เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
วสท.เปิดงาน "วิศวกรรมแห่งชาติ 2561" อย่างยิ่งใหญ่


ในวาระครบรอบ 75 ปี วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ตอกย้ำศักยภาพและความสำเร็จการนำเทคโนโลยีวิศวกรรมเข้ามาสนับสนุนภาครัฐ และภาคธุรกิจ เดินหน้าเปิดงาน “วิศวกรรมแห่งชาติ 2561” (National Engineering 2018) งานสัมมนาวิชาการด้านวิศวกรรมและงานแสดงผลิตภัณฑ์เทคโนโลยี นวัตกรรรมวิศวกรรมครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย  ผนึกกำลังผู้ร่วมแสดงสินค้าเทคโนโลยีวิศวกรรมจากหน่วยงานต่างๆ  ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมกว่า 100 ภายใต้แนวคิด  “Engineering for Society; Smart Engineering, Smart Life, Smart Nation - วิศวกรรมอัจฉริยะ เพื่อชีวิตทันสมัย สู่ประเทศไทยแห่งอนาคต” เพื่อร่วมปฏิรูปประเทศ สู่สังคม ที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญา เสริมสร้างศักยภาพให้ทุกภาคส่วนมีส่วนช่วยยกระดับสังคมสู่สมาร์ทไลฟ์ สมาร์ทเนชั่น อย่างยั่งยืน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจ


 
ดร.ธเนศ  วีระศิริ  นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวในพิธีเปิดงาน “วิศวกรรมแห่งชาติ 2561” ว่า จากแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศขับเคลื่อนด้วยปัญญาตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม จากกลุ่มอุตสาหกรรมดั้งเดิมไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าและความซับซ้อนสูง หรือ New S-Curve ด้วย 5 กลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรมอันเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดย วสท. มีภารกิจในการส่งเสริมและสนับสนุนความก้าวหน้าของวิชาชีพวิศวกรรม ด้วยการพัฒนาองค์ความรู้ สนับสนุนการวิจัย การปรับปรุงมาตรฐาน และสร้างสรรค์กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่ออาชีพวิศวกรรมและสังคม 

และในวาระครบรอบ 75 ปี วสท. เดินหน้าจัดงาน “วิศวกรรมแห่งชาติ 2561” (National Engineering 2018) ให้เป็นงานสัมมนาวิชาการ และแสดงผลิตภัณฑ์เทคโนโลยี นวัตกรรรมวิศวกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในไทย ภายใต้แนวคิด “Engineering for Society; Smart Engineering, Smart Life, Smart Nation - วิศวกรรมอัจฉริยะ เพื่อชีวิตทันสมัย สู่ประเทศไทยแห่งอนาคต” มุ่งเน้นการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานวิชาชีพวิศวกรรม ด้วยการนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ก้าวหน้าของไทย ตลอดจนมุ่งหวังให้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยน พร้อมร่วมอัพเดทเทรนด์และเทคโนโลยีวิศวกรรมโลกผ่านงานสัมมนาในหัวข้อต่างๆ กว่า 89 หัวข้อ

 
 
สำหรับความยิ่งใหญ่ของงาน “วิศวกรรมแห่งชาติ 2561” ในปีนี้ ได้รับความร่วมมือจาก 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เข้ามาร่วมให้ความรู้ เพื่อยกระดับพัฒนาวิชาชีพวิศวกรรรมที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ ผ่านปาฐกถาพิเศษ ยุทธศาสตร์แห่งชาติตามนโยบายทั้ง 3 กระทรวง ซึ่งจะช่วยสะท้อนบทบาทความสำคัญของเทคโนโลยีวิศวกรรมในการช่วยผลักดันประเทศให้ขับเคลื่อนไปด้วยปัญญา และสามารถเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกได้ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าการลงทุนไว้กว่า 5 ล้านล้านบาท อันจะส่งผลให้ระดับจีดีพี (GDP) ของประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4.5 ต่อปี  ได้แก่

 -          แผนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม ร่วมปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Industry Transformation Thailand 4.0” โดย ดร.สมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในวันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน 2561 เวลา 09.00-10.00 น.

-          แผนยุทธศาสตร์คมนาคม ร่วมปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ยุทธศาสตร์คมนาคม ยุทธศาสตร์สร้างชาติ” (Transforming Transportation)  โดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในวันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน 2561 เวลา 13.00-14.00 น.

-          แผนยุทธศาสตร์ด้านดิจิทัล ร่วมปาฐกถาพิเศษเรื่อง “Digital Transformation ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ” โดย นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในวันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2561 เวลา 09.00-10.00 น.

ดร.ทศพร  ศรีเอี่ยม ประธานการจัดงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2561 กล่าวว่า “งานวิศวกรรมแห่งชาติ 2561 (National Engineering 2018) ในครั้งนี้ ถือเป็นปีที่ 13 ที่มีการจัดกันมาอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยในปีนี้ ได้รวบรวมผู้ร่วมแสดงสินค้าเทคโนโลยีวิศวกรรมจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมากกว่า 100 ราย นำผลิตภัณฑ์เทคโนลยีจากหลากหลายสาขาอาชีพมาจัดแสดงอย่างครบครัน สำหรับไฮไลท์ในการจัดงาน วิศวกรรมแห่งชาติ 2561 คือการอัพเดทเทรนด์ความรู้ใหม่ๆ หลากหลายหัวข้อ เช่น นวัตกรรมความปลอดภัยของโครงสร้างอาคาร ซึ่งได้รับเกียรติจากวิศวกรชาวญี่ปุ่น มาบรรยายถึงการออกแบบโครงสร้างอาคาร ในสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้ เช่น ภัยก่อการร้าย การวางระเบิด การวางเพลิง ซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับเมืองไทย รวมทั้ง การให้ความรู้ด้านการป้องกันอัคคีภัยสำหรับอาคารขนาดใหญ่ เช่น สนามบิน ตึกสูงจากสมาคมป้องกันอัคคีภัยแห่งชาติ (National Fire Protection Association) ของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

 
นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอความรู้และการสัมมนาที่น่าสนใจ สำหรับวิศวกรและประชาชน อาทิ“Smart City” หรือ เมืองอัจฉริยะ เป็นการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี เข้ามาเพิ่มความสะดวก สบาย ประหยัด และปลอดภัยให้กับการใช้ชีวิต ซึ่งประเทศไทย จะมีเมืองใหม่ที่เป็น Smart City ในแถบเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ทั้งระยอง ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี เป็นต้น  ด้วยการเชื่อมโยงโลกดิจิทัลผ่านสมาร์ทโฟนกับอุปกรณ์อื่นๆ เช่น แอพพลิเคชั่น PEA Hive Platform การสั่งเปิดปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า การสำรวจเส้นทางและการจราจร ระบบการซื้อขายผ่านออนไลน์ ฯลฯ ซึ่งในอนาคตจะมีการพัฒนามากขึ้น เช่น นวัตกรรมยานยนต์แห่งอนาคต รถพลังงานไฟฟ้า (EV Car) การใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ การใช้หุ่นยนต์ทดแทนแรงงานมนุษย์ในภาคอุตสาหกรรม การบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (DATA Center and CLOUD Technology) เป็นต้น

 




 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 01 พ.ย. 2561 เวลา : 19:41:46
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 9:21 pm