การตลาด
สกู๊ป "สมาคมผู้ค้าปลีกไทย"แนะ 8ข้อเสนอรัฐ อุ้มธุรกิจฟื้น


แม้ว่าภาพรวมธุรกิจค้าปลีกในปี 2561 ที่ผ่านมาจะมีสัญญาณการฟื้นตัวในทิศทางที่ดีขึ้นในทุกหมวดสินค้า แต่จากการที่ช่วงไตรมาสที่ 3-4 ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกอยู่ในภาวะที่ชะลอตัว ส่งผลให้ภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกในปี 2561 ที่ผ่านมาปิดตัวเลขไปได้เพียง3.1%เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกน่าจะมีอัตราการเติบโตใกล้เคียงกับGDPทั้งประเทศที่ประมาณ 4.-4.2%


การชะลอตัวของกำลังซื้อผู้บริโภคที่เกิดขึ้นดังกล่าวในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้แนวโน้มภาพรวมธุรกิจค้าปลีกในปี 2562 นี้ดูเหมือนจะยังไม่มีสถานการณ์ที่ดีขึ้น เนื่องจากตัวแปรเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความไม่ชัดเจนในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ราคาสินค้าเกษตรที่ทรงตัวและความไม่แน่นอนของการเมืองหลังการเลือกตั้งยังคงส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของไทยอย่างต่อเนื่อง

จากแนวโน้มที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้ทุกสถาบันต่างเห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจไทยในปี2562นี้ น่าจะมีการขยายตัวไม่แตกต่างจากปี2561 เพราะภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นแรงขับเคลื่อนหลักเศรษฐกิจของไทยยังคงขยายตัวในแบบช้าๆเนื่องจากขาดความชัดเจนในด้านการลงทุนของภาคเอกชน
 
 

 
 
นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่าการลงทุนของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาการของ 5โครงสร้างพื้นฐานหลักในเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก(EEC)โครงการสนามบินสุวรรณภูมิ หากยังคงเป็นไปตามแผนที่รัฐบาลประกาศไว้ อาจทำให้การลงทุนภาคเอกชนมีความมั่นใจ ทำให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งโครงการต่างๆจะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศให้ฟื้นตัวโดยเฉพาะเงินที่หมุนเวียนผ่านการจ้างงานและการจัดซื้อจัดจ้างจะหมุนเวียนลงสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวด้วยการให้ Visa on Arrival รวมถึงมาตรการ Double Entry Visa อาจจะช่วยเรื่องการท่องเที่ยวได้ส่วนหนึ่ง แต่หากโครงสร้างภาษีนำเข้าและการดำเนินการของร้านค้าปลอดภาษีและอากรยังมีความบิดเบือน การจับจ่ายของนักท่องเที่ยวร้านค้าในเมืองก็ยังคงไม่เกิดผลดีต่อการเติบโต

เช่นเดียวกับสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นรายได้หลักของกลุ่มคนฐานรากกลุ่มใหญ่ของประเทศจากการคาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรโภคภัณฑ์อาจไม่เพิ่มขึ้นตามทิศทางตลาดโลก แต่อาจมีเพียงข้าวที่ทำรายได้ได้ดีในระดับหนึ่ง สอดคล้องกับเสถียรภาพทางการเมืองหลังเลือกตั้ง ภาคธุรกิจค้าปลีกคงต้องเฝ้าติดตามบรรยากาศโดยภาพรวม ซึ่งจะส่งผลเกี่ยวข้องโดยตรงกับการตัดสินใจเดินหน้าการค้าและการลงทุนในปีต่อๆไป

นายวรวุฒิกล่าวต่อว่าอุตสาหกรรมภาคค้าปลีกคงหวังไม่ได้กับ“มาตรการ อังเปาช่วยชาติ”ที่จะช่วยกระตุ้นการบริโภค ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะมีการจับจ่ายกว่าแสนล้านโดยมีผู้บริโภคเข้าร่วมโครงการกว่า 6ล้านคนแต่ข้อมูลล่าสุดมีผู้เข้าร่วมลงทะเบียนเพียงหลักหมื่นคน ทำให้การจับจ่ายเหลือเพียงประมาณหมื่นล้านบาท เมื่อรวมถึงการเลือกตั้งที่จะมีเงินสะพัดราว 50,000 ล้านบาท ทำให้ครึ่งปีแรกจะมีเงินสะพัดเพียงประมาณ 60,000 ล้าน ซึ่งถือว่าอยู่ค่อนข้างน้อย ดังนั้นภาพรวมค้าปลีกครึ่งปีแรก คงจะไม่เห็นการเติบโตภาคค้าปลีกเพิ่มขึ้นแต่อย่างไร

 
 
 
จากปัจจัยลบต่างๆที่เกิดขึ้นทำให้สมาคมผู้ค้าปลีกไทยจึงมีเสนอแนะต่อภาครัฐบาลด้วยกัน 8ข้อ เพื่อกระตุ้นให้ภาพรวมเศรษฐกิจมีการขยายตัวที่ดีขึ้นประกอบด้วย
1. รัฐบาลควรให้ความสำคัญต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่งอย่างจริงจัง เนื่องจากภาคค้าปลีกเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ  เพราะมีสัดส่วน GDP ในด้านการผลิตเป็นอันดับ 2รองจากภาคอุตสาหกรรม ขณะการจ้างงานอยู่เป็นอันดับ 1ของการแจ้งงานนอกภาคเกษตร

2. รัฐบาลควรศึกษาและพิจารณาเรื่องการลดภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์หรูอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในกลุ่มแฟชั่น เครื่องสำอาง เครื่องหนัง และนาฬิกาชั้นนำ (Luxury Brand) เพื่อกระตุ้นยอดจับจ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติในเมืองให้เพิ่มขึ้น 3. สร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคภายในประเทศและผู้บริโภคที่เป็นนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ โดยให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประกาศจัดงาน “Thailand Brand Sale” ระยะเวลา 3 เดือน (ช่วง low season ของการท่องเที่ยว หรือช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค.) ลดภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์หรูในกลุ่มแฟชั่น เครื่องสำอาง เครื่องหนัง และนาฬิกาชั้นนำ (Luxury Brand) เพื่อกระตุ้นยอดจับจ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เพิ่มขึ้น

4. ภาครัฐต้องไม่ปิดกั้นผู้ประกอบการรายอื่นๆให้เข้ามาดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินและพื้นที่ค้าปลีกนอกสนามบิน เพื่อเปิดแข่งขันเสรีในทุกภาคส่วนในประเทศไทย เพื่อรัฐจะสามารถสร้างรายได้มากขึ้น 5. ภาครัฐจะต้องมีการออกกฎระเบียบประกาศค่าจ้างขั้นต่ำเป็นรายชั่วโมง เพื่อให้สามารถจ้างงานบุคคลกลุ่มดังกล่าวได้ ซึ่งปัจจุบันกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ได้กำหนดให้พนักงานที่ไม่ใช่นักเรียน นักศึกษา หากทำงานเป็นรายชั่วโมงจะต้องมีรายได้ต่อวันเท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งหมายความว่า หากบริษัทฯจะจ้างพนักงานรายชั่วโมงทำงาน 4ชม. ก็ต้องจ้าง 300-360 บาท ตามประกาศค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน

6. นโยบายการจ้างงานผู้สูงอายุขอให้พิจารณาปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างผู้สูงอายุที่สามารถใช้ลดหย่อนภาษี ทั้งนี้ปัจจุบันกำหนดไว้ที่15,000 บาท และขอให้พิจารณากรณีค่าจ้างสูงกว่า 15,000 บาท ให้สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุดที่ 15,000 บาท เพราะปัจจุบันหากค่าจ้างสูงกว่า 15,000 บาท จะไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เลย 7. ภาครัฐต้องสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนในอุตสาหกรรมค้าปลีก-ค้าส่ง ตลอดจนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจบริการให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาระบบทวิภาคี เช่น การลดหย่อนภาษีหรือสิทธิพิเศษอื่นๆอีกทั้งภาครัฐจะต้องมีมาตรการสนับสนุนการนำคุณวุฒิวิชาชีพมาเป็นมาตรฐานการจ้างงานโดยเริ่มที่การจ้างงานภาครัฐก่อน

สำหรับข้อ 8ซึ่งเป็นข้อสุดท้าย สมาคมผู้ค้าปลีกไทยต้องการให้ภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมการค้าชายแดนอย่างชัดเจน โดย พิจารณาผ่อนผันการเปิดด่านต่างๆ การเพิ่มจำนวนด่านและอำนวยความสะดวก รวมทั้งพิจารณาให้มี VAT Refund for Tourist ในกรณีนักท่องเที่ยวเพื่อนบ้านเดินทางเข้ามาในประเทศไทยโดยใช้เส้นทางบก

ทั้งนี้หากภาครัฐสามารถดำเนินการเรื่องดังกล่าวได้ ทั้งGDPและภาพรวมของธุรกิจค้าปลีก ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนหลักเศรษฐกิจไทยต้องมีอัตราการเติบโตดีขึ้นกว่าที่คาดหมายไว้อย่างแน่นอน โดยในส่วนของดัชนีค้าปลีกในปี2562นี้ สมาคมผู้ค้าปลีกไทยคาดการณ์ว่าอาจจะทรงตัวหรืออาจจะต่ำกว่าเดิมเล็กน้อย เมื่อเทียบกับปี2561หรือมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 3-3.1%

อย่างไรก็ดีแม้ว่าจะเติบโตดีขึ้นแต่ก็ถือว่ายังเติบโตน้อยกว่าGDPทั้งประเทศที่คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ3.5-4% หากไม่มีปัจจัยลบมาส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนและผู้บริโภค

LastUpdate 18/02/2562 07:50:05 โดย : Admin
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 10:28 am