ซีเอสอาร์-เอชอาร์
ซีพีเอฟและชุมชนปั้น Seed Ball เติมป่าเขียวที่เขาพระยาเดินธง ลพบุรี


ฝายชะลอน้ำทั้งเล็กและใหญ่ในพื้นที่เขาพระยาเดินธง จ.ลพบุรี กักเก็บน้ำไว้เต็มทุกฝาย หลังจากที่ฝนตกลงมาระลอกใหญ่เมื่อไม่กี่วันมานี้ต้นไม้ในป่าผลิยอดเขียวเช่นเดียวกันหน่อกล้วยที่เพิ่งถูกนำลงดินเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว แตกยอดอ่อนหลังรับน้ำฝนชุ่มฉ่ำเต็มที่ ซึ่งในระยะต่อไปหน่อกล้วยเหล่านี้จะช่วยรักษาความชื้นในป่าและยังสามารถเป็นแนวกันไฟแบบธรรมชาติได้อีกด้วย  

 
 
 
 
 
ก้อนSeed Ball ซึ่งจิตอาสาซีพีเอฟและชุมชนช่วยกันปั้นและนำไปวางตามหลุมที่ขุดไว้ในพื้นที่ป่าจำนวน 2,000 ก้อน เริ่มงอกเป็นต้นกล้าที่พร้อมจะเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ในอนาคต  ความเขียวชะอุ่มและความชุ่มชื้นที่เกิดขึ้นนี้ เป็นผลจากกความร่วมมือในกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูป่าที่มีกรมป่าไม้ร่วมกับชุมชน และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) หรือซีพีเอฟ ดำเนินการภายใต้โครงการ“ซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง”โครงการที่อนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าใหม่ในพื้นที่ 5,971 ไร่ ที่เขาพระยาเดินธง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี    

 
 
 
นายหงษ์พิจารณ์ บัวไข นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ซึ่งทำหน้าที่สาธิตและอธิบายขั้นตอนการทำSeed Ballที่ถูกวิธี กล่าวว่า Seed  Ball เป็นรูปแบบหนึ่งของการฟื้นฟูป่าที่เลียนแบบธรรมชาติโดยใช้เมล็ดหยอดหลุมให้งอกเองในพื้นที่ป่า ซึ่งเมล็ดที่นำไปวางในหลุมมาจากการผสมดินเหนียว ปุ๋ยหมักหรือดินดำปลูกต้นไม้ที่ผสมปุ๋ยแล้วกับน้ำ ปั้นเป็นก้อนพอเหมาะนำไปผึ่งแดดหรือลม ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้มีการนำSeed Ballที่ปั้นแล้วไปวางตามหลุมที่ขุดไว้ เพื่อช่วยเพิ่มอัตราการงอกของเมล็ดตามธรรมชาติในพื้นที่เขาพระยาเดินธง โดยชนิดของพันธุ์ไม้ที่ใช้ต้องเลือกชนิดไม้เปลือกแข็ง งอกได้เร็วและเป็นไม้โตเร็ว อาทิ ขะเจ๊าะ(สาธร) งิ้วป่า ทองหลางป่า ประดู่ป่า เสี้ยวป่า มะกล่ำต้น มะค่าแต้ มะค่าโมง พฤกษ์ ถ่อนแดง กระพี้จั่น เป็นต้น       
      
ด้านนายรวบ ชัยวัติ ผู้ใหญ่บ้านห้วยบง เล่าว่าเข้าหน้าฝนอย่างนี้ชาวบ้านในชุมชนใกล้ๆโครงการเขาพระยาเดินธง ได้อาศัยเข้าไปเก็บเห็ด หน่อไม้ ผัก มาทำอาหาร ตอนนี้ป่าไม้เริ่มสมบูรณ์แล้ว ชาวบ้านเองก็ดีใจที่ได้ป่ากลับคืนมาเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับนักเรียน นักศึกษา เยาวชนมาดูเรื่องการปลูกป่าและต่อไปไม่ใช่แค่ที่เราจะต้องช่วยกันดูแลป่าแต่จะต้องช่วยกันปลูกป่าและป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าด้วย เพราะสุดท้ายแล้วประโยชน์ก็ตกอยู่กับชุมชนเอง นอกจากนี้  ชาวบ้านยังมีรายได้จากกิจกรรมฟื้นฟูป่า อาทิ หน่อกล้วยที่นำไปปลูกเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของดินและป่า ทางซีพีเอฟ ก็เข้ามารับซื้อจากชาวบ้านในหมู่บ้านรอบๆโครงการ    
 
อนุชิต ศรีสุระ จิตอาสาที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมปลูกต้นกล้าทำฝายชะลอน้ำ กำจัดวัชพืช และทำ Seed Ball เล่าว่า  กิจกรรมล่าสุดที่ร่วมกันทำSeed Ball ทำให้มีโอกาสเรียนรู้ขั้นตอนและวิธีการทำSeed Ballที่ถูกตามหลักวิชาการของกรมป่าไม้และยังได้ทราบเทคนิคต่างๆ เช่น ใส่น้ำส้มควันไม้ผสมกับดินเหนียวก่อนปั้นเป็นก้อนทรงกลม เพื่อป้องกันการกัดแทะของแมลงที่มีต่อเมล็ดพันธุ์ ซึ่งการทำSeed Ballดีต่อการปลูกป่าคือได้พันธุ์ไม้ที่แข็งแรงเนื่องจากกล้าไม้ที่งอกจากเมล็ดพันธุ์ที่ไม่มีการเคลื่อนย้ายจะได้กล้าที่สมบูรณ์แข็งแรง ระบบรากไม่กระทบกระเทือน จึงทำให้กล้าไม้เจริญเติบโตได้ดี
 
 
 
 
 
เช่นเดียวกับจิตอาอาสาอีกคนที่ร่วมกิจกรรมปลูกป่าอยู่เสมอ "ต๊อด" สุรพัฒน์ สายเพชร กล่าวว่า ก่อนที่จะมาร่วมกิจกรรมทำSeed ball คิดว่าคงเป็นการปั้นดินใส่เมล็ดพันธุ์ไม้ธรรมดาๆแล้วก็โยนไปในป่า แอบคิดว่ามันจะรอดมั้ยแต่เมื่อได้มาฟังวิทยากรของกรมป่าไม้และลงมือทำมันมีขั้นตอนที่ละเอียดอยู่เหมือนกัน ตั้งแต่การเลือกชนิดพันธุ์ไม้ การผสมดิน การผสมน้ำส้มควันไม้เพื่อกันแมลง การปั้นดินให้ได้ขนาดพอเหมาะ ทุกคนช่วยกันปั้นและนำไปกระจายใส่ตามหลุมที่ขุดเตรียมไว้ คาดหวังว่าเมล็ดไม้ทุกลูกที่ทำขึ้นมาจะเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ต่อไป
 
 
 
โครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2559จากพื้นที่เขาหัวโล้น เต็มไปด้วยวัชพืชและหนามสนิม ซีพีเอฟมุ่งมั่นจับมือชุมชน และกรมป่าไม้ ดูแลอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 4 ของโครงการ  ภายใต้เป้าหมายโครงการ 5 ปี (ปี 2559-2563)เพาะกล้าไม้ไปแล้วรวมกว่า 3 แสนกล้า สร้างฝายชะลอน้ำทั้งหมด 45 แห่ง ผลสัมฤทธิ์ที่เห็นเป็นรูปธรรมในวันนี้ ไม่เพียงต้นกล้าที่ปลูกมีอัตรารอดถึง90% แต่ปัจจุบันความหลากหลายทางชีวภาพกลับคืนสู่ป่าแห่งนี้ ทั้งสัตว์ชนิดต่างๆและพันธุ์ไม้ที่เติบโตขึ้นเป็นลำดับ เป็นแหล่งพืชอาหาร สมุนไพรและไม้ใช้สอยให้กับชุมชน นอกจากนี้ในอนาคตพื้นที่เขาพระยาเดินธงจะเป็นต้นแบบการปลูกป่าให้กับการฟื้นฟูป่าในพื้นที่อื่นๆของประเทศและเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการฟื้นฟูสภาพป่าไม้ให้กับเยาวชนและประชาชนต่อไป

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 มิ.ย. 2562 เวลา : 18:25:40
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 9:49 pm