การตลาด
สกู๊ป "ชาบูชิ" ปลุก 3 โมเดลมาร์เก็ตติ้งบุกทุกช่องโอกาสเพิ่มฐานลูกค้า


การแข่งขันของธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นที่นับวันจะยิ่งมีความรุนแรง ยิ่งปัจจุบันผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป คือ ทำงาน พักผ่อนและรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา ทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นต้องหาลูกเล่นใหม่ๆมารองรับพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไปดังกล่าว เช่น การขยายเวลาเปิดให้บริการ การปรับขนาดร้านให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคและเพิ่มความหลากหลายของเมนูอาหาร เป็นต้น

 


 
“ชาบูชิ” ถือเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการร้านอาหารญี่ปุ่นที่ออกมาปรับตัว เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าวอย่างเห็นได้ชัด ล่าสุดได้มีการทดลองเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงที่ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์เป็นสาขาแรกเมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมาลูกค้าให้ผลการตอบรับเป็นอย่างดี ทำให้ ชาบูชิ เล็งเห็นโอกาสในการขยายบริการ 24 ชั่วโมงสาขาต่อไปทันทีเมื่อมีโอกาส

นอกจากนี้ยังมองหาโอกาสอื่นๆในการนำพาร้านชาบูชิ เข้าไปหาลูกค้าไม่ว่าจะเป็นการลดขนาดร้านหรือการปรับราคาให้สอดคล้องกับลูกค้าเป้าหมายแต่ละกลุ่ม เนื่องจากแต่ละพื้นที่ที่เข้าไปเปิดให้บริการลูกค้ามีกำลังซื้อและความต้องการที่แตกต่างกันไป
 
 

 
 
นายไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าแผนธุรกิจของร้านชาบูชิในรอบบัญชีปี 2563 (ต.ค.2562-ก.ย.2563) บริษัทได้วางกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจไว้ด้วยกัน 3 แนวทาง คือ 1. Driving Organic Growth มุ่งสร้างคุณค่าของสินค้าและบริการ เพื่อการเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืน 2.Driving Operational Excellence เน้นพัฒนากระบวนการทำงานภายในด้านต่างๆและวางระบบควบคุมการทำงานที่มีประสิทธิภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการและความพึงพอใจของลูกค้า และ 3 . Store Expansion การขยายเครือข่ายสาขา เพื่อเข้าถึงฐานลูกค้าใหม่ๆ

ขณะเดียวกันยังจะใช้ 3 โมเดลใหม่ในการขยายตลาด ประกอบด้วย 1. การขยายร้านขนาดเล็ก หรือ Light Store Format บนพื้นที่ขนาด 150-170 ตร.ม. ซึ่งในส่วนของร้านรูปแบบนี้จะใช้สายพานในการลำเลียงอาหารประมาณ 1 สายพานเท่านั้น เพื่อเสิร์ฟอาหารให้กับลูกค้าจำนวน 48-65 ที่นั่ง สาขารูปนี้นี้ถือเป็น “เรือธง” ใหม่ในการบุกตลาดเมืองรอง และขยายสาขาเพิ่มในพื้นที่ใกล้เคียงร้านเดิม

สำหรับโมเดลที่ 2 ที่จะนำมาเป็นอีกหนึ่งเรือธงในการขับเคลื่อนร้านชาบูชิ คือ โมเดลร้าน 24 ชั่วโมง หรือ HybridStore Format โมเดลนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เพราะบริการมีความแตกต่างจากคู่แข่งในท้องตลาด เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีผู้ประกอบการร้านชาบูรายใดเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงเต็มรูปแบบเหมือนกับร้านชาบูชิ และถ้ามองในด้านของการบริการลูกค้ายังสามารถเลือกรับประทานได้ทั้งบริการแบบบุฟเฟ่ต์และบริการสั่งจากโต๊ะ เรียกว่าตอบโจทย์ลูกค้าทุกความต้องการ
 
 

 
 
ส่วนโมเดลสุดท้ายที่ ชาบูชิจะเดินต่อไปจากนี้ คือ Tier Pricing Format การให้บริการในราคาที่แตกต่างกันตามความต้องการของลูกค้าในแต่ละพื้นที่ เนื่องจากกำลังซื้อของลูกค้าในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ดังนั้นชาบูชิจึงได้มีการปรับโมเดลราคาใหม่ คือ โกลด์บุฟเฟต์ รับประทานได้ในราคา 429 บาท ราคานี้จะเจาะกลุ่มเป้าหมายทั่วไปและแพลทินัมบุฟเฟต์ ราคา 599 บาท เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าย่านมีกำลังซื้อในห้างหรูและแหล่งท่องเที่ยวระดับพรีเมี่ยม

นายไพศาล กล่าวต่อว่าในส่วนของสาขาใหม่ที่จะเกิดขึ้นในรอบบัญชีปี 2563 (ต.ค.2562-ก.ย.2563) บริษัทยังคงเดินหน้าขยายสาขาใหม่ที่ประมาณ 11 สาขา ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับปีก่อนๆที่บริษัทจะทำการขยายสาขาร้านชาบูชิอยู่ที่ประมาณ 10-14 สาขา ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ในแต่ละปี

ปัจจุบันชาบูชิ มีจำนวนสาขาเปิดให้บริการกระจายอยู่ทั่วประเทศ 149 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯและเมืองใหญ่ ในจำนวนสาขาดังกล่าวกว่า 50% เป็นโมเดลร้านขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่มากกว่า 300 ตร.ม. ซึ่งในส่วนของโมเดลนี้นับจากนี้ไปอาจไม่เกิดขึ้นอีก เพราะร้านใหม่ที่จะเกิดขึ้นจะเป็นสาขาขนาดเล็กที่พัฒนาขึ้นมา เพื่อเจาะเมืองรอง ซึ่ง ชาบูชิ ยังไม่ได้เข้าไปบุกทำการตลาดอย่างจริงจัง

หลังจากออกมาปรับกลยุทธ์ในการทำการตลาด บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน)คาดหวังว่าจะมีรายได้เติบโตตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากภาพรวมผลประกอบการของโออิชิ กลุ่มอาหารในช่วง 9 เดือนแรกของรอบบัญชีปี 2562 (ตุลาคม 2561-มิถุนายน 2562) มีรายได้รวม 5,386 ล้านบาท เพิ่ม 11% กำไร 337 ล้านบาท เพิ่ม 214.5% โดย ชาบูชิ มีสัดส่วนรายได้หลักอยู่ที่ประมาณ 60%

สำหรับภาพรวมธุรกิจร้านอาหารในปี 2561ที่ผ่านมามีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 400,000 ล้านบาท ในมูลค่านี้มีกลุ่มร้านอาหารที่มีมูลค่าสูงสุด 4 อันดับแรก ดังนี้ 1. กลุ่มร้านคาเฟ่ มีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 11% มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 20,000 ล้านบาท 2.กลุ่มอาหารประเภทต้ม สัดส่วน 11% มีมูลค่าประมาณ 19,000 ล้านบาท 3. กลุ่มไก่ทอด สัดส่วน 11% มีมูลค่า 18,000 ล้านบาท และ 4. กลุ่มอาหารญี่ปุ่น สัดส่วน 11% มีมูลค่าประมาณ 18,000 ล้านบาท ในส่วนของร้านอาหารกลุ่มนี้มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 21%

อย่างไรก็ดีแม้ว่าภาพรวมธุรกิจร้านอาหารจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีผู้ประกอบการหน้าใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงดังกล่าว ส่งผลให้ช่วงหลายปีที่ผ่านมามีผู้ประกอบการในธุรกิจร้านอาหารเลิกกิจการไปเป็นจำนวนไม่น้อย

จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในปี 2561ที่ผ่านมาระบุว่าธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหารเป็นกลุ่มที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุดเป็นอันดับที่ 3 มีผู้ประกอบการใหม่เกิดขึ้น 2,058 ราย หรือคิดเป็นสัดส่วน 3% ของจำนวนธุรกิจที่จัดตั้งใหม่ทั้งหมด แต่ขณะเดียวกันกลุ่มธุรกิจร้านอาหารก็ยังเป็นธุรกิจที่มีการเลิกกิจการสูงที่สุดเป็นอันดับ 3 โดยในปี 2561 ที่ผ่านมา มีการเลิกกิจการไปคิดเป็นจำนวน 566 ราย หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2% ของธุรกิจที่เลิกกิจการทั้งหมด ด้วยโอกาสที่อยู่บนความเสี่ยงหากใครมองเกมออกและมีการปรับตัวให้เท่าทันสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ท่ามกลางวิกฤติยังคงมีโอกาสเสมอ

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 พ.ย. 2562 เวลา : 08:37:35
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 5:28 pm