การตลาด
สกู๊ป เจาะวิกฤติ 'ค้าปลีกไทย' หลังขยายตัวต่ำสุดในอาเซียน


แม้ว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมค้าปลีกของโลกจะได้รับผลกระทบไปบ้างจากการดิสรัปชั่นของสื่อดิจิทัล แต่หากมองไปที่มูลค่าค้าปลีกโลก  จาก Global Power of Retailing 2018 โดย Deloitte Touche Tohmatsu  ที่ออกมาคาดการณ์ว่าน่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 22.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2561 นี้  ในมูลค่าดังกล่าวมาจากธุรกิจค้าปลีกอาเชียน 10 ประเทศอยู่ที่ประมาณ  1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ( Economist Intelligence Unit, Figures for 2014 onwards are forecasts. Prior years are actuals or estimates.)  และในมูลค่าดังกล่าวของอาเซียนคาดการณ์ว่าจะมาจากการบริโภคค้าปลีกของประเทศไทยประมาณ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ 

 

 

 

 

ถึงแม้ว่ามูลค่าของอุตสาหกรรมค้าปลีกของไทยจะมีมูลค่ามหาศาล แต่หากนำมาพิจารณาอัตราการเติบโตในช่วงปี 2554 - 2561 จะพบว่า อุตสาหกรรมค้าปลีกของไทยมีการขยายตัวค่อนข้างต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับหลายๆประเทศในอาเซียน  เช่นเดียวกับปีนี้ที่ ยูโรมอนิเตอร์  ออกมาคาดการณ์ว่าประเทศที่มีการขยายตัวของอุตสาหกรรมค้าปลีกมากที่สุด คือ ประเทศเวียดนาม มีอัตราการเติบโตสูงสุดที่ 12.7% ตามด้วยประเทศอินโดนีเซีย 9.4% ประเทศมาเลเซีย 9.2% และประเทศฟิลิปปินส์ 8.2% ส่วนประเทศไทยคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ประมาณ 3.9%

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีกต่างออกมาประเมินสถานการณ์กันว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย การที่ประเทศไทยมีมูลค่าค้าปลีกเติบโตเพียงแค่ 3.9% เพราะอะไร ทั้งที่ประเทศไทยมีโครงการค้าปลีกใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ขณะเดียวกัน หากมองไปที่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ก็น่าจะช่วยกระตุ้นให้ภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีกขยายตัวได้เป็นอย่างดี แต่ทำไมกลับไม่เป็นอย่างนั้น

 

 

นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ทศวรรษนี้ เมื่อพูดถึงการเดินทางและการท่องเที่ยว ปัจจัยการตัดสินใจพิจารณาเลือกสถานที่เดินทางได้เปลี่ยนไปจากเดิมไปมาก ช้อปปิ้ง (Shopping) กำลังเป็นกระแสหลักของการท่องเที่ยวและเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะมากขึ้นเรื่อยๆ จากการศึกษา พบว่า การท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์ (Shopping Tourism) มีผลทำให้การใช้เวลาของนักท่องเที่ยวยาวนานขึ้น และการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ใช้จ่ายมากกว่า นักท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ (Leisure Tourists) 3-4  เท่า

ที่ผ่านมาทุกประเทศในอาเซียนต่างก็พยายามกระตุ้นการค้าปลีกภายในประเทศด้วยนโยบายการท่องเที่ยวเชิงการบริโภค  อย่างประเทศมาเลเซียออกมากระตุ้นการช้อปปิ้งของประเทศด้วยสโลแกน “Truly Asia” ขณะที่ประเทศอินโดนีเซียกระตุ้นด้วย “Wonderful Indonesia” ประเทศฟิลิปปินส์ “It’s more fun the Philippines”  และประเทศเวียดนาม “Vietnam Timeless Charm”  ส่วนประเทศไทยกระตุ้นการท่องเที่ยวและช้อปปิ้งด้วย “Amazing Thailand” 

 

นายวรวุฒิ กล่าวต่อว่า หากภาครัฐต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้มีอัตราการเติบโตแบบยั่งยืน ควรมีมาตรการสนับสนุนการจับจ่ายของนักท่องเที่ยว และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ด้วยการดึงดูดนักช้อปจากทั่วโลกมาเที่ยวประเทศไทยและต้องกำหนดยุทธศาสตร์ให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอย เพราะหากมองในด้านศักยภาพของความพร้อมของประเทศไทย ถือเป็นประเทศที่มีความพร้อมด้านการท่องเที่ยวมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน 

ปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยยังไม่ประสบความสำเร็จในด้านของการเป็นเดสติเนชั่นแห่งการช้อปปิ้ง ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ภาครัฐไม่ได้มีการโปรโมทประเทศไทยในด้านของการเป็นประเทศแห่งการช้อปปิ้งอย่างจริงจัง จึงทำให้ประเทศไทยมีแต่ฤดูการท่องเที่ยว แต่ยังไม่มีฤดูกาลช้อปปิ้ง 

 

 

 

จากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยใช้จ่ายเงินวันละ 4,000 กว่าบาทต่อคน และใน 4,000 บาท ประกอบด้วยค่าโรงแรม ค่าอาหาร เป็นส่วนใหญ่ ในจำนวนนี้มีค่าช้อปปิ้ง 1,200-1,500 บาทเท่านั้น หากเราสามารถโอกาสเพิ่มโอกาสให้นักท่องเที่ยวมีทางเลือกจับจ่ายใช้สอยมากกว่าที่ควรจะเป็น อย่าคิดว่านักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทยเพื่อมาดูวัฒนธรรม หรือปูชนียสถาน หรือดูอะไรก็ตาม เพราะสิ่งเหล่านี้มาดูครั้งเดียวก็เลิก ไปดูที่ประเทศอื่นๆ ต่อ แต่สิ่งที่จะจูงใจให้นักท่องเที่ยวมาประเทศไทยมาซ้ำ คือ การช้อปปิ้ง หากนักท่องเที่ยวมีเวลาน้อยก็ช้อปปิ้ง

นายวรวุฒิ กล่าวอีกว่า ความฝันของรัฐบาลที่จะผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นสวรรค์แห่งการช้อปปิ้ง (Thailand Shopping Paradise) ยังห่างไกลจากความเป็นจริง แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นมหาศาลและสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับประเทศ แต่สิ่งที่เห็นการเติบโตของอุตสาหกรรมค้าปลีกเฉลี่ยต่ำสุดเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียนด้วยกัน

ด้วยเหตุนี้ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย จึงมีนโยบายที่จะผลักดันประเทศไทยให้เป็นเดสติเนชั่นแห่งการช้อปปิ้ง ด้วยการกำหนดยุทธ์ศาสตร์หลักออกมา 3 ข้อหลักสู่การเป็น shopping Paradise  คือ 1. สร้าง  Downtown Vat Refund For Tourist เนื่องจากทุกวันนี้ประเทศไทยมีร้านค้าในลักษณะ VAT Free แต่ไม่เต็มรูปแบบ ร้านค้าในไทยถูกกำหนดให้เป็นร้านค้า VAT Refund for Tourist ที่จุดให้บริการในสนามบิน เมื่อได้รับคืนนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ใช้จ่ายในสนามบินมากนัก เพราะมีเวลาช้อปปิ้งเหลือน้อย แต่หากกำหนดให้ร้านค้าขายสินค้าในราคาไม่รวม VAT หรือ ถ้าขายในราคารวม VAT นักท่องเที่ยวก็สามารถขอคืน VAT ได้ในวันที่ซื้อ จุดขายทันที ก็จะช่วยให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายเพิ่มขึ้น  

2. ให้มีร้านค้าปลอดภาษีในเมืองเพิ่มขึ้นโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่อง Pick up counter การสร้าง Shopping Tourism เป็นนโยบายด้านการท่องเที่ยวเชิงช้อปปิ้ง ได้กลายเป็นหนึ่งใน เครื่องมือสำคัญของภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้จริง จากหลายประเทศที่นำมาใช้ทั้งในยุโรป และเอเชีย ตั้งแต่อดีต (ฮ่องกง สิงคโปร์ เป็นต้น) แต่ประเทศไทยยังไม่มีความจริงจังในเรื่องดังกล่าว

นโยบายที่ 3. คือ  สัมปทาน Duty Free สนามบิน ต้องโปร่งใสและเป็นธรรม  ผลจากสัมมนาเชิงวิชาการที่จัดโดยคณะนิติศาสตร์ และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับผู้แทนจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ประเทศไทยมีโอกาสมหาศาลที่จะเพิ่มรายได้จากอุตสาหกรรมค้าปลีกท่องเที่ยวเติบโตขึ้นคิดเป็นจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นถึง 270,000 ล้านบาทต่อปี ส่งผลให้ภาครัฐได้รับผลประโยชน์สุทธิรวมกว่า 32,000 ล้านบาทต่อปี หากมีการแก้ไขการให้สัมปทานสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินอื่นๆในอนาคตให้มีการแข่งขันมากกว่า 1 ราย


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 05 ก.ย. 2561 เวลา : 10:43:51
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 6:38 am