การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
สธ. แนะประชาชน หากไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ น้ำหนักลด เบื่ออาหารอาจเป็นวัณโรคปอด


กระทรวงสาธารณสุข เร่งรัดคัดกรอง ค้นหา ตรวจและรักษาผู้ป่วยวัณโรคในประชากรกลุ่มเสี่ยง ยุติปัญหาวัณโรคของประเทศ แนะประชาชนหากมีอาการไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ น้ำหนักลด เบื่ออาหาร เหงื่อออกกลางคืนหรืออยู่ร่วมบ้านกับผู้ป่วยวัณโรค โดยเฉพาะเด็กให้ไปรับการตรวจคัดกรองที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน กินยาต่อเนื่อง รักษาหายขาด


นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ว่ากระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายในการค้นหาคัดกรอง ป้องกัน ดูแลรักษาและควบคุมวัณโรค เพื่อยุติปัญหาวัณโรคของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ในปี2560-2561คัดกรองค้นหาในกลุ่มเสี่ยงประมาณ 5 ล้านคนอาทิ ผู้ต้องขัง ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้สัมผัสร่วมบ้าน ผู้สูงอายุที่มีโรค ผู้ป่วยเบาหวาน แรงงานข้ามชาติ บุคลากรสาธารณสุข พบผู้ป่วยวัณโรค 22,784 รายและส่งต่อป่วยเข้าสู่ระบบการรักษา สำหรับในปี2562ตั้งเป้าหมายลดผู้ป่วยรายใหม่ให้เหลือ 88 คนต่อแสนประชากรในปี 2564จากที่พบ 156 คนต่อแสนประชากรในปี 2560

“ขอให้ประชาชนสังเกตอาการตนเองและคนในครอบครัว หากมีอาการไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ น้ำหนักลด เบื่ออาหาร เหงื่อออกกลางคืนหรืออยู่ร่วมบ้านกับผู้ป่วยวัณโรค โดยเฉพาะเด็กให้ไปรับการตรวจคัดกรองที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หากป่วยจะได้รับการรักษา ซึ่งโรคนี้มียารักษาหายขาดจะได้ผลดีถ้ารับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรกและต้องกินยาอย่างสม่ำเสมอติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน ร่วมกับการพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีโปรตีนและวิตามิน เพิ่มภูมิต้านทานร่างกาย” นายแพทย์สุขุมกล่าว

ด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าวัณโรคเป็นโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อว่าไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส  (Mycobacterium tuberculosis) ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ80 เกิดที่ปอดและสามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น เยื่อหุ้มสมอง ต่อมน้ำเหลือง กระดูก เป็นต้น กลุ่มที่รับเชื้อได้ง่ายคือเด็กจะรับเชื้อจากผู้ใหญ่ที่เป็นวัณโรคระยะแพร่เชื้อ โดยเชื้อจะออกมากับการไอ จาม ในห้องที่ทึบอับแสงเชื้อวัณโรคอาจมีชีวิตอยู่ได้ถึง 1 สัปดาห์ ถ้าเสมหะที่มีเชื้อลงสู่พื้นที่ไม่มีแสงแดดเชื้ออาจอยู่ในเสมหะแห้งได้นานถึง 6 เดือน แพร่กระจายอยู่ในอากาศและเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจ ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มักไม่มีอาการจะทราบว่าติดเชื้อวัณโรคได้จากการตรวจเสมหะ โดยการทดสอบทูเบอร์คิวลินจะให้ผลบวก ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเคยติดเชื้อตอนเป็นเด็ก ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการของโรค ได้แก่ การสัมผัสกับผู้ติดเชื้อทำให้ได้รับเชื้อเพิ่มขึ้น ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยเฉพาะการติดเชื้อ HIV ผู้ติดยาเสพติดและโรคขาดอาหาร

นายแพทย์สุวรรณชัยกล่าวต่อว่าประเทศไทยฉีดวัคซีน BCG ให้เด็กทุกคนตั้งแต่แรกเกิดตามคำแนะนำองค์การอนามัยโลก ซึ่งมีผลชัดเจนในการป้องกันวัณโรคชนิดรุนแรงแบบแพร่กระจายและวัณโรคเยื่อหุ้มสมอง ทั้งนี้ สถานการณ์วัณโรคในประเทศไทยพบผู้ป่วย108,000 รายต่อปี เสียชีวิต 12,000 ราย

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 มิ.ย. 2562 เวลา : 12:23:14
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 12:49 am