกายและใจ มีสติปัญญาที่ดี อารมณ์ดี และมีความสุข อยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรี (Smart Citizen)

 

 

วันนี้ (14 มิถุนายน 2561) ที่ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดขอนแก่น นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นประธานเปิดสัมมนาวิชาการงานส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต เขตสุขภาพที่ 7 “ร้อยแก่นสารสินธุ์ ถิ่นคนจิตใจดี ชีวีมีสุขมีอาสาสมัคร และบุคลากรผู้ปฏิบัติงานสุขภาพจิตในพื้นที่ระดับจังหวัด อำเภอ ชุมชน กว่า 700 คนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงาน และนำความรู้ด้านสุขภาพจิตและจิตเวชชุมชน ทักษะในการคัดกรอง ประเมินด้านสุขภาพจิตเบื้องต้น และการให้คำปรึกษาเบื้องต้นไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติงาน โอกาสนี้ได้มอบรางวัล Mental Health Award 2018 in Area Health 7th แก่บุคคลผู้สนับสนุน และผู้มีผลงานด้านสุขภาพจิตและจิตเวชชุมชนเชิงประจักษ์ในเขตสุขภาพที่ 7 ด้วย

อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า กรมสุขภาพจิตเน้นการทำงานเชิงรุกเข้าสู่ชุมชนในการวางรากฐานสุขภาพจิตดีทุกกลุ่มวัยสู่การยกระดับเป็น Smart Citizen โดยเน้นการส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตที่ใช้กลไกตำบลจัดการสุขภาพ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญของกรมสุขภาพจิตภายใต้ระบบสุขภาพระดับอำเภอ ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ด้วยตัวเอง ที่จะทำให้ได้รับการดูแลและได้รับการส่งเสริมสุขภาพจิตได้ตรงกับสภาพปัญหาและบริบทของแต่ละพื้นที่ได้อย่างครบถ้วนครอบคลุมทุกมิติ ถือเป็นการตอบโจทย์สำคัญของกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการเสริมสร้างสุขภาวะที่ดี เกิดจากรากฐานของชุมชน นำไปสู่การลดจำนวนผู้ป่วยและเพิ่มความแข็งแรงให้กับประชาชนทั่วทุกกลุ่มวัยในประเทศ อีกทั้งเกิดการเข้าถึงบริการได้มากยิ่งขึ้น รวดเร็วขึ้น และตรงจุดมากขึ้น ประชาชนสามารถช่วยกันค้นหาผู้ป่วยด้านสุขภาพจิต เมื่อพบเร็วจะมีผู้ดูแลเบื้องต้นในพื้นที่เข้ามารับช่วงต่อแต่หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงเกินความสามารถในการดูแล ก็จะสามารถส่งต่อโรงพยาบาลขนาดใหญ่ต่อไปได้ ข้อมูลสุขภาพจิตระดับชาติ พบว่า คนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตและโรคจิตเวช ประมาณ 7 ล้านคน เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล ปัญหาจากการใช้สุราและสารเสพติด การฆ่าตัวตาย อาการทางจิตหลงผิด กรมสุขภาพจิตจึงได้ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพจิตในเชิงรุก ด้วยการอาศัยตำบลจัดการสุขภาพทั่วประเทศ ใช้กลไกของ อสม. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะมาช่วยกันวางระบบดูแลสุขภาพจิตชุมชนร่วมกัน ตั้งแต่การประเมิน คัดกรอง และวินิจฉัย การช่วยเหลือส่งรักษา การติดตามผู้ผ่านการบำบัดรักษา เมื่อกลับเข้าสู่ชุมชน ไม่เกิดตราบาป มีที่ยืนในสังคม และใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณค่า

 

 

..นันทาวดี วรวสุวัต ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 7 เปิดเผยว่า เขตสุขภาพที่ 7 มีประชากรประมาณ 5 ล้านคน ในปีที่ผ่านมา พบปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มวัยต่างๆคือ  กลุ่มวัยเรียนมีระดับสติปัญญาเฉลี่ย เท่ากับ 94.28 ซึ่งแม้จะอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ค่อนไปทางต่ำกว่าค่ากลางของสากล  กลุ่มวัยรุ่น พบปัญหาการตั้งครรภ์ซ้ำเกินเกณฑ์กำหนด  ร้อยละ 14.71 วัยทํางาน มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ 3.18 ต่อแสนประชากร มีความวิตกกังวล ถึงร้อยละ 58.44 เสี่ยงภาวะซึมเศร้าร้อยละ 25.21 และกลุ่มผู้สูงอายุ พบเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า ร้อยละ 0.42 ทั้งนี้ยุทธศาสตร์การดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต เขตสุขภาพที่ 7 ได้มุ่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกช่วงวัยให้มีทักษะ ความรู้ ความสามารถเพิ่มขึ้น มีสุขภาวะที่ดี ใช้กลไกการทำงานด้านสุขภาพระดับพื้นที่ในรูปแบบ "ประชารัฐ" โดยมีภาคีเครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนกระบวนการสร้างคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีของประชาชน ทั้งในมิติด้านการรักษาโรค การส่งเสริมและป้องกันโรคทางสุขภาพจิต การสร้างเสริมสุขภาวะ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตไปพร้อมกันที่ยึดหลักการใช้พื้นที่เป็นฐานประชาชนเป็นศูนย์กลาง ***14  มิถุนายน 2561


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 มิ.ย. 2561 เวลา : 12:59:18
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 1:57 pm