เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
EIC เชื่อเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งรับความเสี่ยงจากปัจจัยนอกประเทศได้


ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือSCB  EIC ระบุว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แถลงการณ์ปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลกในปี 2019 และ 2020 ลดลงอยู่ที่ 3.5% และ 3.6% ตามลำดับ จากประมาณการเดิมตามรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ณ เดือนตุลาคม ปี 2018 ที่ระดับ 3.7%ทั้งสองปี เนื่องมาจากการเติบโตของหลายกลุ่มประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงเร็วกว่าที่คาด ประกอบกับความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลลบต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลกระทบจากสงครามการค้าและแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน การตึงตัวขึ้นของภาวะการเงินโลก และปัจจัยทางด้านภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะความวุ่นวายทางการเมืองในหลายภูมิภาค


มุมมองของอีไอซีต่อเศรษฐกิจไทยสอดคล้องกับประมาณการใหม่ของ IMF โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่ชะลอลงและยังคงมีความเสี่ยง โดยIMFปรับประมาณการ การเติบโตทางเศรษฐกิจของ ASEAN-5 ลงจากประมาณการครั้งก่อน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่อีไอซีประเมินไว้ที่ระดับ 3.8% ในปี 2019 ชะลอลงจากปี 2018 ที่ 4.2% และคาดการณ์อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกไทยในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2019 ซึ่งขยายตัวที่ 3.4% ชะลอลงจากปี 2018 ที่ 6.7% สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยและหลายประเทศในกลุ่มอาเซียนยังคงเผชิญความเสี่ยงจากปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มขยายตัวลดลงในปี 2019 จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ DM และผลกระทบจากสงครามการค้า อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยจะยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ภายใน จากการใช้จ่ายทั้งการลงทุนในประเทศที่คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ขณะที่การบริโภคภาคครัวเรือนมีแนวโน้มเติบโตตามการฟื้นตัวของรายได้และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ 
          
อีไอซีมองความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกในปี 2019 สูงขึ้นสอดคล้องกับการปรับประมาณการใหม่ของ IMF ซึ่งประกอบด้วยความเสี่ยงสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1) สงครามการค้า ที่ยังต้องจับตาผลการเจรจาข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนภายในเดือนมีนาคม 2019 รวมถึงความเสี่ยงที่สหรัฐฯ อาจเก็บภาษีนำเข้าหมวดยานยนต์และชิ้นส่วน ภายหลังการประกาศผลการสืบสวน (ตามมาตรา 232 ของกฎหมายการค้าสหรัฐฯ) ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ 2) ภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้นต่อเนื่อง นำโดยการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ซึ่งทำให้ต้นทุนการระดมเงินทุนเพิ่มขึ้น และสภาพคล่องที่เคยล้นเหลือทยอยลดลงต่อเนื่องจากแนวโน้มการดำเนินโยบายการเงินที่เข้าสู่ภาวะปกติของธนาคารกลางหลักหลายประเทศและ 3) ปัญหาการเมืองและภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศทั่วโลก ซึ่งประเด็นสำคัญ ได้แก่ บทสรุปข้อตกลง Brexit ของสหราชอาณาจักรก่อนวันที่ 29 มีนาคม การเลือกตั้งสภายุโรปในเดือนพฤษภาคมที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองของยุโรป และประเด็นเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ (US debt ceiling) ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้สาธารณะและส่งผลต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ และมีเส้นตายการปรับขึ้นเพดานหนี้สาธารณะสหรัฐฯ ในช่วงเดือนสิงหาคม 2019 ซึ่งยังคงสร้างความเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและความผันผวนในตลาดการเงินโลกในปี 2019 ได้อย่างต่อเนื่อง 

อย่างไรก็ดีแม้เศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงและความผันผวนจากปัจจัยภายนอกประเทศยังคงมีสูง แต่เสถียรภาพภาคต่างประเทศของไทยยังคงแข็งแกร่ง ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถต้านทานผลกระทบจากภายนอกและสามารถเติบโตจากปัจจัยสนับสนุนภายในได้ ทั้งนี้ อีไอซีมองเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2019 จะทรงตัวอยู่ในกรอบ 31.5-32.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
         

LastUpdate 23/01/2562 17:20:13 โดย : Admin
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 7:44 pm