การตลาด
สกู๊ป ฟิวเจอร์พาร์คปลุกกลยุทธ์" EXTRAODINARY EVERYDAY"เจาะลูกค้า 3 วัย


จากการขยายตัวของเมืองที่เกิดขึ้นประกอบกับรถไฟฟ้าสายสีแดงจะเปิดให้บริการเส้นทางแรกช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองในปี 2564 ระยะทางรวม 26.3 กิโลเมตร ทำให้ศูนย์การค้ายักษ์ใหญ่อย่างฟิวเจอร์พาร์ครังสิตต้องออกมาปรับกลยุทธ์เพื่อขยายฐานลูกค้าให้กว้างมากขึ้น หลังพบว่าปัจจุบันมีกลุ่มลูกค้าหลักอยู่จำนวน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มวัยรุ่น เช่น นักเรียน นักศึกษา (Teen) กลุ่มคนทำงาน(Young Professional)และกลุ่มผู้สูงวัย(Senior)


สำหรับกลยุทธ์ที่ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ครังสิตจะเลือกนำมาใช้ทำการตลาดนับจากนี้คือการเติมเต็มไลฟ์สไตล์ ด้วยการสร้างความเป็นตัวตนให้กับกลุ่มคนทุกวัยและทุกวัน ภายใต้กลยุทธ์ EXTRAODINARY EVERYDAY:ทุกวัน ทุกวัย ทุกการใช้ชีวิต”เพื่อให้ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ครังสิตเป็นศูนย์กลางการใช้ชีวิตเป็นสถานที่ของทุกคน ทุกวัยที่มาทำกิจกรรมต่างๆร่วมกันได้ทุกวันด้วยการสร้าง Learning Space หรือ Community ต่างๆขึ้นภายในศูนย์การค้า เช่น การเพิ่มพื้นที่ทำเวิร์คช็อปในเรื่องต่างๆ,ปรับรูปแบบกิจกรรมรองรับลูกค้าได้หลากหลายกลุ่มและสามารถเข้ามาใช้บริการในหลากหลายจุดประสงค์มากกว่าแค่มาช้อปปิ้งหรือรับประทานอาหาร 




นางรัตนา อนันทนุพงศ์ ผู้อำนวยการด้านการตลาด ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์คและสเปลล์กล่าวว่าแผนการดำเนินธุรกิจนับจากนี้ บริษัทจะมุ่งพัฒนาพื้นที่หรือSpace ภายในศูนย์เพื่อรองรับสังคมของกลุ่มลูกค้าที่มีความชัดเจน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มวัยรุ่นหรือนักเรียนนักศึกษา(Teen) กลุ่มคนทำงาน (Young Professional) และกลุ่มผู้สูงวัย (Senior) ซึ่งมีกำลังซื้อสูง ด้วยการเพิ่มแม่เหล็กต่างๆ เข้ามาตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าดังกล่าว เช่น ทีนโซไซตี้ เลาจน์ (Teen Society Lounge) บริเวณชั้น3สเปลล์แอทฟิวเจอร์พาร์ค รองรับกลุ่มวัยรุ่นอายุระหว่าง 15-24 ปี สำหรับรวมแก๊งส์พูดคุย ทำการบ้าน อ่านหนังสือ ซึ่งกลุ่มวัยรุ่นมีจิตนาการและความคิดสร้างสรร จะต้องปรับรูปกิจกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการ เช่น การแข่งขันอีสปอร์ต บอร์ดเกมส์  สนามบาสเก็ตบอลในร่ม เป็นต้นโดยบริการดังกล่าวจะอยู่บริเวณชั้น 3 สเปลล์แอทฟิวเจอร์พาร์ค

นอกจากนี้ยังจะมีพื้นที่ ยังก์ โปรเฟสซันนอล เลาจน์ โค-เวิร์กกิ้ง สเปซ (Young Professional Lounge Co-Working Space) บริเวณชั้น2รองรับคนทำงานกลุ่มคนรุ่นใหม่ อายุ 25-49 ปี ที่ไม่ยึดติดกับโต๊ะทำงานและยังมีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ใหม่กับคนกลุ่มเดียวกัน พร้อมกิจกรรมเสวนาเพิ่มความรู้ด้านต่างๆ เช่น การเดินทางท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศด้วยตนเอง การออมเงินตั้งแต่วัยทำงาน

 
 
อีกหนึ่งพื้นที่ที่เตรียมไว้คือ "Senior Zmart" สำหรับกลุ่มสูงวัยอายุ 50 ปีขึ้นไปในส่วนของโซนนี้ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์คได้มีการสร้างบรรยากาศภายในศูนย์การค้าให้เสมือนกับลูกค้าได้อยู่ที่บ้าน ด้วยการจัดพื้นที่ให้ลูกค้าสามารถใช้เวลาสำหรับการพูดคุย เล่นเกมส์และร้องเพลง เพื่อสร้างความบันเทิงในหมู่เพื่อนฝูง ซึ่งในส่วนของศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์คเองก็จะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าได้มีส่วนร่วม เช่น มิวสิคไทม์ ด้วยบทเพลงย้อนยุคทุกวันศุกร์-เสาร์ เวลา 18.00-19.00 น. กิจกรรมเวิร์คชอปเพื่อสังคม ทุกวันพุธ เวลา 10.30 -17.00 น.เป็นต้น

นางรัตนากล่าวอีกว่าในยุคปัจจุบันผู้บริโภคสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการสื่อสารได้ง่าย นิยมทำอะไรได้ด้วยตนเอง ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมและจากเทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้ผู้บริโภคยุคนี้เสาะแสวงหาสิ่งใหม่ให้กับตัวเองตลอดเวลา รู้สึกเป็นมืออาชีพ ฉลาด รอบรู้ เชื่อตัวเองและกลุ่มคนในโซเชียลมากกว่าแบรนด์ ไม่ซื้อสินค้าหรือบริการเพียงเพราะเป็นแบรนด์ที่ซื้อตามกันมา มีความล้ำทั้งพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตตลอดจนสร้างความแตกต่างให้ธุรกิจ  เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าแบบรายบุคคลมากขึ้น  

เหตุและผลดังกล่าวทำให้ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ครังสิตต้องหาบริการใหม่ๆมาตอบสนองความต้องการของลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าที่มาใช้บริการภายในศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์คและสเปลล์ ได้รับรู้และสัมผัสว่าที่นี่จะไม่ใช่แค่สถานที่ที่มาซื้อสินค้าเพียงอย่างเดียวแต่จะเป็นสถานที่ที่สามารถเติมเต็มไลฟ์สไตล์ของลูกค้าได้และเลือกที่จะนำกลยุทธ์ "EXTRAODINARY EVERYDAY : ทุกวัน ทุกวัย ทุกการใช้ชีวิต”มาเป็นกลยุทธ์หลักในการทำการตลาดนับจากนี้ เพื่อให้ลูกค้าทุกเพศทุกวัยมาทำกิจกรรมต่างๆร่วมกันได้ทุกวัน ?
 

 
 
นอกจากนี้ยังจะเดินหน้าพัฒนา “ฟิวเจอร์ ซิตี” ตามแผนงานที่ได้เคยประกาศไว้จากปัจจุบันศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์คและสเปลล์มีพื้นที่รวมกันบนพื้นที่กว่า 5.8 แสนตร.ม.ครองความเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ “ริจินัลมอลล์” แห่งย่านรังสิตหรือคิดเป็นที่ดินที่ถูกพัฒนาแล้ว 350 ไร่ จากทั้งหมด 650 ไร่  โดยที่ดินที่เหลืออีกประมาณ  300 ไร่ จะอยู่ในแผน 10 ปีที่ได้เคยประกาศไว้ว่าจะนำแม่เหล็กต่างๆมาให้บริการเพิ่มเติม เพื่อสร้างศูนย์การค้าแห่งนี้ให้กลายเป็นอาณาจักร“ฟิวเจอร์ซิตี้”ในย่านกรุงเทพฯฝั่งเหนือ

สำหรับการลงทุนในอีก 10 ปีนับจากนี้ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์คจะเน้นการจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อสร้างอาณาจักร “ฟิวเจอร์ซิตี้” ซึ่งในส่วนของแม่เหล็กที่จะมาต่อจิ๊กซอว์ “เซ็นเตอร์ ออฟ ไลฟ์สไตล์” จะมีทั้งธุรกิจค้าปลีกประเภทเอาท์เล็ต โฮมโปรดักท์ เวลเนส สปอร์ตและเอนเตอร์เทนเมนท์ โดยขณะนี้ได้เริ่มพัฒนาโรงแรมระดับ 4 ดาว จำนวน 227 ห้อง เพื่อรองรับลูกค้าต่างชาติ และโรงแรมระดับ 2 ดาว จำนวน 79 ห้อง เพื่อเจาะกลุ่มนักธุรกิจจากต่างจังหวัดที่เข้ามาทำธุระในกรุงเทพฯเบื้องต้นคาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จประมาณไตรมาส 4 ปี 2563

อีกหนึ่งบริการที่น่าจับตามองคือการพัฒนาโครงการ“ฟิวเจอร์อารีน่า”หรือ สปอร์ตฮับ ศูนย์รวมการออกกำลังกายขนาด 20 ไร่ เพื่อคนกรุงเทพฯฝั่งเหนือเนื่องจากจะมีบริการที่หลากหลายและครบวงจรไม่ว่าจะเป็นสระว่ายน้ำหรือสนามวิ่งจากปัจจุบันให้บริการสนามฟุตบอล-ฟุตซอล สนามแบตมินตันและคลับเฮาส์

จากแผนการดำเนินงานดังกล่าวศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์คมั่นใจว่าจะสามารถสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้เป็นอย่างดีและเกิดความผูกพันระยะยาวระหว่างกลุ่มวัยรุ่น ครอบครัวและสูงอายุ กับฟิวเจอร์พาร์ค-สเปลล์ จากปัจจุบันมีลูกค้าเข้าใช้บริการเฉลี่ยต่อวันที่ประมาณ 200,000 คน

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 ก.ย. 2562 เวลา : 10:00:33
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 9:10 pm