แบงก์-นอนแบงก์
ธนาคารเอชเอสบีซีชี้อาเซียนต้องรุกชูจุดขายเพื่อบรรลุศักยภาพห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาค


ธนาคารเอชเอสบีซีระบุว่าการเปลี่ยนวิถีของห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่มายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยไม่อาจจะเกิดขึ้นได้ หากขาดการปรับปรุงเทคโนโลยีและกำลังการผลิตตลอดจนการ บูรณาการในระดับภูมิภาค


ทั้งนี้ธนาคารเอชเอสบีซีได้แสดงความเห็นต่อกรณีมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงการเคลื่อนย้ายห่วงโซ่อุปทานไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากเศรษฐกิจและตลาดผู้บริโภคของภูมิภาคนี้กำลังเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ความตึงเครียดทางการค้าและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อตลาดอื่นๆแม้จะมีการคาดเดากันทั่วไป แต่การเคลื่อนย้ายห่วงโซ่อุปทานจำนวนมหาศาลจนถึงขณะนี้ยังเกิดขึ้นในปริมาณที่น้อย

นายเคลวิน แทน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า“การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในการค้าโลกกำลังทำให้ธุรกิจหันมาทบทวนกลยุทธ์การลงทุนในห่วงโซ่อุปทานและกำลังการผลิตของตนเอง แต่จนถึงขณะนี้เราก็ยังไม่เห็นว่าจะเปลี่ยนไปสู่การเคลื่อนย้ายห่วงโซ่อุปทานจำนวนมหาศาลไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้หรือส่วนอื่นๆของโลก”

จากสถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้า แทนที่จะเห็นการเคลื่อนย้ายห่วงโซ่อุปทานจำนวนมากไปยังอาเซียน บริษัทข้ามชาติหลายแห่งกำลังเลี่ยงไปใช้กลยุทธ์การจัดการห่วงโซ่อุปทานแบบผสมผสานระหว่างการปรับตัวเข้ากับท้องถิ่น (localization)การดำเนินกิจกรรมการผลิตนอกประเทศ (offshoring)และการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ (reshoring)

ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้รวมทั้ง
· บริษัท Toyo Tires and Rubber ของญี่ปุ่น กำลังเตรียมใช้เงินลงทุนกว่า 187 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพื่อขยายโรงงานในสหรัฐอเมริกาและมาเลเซีย
· บริษัท Guizhou Tyresในประเทศจีน ขยายธุรกิจโรงงานผลิตยางรถยนต์ในเวียดนามที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ด้วยงบลงทุนที่เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
· บริษัทสัญชาติตะวันตกในที่อื่น ๆ อย่างเช่น Intel, WhirlpoolและCaterpillar มีการย้ายฐานการผลิตกลับมาอยู่ใกล้บ้าน และเพื่อง่ายต่อการเข้าถึงเทคโนโลยีที่มีคุณภาพขั้นสูงกว่า
· บริษัทหลายแห่งทั่วยุโรป อย่างเช่น Dyson บริษัทผู้ผลิตสัญชาติอังกฤษ กำลังเดินหน้าลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อตอบสนองตลาดผู้บริโภคท้องถิ่นในขณะที่ยังคงมีโรงงานผลิตเพื่อการส่งออกในตลาดอื่นๆ

· เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในธุรกิจสารกึ่งตัวนำ (semi-conductors) ขยายตัวร้อยละ18ในช่วงครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2561เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยไทยและฟิลิปปินส์ได้รับอานิสงส์มากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญของบริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือสัญชาติไทย มูลค่า 2.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ รวมถึงบริษัท New Kinpo เตรียมจะเปิดโรงงานแห่งใหม่ในฟิลิปปินส์ และ Hysoung Corp กำลังลงทุนในโครงการผลิตโพลี่โพรพีลีน มูลค่า1.2พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

นายแทน กล่าวต่อว่า“การเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทานเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในเทคโนโลยีการผลิต ต้นทุนแรงงานและตลาดผู้บริโภคที่เกิดใหม่ โดยตลอดทศวรรษที่ผ่านมา อาเซียนถูกมองเป็นทางเลือกในการเป็นฐานการผลิตที่แข็งแกร่งสำหรับบริษัทข้ามชาติ จากบทบาทของอาเซียนในการจัดการห่วงโซ่อุปทานที่มีอยู่ ฐานผู้บริโภคที่กำลังขยายตัว และความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนที่แข็งแกร่ง”

“ธุรกิจจากประเทศจีน ยุโรปและสหรัฐอเมริกาต้องการจะเห็นภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย เป็นทางเลือกที่มีศักยภาพในการผลิตสินค้าราคาถูกต่อไป และหลายโครงการริเริ่มดังเช่น เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 (Belt and Road) กำลังเร่งทวีกำลังการผลิตของภูมิภาคนี้ให้มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม เพื่อพัฒนาศักยภาพห่วงโซ่อุปทานที่เป็นจุดขายของภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำเป็นต้องสร้างภาพตนเองให้เด่นชัด และสร้างความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นแก่บรรดาบริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถในการบริหารจัดการคำสั่งผลิตและส่งมอบสินค้า”

ทั้งนี้มีประเด็นสำคัญหลายเรื่องที่จะมีผลต่อบริษัททั้งรายใหญ่และรายเล็ก รวมไปถึงการที่อาเซียนจะบริหารจัดการต้นทุนการผลิตอย่างไรให้สามารถแข่งขันได้ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างไรเพื่อปรับปรุงผลิตภาพ โดยในท้ายที่สุดจะต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เกี่ยวข้องด้วย ตลอดจนการที่ธุรกิจต่างๆรู้สึกมั่นใจหรือไม่ว่าจะมีการบริหารจัดการคำสั่งผลิตได้ตรงเวลาและด้วยงบประมาณที่กำหนด

โดยในระดับรัฐบาลประเด็นเหล่านี้จำเป็นต้องส่งเสริมความรู้ความเข้าใจแก่บริษัทต่างชาติเกี่ยวกับกรอบกฎระเบียบและข้อบังคับ สิทธิประโยชน์ทางภาษีและเขตการค้าเสรีควบคู่ไปกับการชี้แจงถึงการพัฒนาปรับปรุงท่าเรือ รางรถไฟ และโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งอื่นๆ

รัฐบาลของประเทศสมาชิกอาเซียนจำเป็นจะต้องแสดงให้เห็นถึงแนวทางที่นำไปสู่การริเริ่มในระยะยาวเพื่อขจัดอุปสรรคการค้าที่มิใช่มาตรการทางภาษีสำหรับการไหลเวียนสินค้าทั่วอาเซียน การพัฒนาแรงงานฝีมือ และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และการเคลื่อนย้ายข้อมูลเชิงพาณิชย์ระหว่างประเทศ

ประเด็นที่ควรให้ความสนใจโดยเฉพาะเพื่อปรับปรุงกระแสการค้าภายในภูมิภาคอาเซียน ประกอบด้วย
· การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของอาเซียน รวมทั้งถนน รางรถไฟ และท่าเรือ
· นโยบายที่ยกระดับการยอมรับเทคโนโลยีเพื่อใช้ปฏิบัติงาน
· การเพิ่มจำนวนแรงงานฝีมือและการไหลเวียนของแรงงานฝีมือ
· การเพิ่มมูลค่าการส่งออกขั้นต่ำสำหรับสินค้าที่ต้องการหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin)
· จัดตั้งระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ครอบคลุมทั่วทุกประเทศในอาเซียน
· บังคับใช้การตรวจปล่อยสินค้าที่ง่ายและเร่งด่วนสำหรับการขนส่งสินค้าทางเรือที่มีมูลค่าต่ำ
· บังคับใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการชำระเงินค่าอากรและภาษีระหว่างประเทศ
· จัดทำมาตรฐานสินค้าทั่วทุกหมวดสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนให้สอดคล้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรฐานของประเทศใดประเทศหนึ่ง
· นโยบายที่ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงพาณิชย์ระหว่างประเทศ
· เชื่อมโยงระบบการชำระเงินของประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อก่อให้เกิดการชำระเงินที่สะดวก ราคาถูก รวดเร็ว ไร้พรมแดน และปลอดภัย

ข้อมูลจากองค์กรกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจระหว่างประเทศ(World Economic Forum)ระบุว่าการลดอุปสรรคในการจัดการห่วงโซ่อุปทานจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตร้อยละ9.3 และการส่งออกของภูมิภาคขยายตัวขึ้นร้อยละ12.1

นายแทน กล่าวสรุปว่า"แม้ว่าความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยและมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกอย่างจีนโดยทั่วไปแล้วดำเนินไปด้วยดีและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีประเด็นต่าง ๆ อีกมากภายในอาเซียนที่ต้องจัดการ เพื่อปรับปรุงกระแสการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาคให้ดียิ่งขึ้น ความคล่องตัวและความรวดเร็วในการตอบสนองของรัฐบาลอาเซียนและองค์กรธุรกิจต่อปัจจัยท้าทายเหล่านี้จะตัดสินว่าศักยภาพห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาคจะเป็นที่ยอมรับของบรรดาบริษัทต่างชาติที่กำลังทบทวนวิถีทางธุรกิจของตนเองอยู่ในขณะนี้หรือไม่”

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 พ.ค. 2562 เวลา : 18:00:19
30-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 30, 2024, 10:54 am