การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
กรม สบส.ห่วงอันตรายจากไฟฟ้าดูดช่วงน้ำท่วม แนะประชาชนเตรียมพร้อมน้ำมาไฟต้องไป


กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ห่วงอันตรายจากไฟฟ้าฟ้าดูดช่วงน้ำท่วม แนะประชาชนเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ อย่าตื่นตระหนกกับน้ำ หรือมัวแต่ขนข้าวของจนลืมอันตรายใกล้ตัวจากไฟฟ้าต้อง พร้อมตัดไฟทันทีที่น้ำมาถึง หากพบผู้ประสบภัยจากไฟฟ้าต้องตั้งสติให้ดี ช่วยเหลือด้วยความรอบคอบไม่ให้บาดเจ็บตามไปด้วย

 

 

นายแพทย์ประภาส  จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ สถานการณ์อุทกภัยในภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศยังคงน่าเป็นห่วง หลายพื้นที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมฉับพลันจากฝนตกหนัก ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิต และทรัพย์สิน และก่อให้เกิดอันตรายหลากหลายประเภทต่อประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการจมน้ำ หรือโรคระบาด นอกจากอันตรายที่กล่าวมาในข้างต้นแล้ว ยังมีอันตรายอีกอย่างซ่อนอยู่ใกล้ตัว และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับที่ 2 รองจากการจมน้ำ นั่นคือการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากไฟฟ้าดูด เนื่องจากบ้านเรือนส่วนใหญ่จะมีการติดตั้งปลั๊กไฟกับผนังหรือเสาเพื่อความสะดวกในการใช้งาน เมื่อเกิดเหตุน้ำท่วมจึงทำให้ไฟฟ้ารั่วไหลออกมาเป็นอันตรายกับผู้พักอาศัย ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ ตรวจสอบระบบไฟฟ้าในที่พัก ย้ายปลั๊กไฟไปในจุดที่น้ำไม่สามารถท่วมถึง และเมื่อเกิดเหตุน้ำท่วมแล้วก็อย่ามัวแต่ตื่นตระหนกกับน้ำ หรือการขนย้ายสิ่ง สิ่งที่ต้องกระทำเป็นอันดับแรกเพื่อป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้า คือ ต้องตัดไฟบริเวณชั้นล่างที่ถูกน้ำท่วมทันที  จากนั้นจึงขนย้ายเครื่องใช้ไฟฟ้าขึ้นที่สูงให้พ้นจากน้ำ และเมื่อน้ำลดแล้ว ห้ามเปิดระบบควบคุมไฟฟ้า หรือสะพานไฟที่เชื่อมต่อกับปลั๊กไฟที่ถูกน้ำท่วมโดยทันที เพราะปลั๊กไฟจะชื้นหรือยังชุ่มน้ำอยู่ อาจเกิดไฟดูดได้ ควรให้ช่างไฟฟ้ามาตรวจสอบก่อนใช้งาน

นายแพทย์ประภาส กล่าวต่อว่า ในกรณีพบผู้ประสบภัยไฟฟ้าให้ตั้งสติให้ดี สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ตัดไฟฟ้าในจุดที่เกิดเหตุก่อน ห้ามเข้าไปช่วยเหลือโดยพลการเพราะรังแต่จะทำให้ผู้ช่วยเหลือบาดเจ็บตามไปด้วย และควรป้องกันตนเองด้วยการสวมถุงมือ/รองเท้าซึ่งทำจากวัสดุที่เป็นยางซึ่งไม่นำไฟฟ้าก่อนเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยไปยังที่ปลอดภัย และติดต่อสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินทางสายด่วน 1669 เพื่อส่งผู้ประสบภัยไปยังสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด แต่หากชีพจรไม่เต้นหรือผู้ประสบภัยหยุดหายใจ ให้ทำการปั้มหัวใจ(CPR) โดยจัดให้ผู้ประสบภัยนอนหงาย วางสันมือข้างหนึ่งตรงครึ่งล่างกระดูกหน้าอก และวางมืออีกข้างทับประสานกันไว้ เริ่มการกดหน้าอกด้วยความลึกอย่างน้อย 5 เซนติเมตรประมาณ 100-120 ครั้งต่อนาที จนกระทั่งผู้ประสบภัยกลับมาหายใจอีกครั้ง หรือจนหน่วยบริการมาถึง


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 ส.ค. 2561 เวลา : 09:27:45
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 9:07 am