เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
นักเศรษฐศาสตร์ระบุ "สงครามการค้า" ยังกดดันเศรษฐกิจไทยปี 62


นักเศรษฐศาสตร์ มองเศรษฐกิจไทยปี 2562 ทรงตัวใกล้เคียงกับปี 2561 โดยแรงกดดันสำคัญมาจากปัจจัยภายนอกประเทศ โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน  


 
 
 
 
 
ดร.พิพัฒน์  เหลืองนฤมิตรชัย  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ภัทร กล่าวว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกใน 2561 และปี 2562 ยังเผชิญกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะปัจจัยหลักสำคัญที่ส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจโลกเกิดการชะลอตัว จากการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ การยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยจะเห็นได้จากในช่วงที่ผ่านมา สหรัฐฯได้เริ่มปรับโครงสร้างนโยบายการเงิน โดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาอยู่ที่ระดับ 2.25% ในปัจจุบัน และมีแนวโน้มที่จะทยอยปรับขึ้นไปที่ใกล้ระดับ 3% โดยคาดว่าในช่วง 12 เดือนนับจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีก 3-4 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ทำให้ในปี 62 อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ จะอยู่ที่ระดับ 3% อีกทั้งสหรัฐฯ ยังได้ทยอยลดการใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินลง โดยการดึงเม็ดเงินลงทุนในระบบกลับมา ซึ่งเป็นวิธีการที่สหรัฐฯ จะชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจในประเทศลง หลังจากที่พลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศกลับมาได้อีกครั้ง        

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 62 คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) จะขยายตัวได้ประมาณ 3%กว่า หลังจากที่เศรษฐกิจไทยผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในช่วงครึ่งปีแรกของปี 61 ที่ขยายตัวได้สูงถึง 4.3% และเริ่มเห็นการชะลอตัวลงตั้งแต่ไตรมาส 3/61 เป็นต้นมา โดยคาดว่า GDP ปี 61 จะอยู่ที่ 4% ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ 4.3% ซึ่งปัจจัยที่กดดันเศรษฐกิจไทยมาต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 61 มาถึงปี 62  คือ ภาคการส่งออกที่ยังเผชิญกับความไม่แน่นอนของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ทำให้ภาคการส่งออกของไทยเริ่มขยายตัวได้ช้าลง ซึ่งหากสงครามการค้าบานปลายมากขึ้น จะส่งผลทำให้การค้าโลกชะลอตัวลง   

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวไทยในช่วงที่ผ่านมา ยังได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เรือล่มในจังหวัดภูเก็ต และปัจจุบันยังไม่มีแนวโน้มว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนจะกลับดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เป็นปัจจัยกดดันต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 61 และในปี 62

ด้านแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่า ในช่วง 12 เดือนนับจากนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจำนวน 1-2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% แต่เชื่อว่า กนง.จะไม่เร่งการขึ้นอัตราเบี้ย เพราะภาพรวมของเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง และยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก

 
 
 
 
 
ดร.อมรเทพ  จาวะลา  ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า ตลาดเกิดใหม่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากปัจจัยสงครามการค้า โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน ทำให้มีเงินไหลออก และการส่งออกชะลอตัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศเกิดใหม่ที่ชะลอตัวมากกว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งผลกระทบในรอบนี้ไม่เหมือนกับในช่วงปี 56 ที่ผ่านมา ที่เป็นวิกฤตแค่ชั่วคราว และแต่ละประเทศสามารถพลิกกลับมาตั้งตัวในสถานะที่ดีใหม่ได้

         
โดยครั้งนี้ประเด็นสงครามการค้า ถือเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อภาพรวมของการค้าโลกในระยะยาว และมีผลอย่างชัดเจนต่อประเทศเกิดใหม่ในภูมิภาคอาเซียนที่มีการส่งออกไปประเทศจีนที่เป็นคู่ค้าหลักเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาการส่งออกไทยเริ่มชะลอตัวลงโดยเศรษฐกิจไทยปีนี้และปี 62 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 4% เท่ากัน   

ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้อย่างมีนัยสำคัญ คือ การบริโภคของครัวเรือนในประเทศที่ยังคงเห็นการเติบโตได้ไม่ดีนัก แม้ว่าในไตรมาส 3/61 ที่ผ่านมา การบริโภคครัวเรือนจะเติบโตสูงถึง 5% แต่มาจากการเติบโตของยอดขายรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น 20% ทำให้การบริโภคครัวเรือนในไตรมาส 3  เติบโตได้สูง  ซึ่งเป็นปัจจัยผลักดันแค่ชั่วคราว สะท้อนให้เห็นว่ากำลังซื้อยังไม่เห็นการฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะกำลังซื้อในระดับล่างที่ยังได้รับผลกระทบจากหนี้ครัวเรือนที่สูง ราคาสินค้าเกษตรที่ยังตกต่ำ         

 
 
 
 
 
โดยที่การบริโภคครัวเรือนในช่วงที่เหลือของปีนี้และในปี 62 คาดว่ามีโอกาสเห็นการฟื้นตัวขึ้นได้เล็กน้อย หลังจากที่ภาครัฐเริ่มสนับุสนุนเม็ดเงินให้กับคนจน เพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชนระดับล่าง แม้ว่าภาวะราคาสินค้าเกษตรยังไม่ดีก็ตาม และในปี 62 ที่จะมีการเลือกตั้งในเดือนก.พ.62 จะทำให้การบริโภคสามารถกลับมาขยายตัวได้ และขึ้นไปแตะระดับจุดสูงสุดในช่วงไตรมาสแรกปี 62 และหลังจากนั้นจะค่อยๆ ชะลอตัวลงมา ซึ่งปัจจัยที่ต้องติดตามที่สำคัญยังคงเป็นทิศทางภาวะราคาสินค้าเกษตร ซึ่งจะมีผลต่อการบริโภคของภาคครัวเรือนระดับล่างในปี 62

   
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทในปี 62 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับปี 61 โดยที่ปัจจุบันค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาราว 1% แต่ยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าอื่นๆ เช่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่ค่าเงินของประเทศนั้นๆ อ่อนค่าลงมามากกว่าค่าเงินบาทของไทย และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงมาเป็นผลมาจากการที่ต่างชาติขายหุ้นไทยออกไปตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันมูลค่ารวม 2.7 แสนล้านบาท แต่ค่าเงินบาทของไทยยังถือว่ามีเสถียรภาพเมื่อเทียบกับสกุลเงินในประเทศเกิดใหม่อื่นๆ และคาดว่าในปี 62 มีโอกาสที่กระแสเงินทุนจะไหลเข้ามาในประเทศ    เพราะประเทศไทยยังถือเป็นประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานที่ดี มีทุนสำรองระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง มีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 พ.ย. 2561 เวลา : 14:13:36
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 3:33 pm