เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ31.50-31.90 บาท/ดอลล์


กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ31.50-31.90 บาทต่อดอลาร์สหรัฐ หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ7สัปดาห์


กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัด(มหาชน)มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่ามีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.50-31.90 ต่อดอลลาร์เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 31.76 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ7สัปดาห์ ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยมูลค่า 7.1 พันล้านบาท และ6.3 พันล้านบาทตามลำดับ ส่วนเงินดอลลาร์แข็งค่าเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเงินยูโรแตะระดับอ่อนค่าสุดนับตั้งแต่กลางปี 2560 หลังธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี)เลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไปจนถึงปี 2563และเสนอมาตรการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำรอบใหม่แก่ธนาคารพาณิชย์เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ยูโรโซนเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงด้านมาตรการกีดกันทางการค้า ความไม่แน่นอนเรื่อง Brexit และปัญหาหนี้สินของอิตาลี

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่าตลาดจะให้ความสนใจข้อมูลยอดค้าปลีกและเงินเฟ้อของสหรัฐฯ การโหวตแนวทาง Brexit ในรัฐสภาสหราชอาณาจักร รวมถึงการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ) ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้ตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯจะอ่อนแอลงมากแต่ค่าจ้างเติบโตสูงกว่าคาดและอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 50 ปี ที่ 3.8% โดยการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์อาจเป็นไปอย่างจำกัดแม้มีข้อมูลสนับสนุนว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้

สำหรับปัจจัยในประเทศธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ระบุว่าตั้งแต่ต้นปีนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นโดยมีสาเหตุหลักมาจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ขณะที่ในภาพรวม เงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับสกุลเงินตลาดเกิดใหม่และประเทศเพื่อนบ้าน โดยการแข็งค่าและความผันผวนของเงินบาทอยู่ในระดับกลางๆ อนึ่ง ธปท.กล่าวว่าได้เข้าดูแลตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิดในบางช่วงที่เงินบาทแข็งค่าเร็วและไม่สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจ โดยในระยะถัดไปทางการประเมินว่าเงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนตามเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลก เรามองว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวลักษณะย่ำฐานในช่วงสั้นๆตามปัจจัยค่าเงินดอลลาร์ ขณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่รอดูสัญญาณจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 20 มีนาคมและความชัดเจนทางการเมืองหลังการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 11 มี.ค. 2562 เวลา : 17:49:58
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 6:25 pm