เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
รายได้"ฟรีแลนซ์"ไม่เสถียรวางแผนประหยัดภาษีดีๆ"มั่งคั่ง-ร่ำรวย"ได้


ปัญหายอดฮิตสำหรับภาษีกับคนทำอาชีพฟรีแลนซ์ต้องบอกว่าเป็นปัญหาที่อยู่คู่กันมาอย่างยาวนาน เพราะไม่มีคนคอยทำเอกสารการเงินให้พอรับเงินค่าจ้างโอนเข้าบัญชีในแต่ละเดือนไม่เท่ากัน ซึ่งมาพร้อมกับหนังสือหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% ไปแล้วจึงคิดว่าจ่ายภาษีทุกอย่างครบถ้วนเรียบร้อยดี


แต่สุดท้ายก็ต้องเผชิญกับปัญหาตอนหลังเรื่องการไม่จ่ายภาษีถูกปรับเงินจากสรรพากรแตกต่างจาก มนุษย์เงินเดือน หรือคนที่มีงานประจำที่มีคนดูแลทำให้

วันนี้มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯจึงขอแนะนำ“5 เทคนิคประหยัดภาษีง่ายๆสไตล์ฟรีแลนซ์”มาลอง

เทคนิคแรก คุณต้องเข้าใจประเภทรายได้ของตัวเองซึ่งรายได้ของ“อาชีพฟรีแลนซ์”จะแตกต่างจากมนุษย์เงินเดือน คือแม้คนมีอาชีพฟรีแลนซ์ แม้มีรายได้เป็นเงินก้อน แต่ไม่คงที่ซึ่งส่วนใหญ่จะจ่ายเป็นเงินได้ประเภท 40(2) ซึ่งคุณสามารถหักค่าใช้จ่ายได้50%แต่ไม่เกิน100,000 บาท

แถมยังหักค่าลดหย่อนส่วนตัวได้ 60,000 บาท เหมือนมนุษย์เงินเดือนแต่รายได้จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% และเมื่อครบปีภาษีจะต้องรวบรวมรายได้ทั้งหมดไปคำนวณเพื่อจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามฐานภาษีเช่นเดียวกัน

มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯขอแสดงตัวอย่างให้เข้าใจง่ายๆโดยตัวอย่างนี้หากคุณมีเงินได้ทั้งปี 1,000,000 บาท ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว 3%หรือ 30,000 บาท และนำมาคำนวณภาษีโดยหักแค่ค่าลดหย่อนพื้นฐานจะเห็นได้ว่าเรายังต้องชำระภาษีเพิ่มเติมอีก 53,000 บาท

เทคนิคที่ 2 การจดบันทึกข้อมูลรายได้ให้ครบถ้วนเป้าหมายเพื่อให้รู้รายละเอียดของรายได้จากการทำงานแต่ละครั้ง และจำนวนเงินที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 3%ไปแล้ว รวมทั้งควรติดตามหนังสือรับรองภาษีหัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ครบถ้วนทุกรายการเงินได้เพื่อเป็นข้อมูลในการยื่นแบบแสดงเงินได้ให้กับกรมสรรพากร

เทคนิคที่ 3 การคำนวณสถานะเงินได้สุทธิเป็นประจำเนื่องจากทุกเดือนที่คุณมีรายได้เกิดขึ้นก็ควรนำมาคำนวณว่า เงินได้ของคุณเมื่อหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนภาษีขั้นพื้นฐานแล้วจะมีเงินได้สุทธิเท่าไหร่ เพื่อให้ทราบว่าปัจจุบัน สถานะทางการเงินเป็นอย่างไร

ส่วนเทคนิคที่ 4 ทยอยลงทุนเพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี หลังจากที่คุณรู้จำนวนเงินได้สุทธิแล้ว เมื่อมีรายได้ใหม่ๆ เกิดขึ้นก็ย่อมทำให้ฐานภาษีของเราสูงขึ้น

ดังนั้นอย่ารอช้าให้รีบวางแผนภาษี“ฉบับฟรีแลนซ์”ได้เลยโดยเริ่มต้นจากการคำนวณวงเงินที่คุณสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้

จากนั้นคุณก็จัดสรรเงินไปออมและลงทุนในทางเลือกต่างๆ ตามระดับความเสี่ยงที่คุณยอมรับได้ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF)หรือประกันชีวิตที่มีความคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไปก็ได้ เมื่อแผนพร้อมแล้วก็ทยอยลงทุนตามทางเลือกที่เรากำหนดไว้ได้เลย

และเทคนิคที่ 5 ตั้งนิติบุคคลเมื่อธุรกิจไปได้ดีในกรณีที่คุณมีรายได้เป็นจำนวนมากและได้วางแผนใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจนถึงเพดานสูงสุดแล้ว คุณก็อาจตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อขยายกิจการให้ใหญ่โตขึ้น วิธีนี้จะทำให้คุณสามารถนำค่าใช้จ่ายต่างๆมาใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของนิติบุคคลได้

หากคุณลองใช้ 5 เทคนิคที่ มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯแนะนำมาในครั้งนี้โดยที่คุณเองต้องเก็บข้อมูลเงินได้ให้พร้อม เพื่อนำมาคำนวณภาษีเงินได้ของตัวคุณเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อดูว่าเมื่อภาษีหัก ณ ที่จ่ายแล้ว คุณยังต้องจ่ายภาษีเพิ่มอีกเท่าไหร่ เพื่อทำให้คุณสามารถวางแผนภาษี เพื่อสร้างความมั่งคั่งและร่ำรวยได้

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 พ.ค. 2562 เวลา : 11:27:25
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 10:02 am