อสังหาริมทรัพย์
เปิด 2 โมเดล พักอาศัยแนวตั้ง 'แฟลตต่อเติมได้' 'แฟลตเกษตรยั่งยืน'


คงปฏิเสธไม่ได้ว่ากรุงเทพมหานครมีความแออัดเป็นอย่างมาก จากจำนวนประชากรที่มีตัวเลขสูงราว 5.7 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่มีพื้นที่เพียง 1,569 ตร.กมเท่านั้น ส่งผลให้ใน กทมมีอัตราความหนาแน่นของประชากรสูงราว 3,700 คน ต่อตร.กม.

 

 

จากความหนาแน่นดังกล่าวส่งผลให้ประชากรโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ต้องประสบปัญหาเชิงพื้นที่ในที่พักอาศัย จากลักษณะที่พักอาศัยแนวตั้ง (Vertical Social Housing) ที่มีพื้นที่เฉลี่ยของที่พักอาศัย อาทิ อาคารชุด แฟลตและบ้านเอื้ออาทร คือราว 33 ตร.ต่อห้อง อีกทั้งยังไม่สามารถต่อเติมได้ จึงอาจไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบครอบครัวขยายของชาวไทย

 

 

· “แฟลตต่อเติมได้เพิ่มพื้นที่ รับวิถีชีวิต

นายภูเมศวร์ มะลิทองพงษ์กุล นักศึกษาระดับปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มธกล่าวว่า จากปัญหาความแออัดในที่พักอาศัยของผู้มีรายได้น้อย จึงเป็นที่มาของการร่วมมือกับสมาชิกในกลุ่มอีก 2 คน นำข้อมูลจากงานวิจัยของอาจารย์ที่ปรึกษาและการศึกษาในชั้นเรียน มาออกแบบแฟลตต่อเติมได้ที่พักอาศัยผู้มีรายได้น้อยแบบปรับเปลี่ยนต่อเดิมได้(Transformable Social Housing) งานออกแบบเคหะชุมชน (Social Housing) ที่มีความสามารถในการต่อเติมได้ เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของจำนวนสมาชิกในครอบครัวในอนาคต โดยมีลักษณะเด่นส่วน ได้แก่

 


 

1.แกนบ้าน (Core House) เพื่อความสามารถในการต่อเติมตัวบ้านได้ทุกทิศโดยรอบ ทั้งด้านข้าง ด้านบนและด้านล่าง แต่ยังคงมีช่องแสงสำหรับรับแสงธรรมชาติและช่องว่างเพื่อการถ่ายเทอากาศ โดยส่วนที่ต่อเติมนั้นจะเป็นการนำโครงสร้างรูปแบบลูกบาศก์สำเร็จรูป นำมาต่อเติมจากแกนบ้านได้ทันที คล้ายกับตัวต่อเลโก้ (Lego) ซึ่งสามารถต่อเติมได้จำนวนมากน้อยตามความเหมาะสมของจำนวนผู้อยู่อาศัย

2. ชานบ้าน ลักษณะคล้ายคลึงกับเรือนไทย เพื่อใช้เป็นทางเชื่อมส่วนต่าง ของบ้าน อาทิ ห้องนอน ห้องครัวและสวน อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่สามารถรองรับกิจกรรมเอนกประสงค์ของสมาชิกในครอบครัว

3.วัสดุที่ใช้ก่อสร้างจะมีคุณสมบัติน้ำหนักเบา ง่ายต่อการต่อเติม มีความแข็งแรงคงทน และยังคงมีราคาที่ไม่สูงนัก อาทิ การนำเหล็กขึ้นรูปลอน มาใช้เป็นวัสดุทำหลังคา พื้น และผนัง

 


 

นายภูเมศวร์ กล่าวว่า ต้นแบบการออกแบบโครงสร้างอาคารชิ้นนี้มีความตั้งใจให้องค์กรจากภาครัฐที่มีหน้าที่ดูแลและพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย อาทิ การเคหะแห่งชาติและสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชนรวมทั้งบริษัทอสังหาริมทรัพย์จากภาคเอกชน ได้นำแนวคิดดังกล่าวไปใช้พัฒนาที่พักอาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยในอนาคต เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านที่พักอาศัยของผู้มีรายได้น้อย และมีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวไทย อีกทั้งเพื่อเป็นการสร้างสังคมและสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับผู้อยู่อาศัยอีกด้วย

 


 

· “แฟลตเกษตรยั่งยืนเลี้ยงชีพยั่งยืน

ด้าน นายกานต์ภูชิต วิศิษฎ์วงศ์ นักศึกษาระดับปริญญาโท คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มธกล่าวว่า อีกหนึ่งปัญหาในเขตเมืองมักพบเจอคือ ปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหาร จากพื้นที่ทำเกษตรในเมืองที่ลดน้อยลง ทำให้แหล่งผลิตอาหารอยู่ไกลออกไปจากเมือง และราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นที่มาของแนวทางการออกแบบแฟลตเกษตรยั่งยืนอาคารชุดที่พักอาศัยที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อยุติความหิวโหยและยกระดับโภชนาการของผู้มีรายได้น้อย ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ด้านอาหารขององค์การสหประชาชาติ

 


 

อีกทั้งยังส่งเสริมการเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือมีการพัฒนาด้านอาหารและการเกษตรอย่างยั่งยืน จากการศึกษาเรื่อง แนวทางการออกแบบโครงการอาคารชุดพักอาศัยเพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารสำหรับคนเมือง รวมถึงผู้ที่มีรายได้ปานกลางถึงผู้มีรายได้น้อย พบว่าการออกแบบห้องชุดพักอาศัยควรประกอบไปด้วย ฟังก์ชั่น 4 ข้อ เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนทางอาหาร ได้แก่

1.เพิ่มพื้นที่ผลิตอาหารด้วยการใช้ดิน โดยใช้พื้นที่แนวราบบริเวณชั้นล่างรอบอาคารที่พักอาศัย หรือการใช้พื้นที่ว่างรอบอาคารที่มีขนาดไม่เพียงพอต่อการประกอบกิจกรรมอื่น นำมาใช้ในการเพาะปลูกพืชโดยใช้ดิน เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการผลิตอาหาร

2.เพิ่มพื้นที่ผลิตอาหารบนส่วนหลังคาอาคารที่พักอาศัย เนื่องจากส่วนหลังคาหรือชั้นดาดฟ้านั้น มักถูกปล่อยเป็นพื้นที่ว่าง จึงสามารถนำมาใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูก เพื่อเพิ่มการผลิตอาหารได้ นอกจากนี้พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นพื้นที่ ที่ได้รับแสงแดดและมีอากาศถ่ายเทเหมาะแก่การเพาะปลูกอีกด้วย

 

 

3.เพิ่มพื้นที่ผลิตอาหารด้วยการใช้ดินบริเวณระเบียงของที่พักอาศัย โดยมากแล้วทุกยูนิตในอาคารชุดที่พักอาศัย ล้วนมีระเบียงประจำห้องทั้งสิ้น หากนำพื้นที่ระเบียงของทุกยูนิตมาพัฒนาให้เป็นพื้นที่เพาะปลูก จะก่อให้เกิดพื้นที่ในการผลิตอาหารจำนวนมาก

 

 

4.เพิ่มพื้นที่ผลิตอาหารแนวตั้งเพื่อการปลูกพืชควบคู่กับการเลี้ยงปลา (Aquaponics) ที่ติดตั้งกับผนังของส่วนที่พักอาศัย นอกจากการปลูกพืชแล้วนั้น การเลี้ยงปลายังคงเป็นแนวทางการผลิตอาหารที่เหมาะสมกับที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่จำกัด เนื่องจากใช้พื้นที่ไม่มาก และเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับพื้นที่ผนังแทนการปล่อยว่าง

 


 

ด้าน รศ.เฉลิมวัฒน์ ตันตสวัสดิ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มธกล่าวว่า การออกแบบที่พักอาศัยในปัจจุบันนอกจากนักออกแบบจะต้องพิจารณาความสวยงาม ฟังก์ชั่นในการตอบสนองความต้องการด้านความสะดวกสบายแล้ว อีกปัจจัยนึงที่นักออกแบบต้องพิจารณาคือความเปลี่ยนแปลงของสังคมและเศรษฐกิจอาทิ การขยายตัวของครอบครัวในเขตเมือง การสร้างสมดุลของความเป็นเมืองกับความต้องการทางอาหาร ดังนั้น นักออกแบบต้องออกแบบที่พักอาศัยให้ส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกด้านและสอดคล้องกับวิถีชีวิตในแต่ละบริบทของชุมชน  


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 มิ.ย. 2561 เวลา : 15:46:46
28-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 28, 2024, 11:21 pm