เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
SCB EIC ปรับลดจีดีพีไทยปีนี้เหลือโต3.8%


SCB EIC ปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือโต3.8% จากเดิมที่คาดจะโต4%  ผลจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอ  สงครามการค้าที่ส่งผลให้การส่งออกลดลงเหลือปีนี้โตเพียง 3.4% ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทในปีนี้น่าจะอยู่ที่ 31.50-32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในช่วงครึ่งปีหลังมีโอกาสที่กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้อีก 1 ครั้ง


 
นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)  เปิดเผยในงานแถลงเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/62 ว่า ธนาคารปรับเป้าหมายการเติบโตเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงเหลือ 3.8% จากเดิมคาดเติบโต 4% และชะลอตัวจากปีก่อนที่คาดว่าจะเติบโตได้ 4.2% ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ช่วงปลายของวัฏจักรเศรษฐกิจขาขึ้น (late expansion cycle) ตามภาวะการค้าโลกที่ชะลอลง จากการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศสำคัญที่ลดลง รวมทั้งผลกระทบจากสงครามการค้าที่ชัดเจนขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกของไทยชะลอลงในปีนี้เติบโตเหลือเพียง 3.4% จากปีก่อนเติบโต 7% 

ขณะที่วัฏจักรการเงินในประเทศได้ผ่านจุดสูงสุด ทำให้ภาวะการเงินจะเริ่มตึงตัวขึ้นแต่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีเมื่อเทียบกับในช่วง 5 ปีก่อนหน้า (ปี 56-60) ที่เติบโตเฉลี่ยได้ไม่ถึง 3% โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดีมาจากการใช้จ่ายในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในประเทศที่คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้กำลังการผลิตในหลายอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มดีขึ้น การลงทุนต่อเนื่องในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ และการย้ายฐานการผลิตมายังไทยของธุรกิจต่างชาติที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า

อีไอซีประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 62 จะขยายตัวได้ที่ราว 5.7% โดยคาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกในช่วงไตรมาส 2/62 และกลับมามีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี แต่จำนวนนักท่องเที่ยวในภาพรวมจะชะลอตัวจากปีก่อนที่คาดว่าเติบโต 6.8% ในด้านการบริโภคภาคครัวเรือนจะสามารถเติบโตได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปตามอัตราการว่างงานที่มีการฟื้นตัวอย่างช้าๆของรายได้ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ 

 
สำหรับความท้าทายในปีนี้จะทั้งจากปัจจัยภายนอกและในประเทศ โดยปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ได้แก่  สงครามการค้าที่อาจมีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่อาจยืดเยื้อและมีความไม่แน่นอนสูง และอาจส่งผลลบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจโลกได้มากกว่าที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ช่วงปลายของวัฏจักรขาขึ้น ภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนทางการเงินของ ประเทศต่างๆทยอยสูงขึ้น ขณะที่เงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิที่เข้ามาในตลาดเกิดใหม่มีแนวโน้มลดลงและผันผวนมากขึ้น และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และความไม่แน่นอนทางการเมือง ในภูมิภาคสำคัญ เช่น กรณีการแยกตัวของอังกฤษจากสหภาพยุโรป (Brexit) สถานการณ์ในอิตาลี และ การคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ 

ขณะที่ความท้าทายภายในประเทศที่สำคัญ ได้แก่ แนวโน้มภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง และรายได้ของครัวเรือนส่วนใหญ่ที่ฟื้นตัวช้า ซึ่งสะท้อนปัญหาในการปรับตัวของแรงงานและธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) ต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ภาวะการเงินในประเทศที่มีแนวโน้มตึงตัวขึ้นทั้งจากต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น และจากมาตรการ macroprudential ที่เข้ามากำกับดูแลการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และความไม่แน่นอนของกระบวนการ รวมถึงผลของการเลือกตั้งที่จะมีนัยสำคัญต่อความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและนักลงทุน ตลอดจนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ ของประเทศในระยะข้างหน้า

 
อีไอซีประเมินเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจควรเร่งปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ซึ่งอีไอซีประเมินว่าเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยในปี 2562 จะยังอยู่ในเกณฑ์ดีทั้งการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ความเพียงพอของทุนสำรองระหว่างประเทศ อัตราการว่างงานในระดับต่ำ ความสามารถในการใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจจากระดับหนี้สาธารณะที่ยังไม่สูงมากนัก

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทในปีนี้ อีไอซีมองว่ามีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 31.50-32.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ จากปีก่อนที่ 32.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯในปีนี้จะเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และเริ่มชะลอตัวลง อีกทั้งประธานเฟดได้ออกมาส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯในปี 62 ลงเหลือเพียง 2 ครั้ง
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 ม.ค. 2562 เวลา : 19:07:52
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 7:48 am