การตลาด
'ซีพี ออลล์' ชนะคดีกรณีถูกกล่าวหาก็อปปี้สินค้าบานาน่า หลังตกเป็นจำเลยสังคมกว่า 3 ปี-คนเขียนบทความยอมรับไร้มูล


ตามที่ เมื่อวันที่ 21-22 เมษายน 2558 บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) ถูก นายชิน รติธรรมกุล (“นายชินฯ”) เขียนและเผยแพร่บทความหมิ่นประมาทจำนวน 2 ตอนในเว็บไซต์โอเคเนชั่นในทำนองว่า บริษัทฯ เป็นบริษัทใหญ่ แต่ไปรังแกผู้ประกอบการรายย่อยที่เสนอสินค้าเข้ามาขายในร้านสะดวกซื้อ 7-11 ด้วยการลอกเลียนสูตรสอดไส้ครีมคัสตาร์ดรสกล้วยของผู้ประกอบการรายย่อยแล้วนำไปทำการค้าหาประโยชน์เอง อันเป็นการรังแก
เอาเปรียบผู้ประกอบการรายย่อย โดยบทความดังกล่าวถูกส่งต่อในสังคมออนไลน์ และเผยแพร่ทางสื่อต่าง อย่างแพร่หลาย ในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งได้สร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ในการประกอบการของบริษัทฯ ตลอดมานั้น 

บริษัทฯ จึงได้แจ้งความดำเนินคดีอาญาแก่นายชิน ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลทุ่งมหาเมฆ ในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และ 328 ซึ่งพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องและเสนอสำนวนการสอบสวนต่อพนักงานอัยการ 

 

 

 

ต่อมา พนักงานอัยการได้เป็นโจทก์ฟ้องนายชินฯ เป็นจำเลย ข้อหาหมิ่นประมาทตามบทกฎหมายดังกล่าว ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ .2843/2559  ซึ่ง นายชินฯ ได้เปิดเผยความจริงว่า นายชินฯ ได้รับข้อมูลและเนื้อหาบทความดังกล่าวมาจาก นางสาว .  โดยที่นายชินฯ เองก็ไม่ทราบว่าเป็นความจริงหรือไม่ และได้จัดทำบทความไปโดยไม่เคยสอบถามความเป็นจริงจากบริษัทฯ  ซึ่งบริษัทฯ ได้แสดงหลักฐานในการดำเนินคดี
ให้เห็นว่า บริษัทฯ ไม่มีการกระทำใดที่จะไปกระทำหรือเอาเปรียบผู้ประกอบการรายย่อยตามที่กล่าวหาในบทความ ซึ่งนายชินฯ  ได้ทำหนังสือแสดงความรู้สึกเสียใจและขอโทษบริษัทฯ ต่อหน้าศาล โดยนายชินฯ ยินดีที่จะแก้ไขฟื้นฟูความเสียหายของบริษัทฯ ด้วยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและจะเผยแพร่บันทึกประนีประนอมยอมความระหว่างบริษัทฯ กับนายชินฯ และเอกสารย่อคำฟ้องคดีอาญา (“บันทึกฯ”) ที่แสดงถึงเหตุการณ์ในเรื่องนี้
ในเว็บไซต์โอเคเนชั่นภายใน 7 วันนับแต่วันที่ 29 มีนาคม 2560 และจะลงติดต่อกันจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 รายละเอียด บันทึกฯ ปรากฏตามเอกสารแนบ
 

บริษัทฯ จึงได้แสดงน้ำใจโดยไม่ต้องการดำเนินคดีกับบุคคลที่ได้รู้สำนึก และไม่ใช่ตัวการที่แท้จริง ด้วยการถอนคำร้องทุกข์ไม่ติดใจดำเนินคดีอาญาและไม่ติดใจเรียกค่าเสียหายจากนายชินฯ คดีจึงได้ระงับไปตามคดีอาญาแดงที่ .987/2560 

แต่นายชินฯ กลับไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ (“สัญญาฯ”) ที่ได้กระทำต่อหน้าศาลดังกล่าว บริษัทฯ จึงจำเป็นต้องฟ้องนายชินฯ ในข้อหาผิดสัญญาฯ ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ .860/2560 และเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2561 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้มีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ .1323/2561 ว่า นายชินฯ เป็นฝ่ายผิดสัญญาฯ และให้นายชินฯ ลงประกาศบันทึกฯ ในเว็บไซต์โอเคเนชั่นภายใน 7 วันและให้ลงต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 8 เดือน และชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทฯ จำนวน 80,000 บาท พร้อมค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความด้วย

ภายหลังที่บริษัทฯ ได้ทราบบุคคลที่เป็นตัวการที่ให้ข้อมูลและเนื้อหาที่นายชินฯ นำไปลงบทความในเว็บไซต์ดังกล่าวข้างต้น บริษัทฯ จำเป็นต้องทำความจริงให้ปรากฏด้วยการแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลทุ่งมหาเมฆ เพื่อดำเนินคดีอาญาแก่บุคคลที่เป็นตัวการหรือผู้ใช้และบุคคลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และ 328 ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน

ทั้งนี้ บริษัทฯ มีความจำเป็นต้องชี้แจงให้ประชาชน และคู่ค้าของบริษัท ได้รับทราบถึงข้อเท็จจริง เพื่อแก้ไขเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่บริษัทฯ และเพื่อให้สังคมได้ตระหนักถึง การใช้วิจารณญาณ ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน เผยแพร่ หรือส่งต่อข้อมูลใดๆ ในสังคมออนไลน์ รวมตลอดถึงเพื่อป้องปรามมิให้บุคคลอื่นใดแสวงหาประโยชน์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยการใส่ความผู้อื่น หรือการทำการตลาดด้วยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่เกิดกับบริษัทฯ อีกต่อไปด้วย 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 05 ก.ย. 2561 เวลา : 11:31:23
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 1:44 pm