แบงก์-นอนแบงก์
CIMBT คาดปี 63 กำไรก่อนหักภาษีโต 20% สินเชื่อโต 10%


 

 

นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด(มหาชน) หรือ CIMBT เปิดเผยว่าปี 63 แนวโน้มกำไรก่อนหักภาษีจะเติบโตขึ้น 20% จากปีนี้ที่คาดมีกำไร 1,800 ล้านบาท เติบโตขึ้น 600% จากปีก่อนที่ 271 ล้านบาท เนื่องจากแนวโน้มการตั้งสำรองที่ปรับตัวลดลง จากปี 61 ที่ 4,900 ล้านบาท เหลือกว่า 2 พันล้านบาทในปีนี้


 
สำหรับสินเชื่อรวมในปี 63 ธนาคารตั้งเป้าเติบโต 10% ใกล้เคียงกับปีนี้ที่ 10% ซึ่งในปีหน้าธนาคารมองว่าสินเชื่อที่จะเข้ามาช่วยผลักดันการเติบโตสินเชื่อรวมของธนาคารจะมาจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่จะเติบโตมากที่สุด 12-13% ซึ่งได้อานิสงส์จากการลงทุนภาครัฐ และ เอกชน โดยเอกชนรายใหญ่ที่ยังมีการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง  ด้านสินเชื่อรายย่อยปี 63 ตั้งเป้าเติบโต 8% ซึ่งจะเป็นการเติบโตที่มาจากสินเชื่อส่วนบุคคล หลังจากที่ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาธนาคารเห็นความต้องการใช้สินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการขอสินเชื่อบุคคลผ่านช่องทางดิจิทัลทำให้ธนาคารมีการพัฒนาโซลูชั่นที่ดึงดูดลูกค้าในการคิดอัตราดอกเบี้ยตามประวัติการชำระของลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้าที่มีประวัติการชำระที่ดี ซึ่งจะได้ดอกเบี้ยที่ถูกกว่าปกติ โดยธนาคารเน้นการปล่อยสินเชื่อผ่านดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนเป็น 42% จาก 14% ในปีนี้ หรือ คิดเป็นสินเชื่อปล่อยใหม่ 3,000 ล้านบาท

 
 
ส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และ สินเชื่อเช่าซื้อมอเตอร์ไซด์ยังมีการเติบโต แต่สินเชื่อบ้านอาจจะยังคงได้รับแรงกดดันจากการที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว ประกอบกับ มาตรการ LTV ที่กดดันตลาด และ กำลังซื้อที่ชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจ ทำให้สินเชื่อบ้านจะเป็นลักษณะการเติบโตที่ช้าลงต่อเนื่องมาจากปีนี้ ซึ่งกดดันต่อการขยายตัวของสินเชื่อรายย่อยของธนาคารในปีหน้าเติบโตไม่ถึง 10%

 
 
นายอดิศร บอกด้วยว่าหลังจากธนาคารได้วางโครงสร้างพื้นฐานและทำงานเกี่ยวกับ Digital อย่างเต็มที่ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา จะได้เห็นบริการด้าน Digital Banking ของธนาคารอย่างชัดเจนในปี 2563 และเมื่อผสานกับจุดแข็งด้าน ASEAN จึงเกิดเป็นยุทธศาสตร์ของธนาคารที่เรียกว่า ‘Digital Bank With ASEAN Reach’

“วันนี้ธุรกิจธนาคาร ทุกคนต่างได้ผ่านกระบวนการ Disruption จาก Digital Platform กันหมด เราจะฉีกให้มากขึ้นโดยยึดความต้องการของลูกค้าเป็นตัวตั้ง โลกวันนี้มีการเข้าถึงแบบไร้ขีดจำกัด เราตั้งเป้าหมายว่าต้องพาลูกค้าให้เข้าถึงบริการที่ดีที่สุด ทำธุรกรรมทางการเงินทุกอย่างจากที่ใดในโลกก็ได้ ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องมาสาขาด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย” นายอดิศร กล่าว

Digital Banking ของธนาคารจะตอบความต้องการของลูกค้าอย่างตรงจุด ด้วย 3 แอปพลิเคชันหลัก คือ 1. CIMB THAI Digital Banking สำหรับทำธุรกรรมพื้นฐานโอนเงิน ชำระเงิน ซื้อขายกองทุน 2. Mobile Lending สำหรับปล่อยสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ผ่านมือถือ 3. Debt Consolidation การรวมหนี้เพื่อรีไฟแนนซ์ลดภาระดอกเบี้ยให้ถูกลง วันนี้การมี Digital Platform ไม่เพียงแค่เป็นการเพิ่มความ ‘รวดเร็ว’ หรือ ‘ง่าย’ ในการใช้ธุรกรรมทางการเงินหรือการเข้าถึงเท่านั้น เรากำลังจะก้าวไปถึงการทำให้การใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินตอบโจทย์เฉพาะบุคคลมากขึ้น เช่น ใช้สินเชื่ออย่างมีวินัยขึ้นได้อย่างไร ทำอย่างไรดอกเบี้ยเงินกู้จะถูกลง หรือเราออมเงินพอเพียงเท่าไรแล้ว เป็นต้น

ด้านลูกค้าธุรกิจ ธนาคารมีบริการธนาคารออนไลน์เพื่อธุรกิจ ‘BizChannel@CIMB’ ที่รองรับทุกอุปกรณ์ทั้งบนคอมพิวเตอร์/โน้ตบุ้ค และล่าสุดได้ออกบริการแอปพลิเคชัน ‘BizChannel@CIMB Mobile App’ ออกมาช่วยให้ลูกค้าสามารถดูแลธุรกิจได้ทุกที่ทุกเวลาทั่วโลกผ่านมือถือ/แท็บเล็ต
   
อีกหนึ่งจุดแข็งที่ธนาคารแข่งขันได้ดีคือ เรื่อง Wealth ธนาคารจะบริหารความมั่งคั่งให้ลูกค้าทั้งลูกค้าบุคคลผ่านผลิตภัณฑ์การเงินที่ครบทุกความต้องการตั้งแต่พื้นฐานไปถึงการลงทุนที่ซับซ้อน ด้านลูกค้าธุรกิจธนาคารเป็นผู้นำตลาดที่มีเครื่องไม้เครื่องมือจัดการบริหารความเสี่ยงและผลิตภัณฑ์ครบทุกประเภทให้ลูกค้าธุรกิจและบริษัท นอกจากนี้ ธนาคารยังคงมุ่งมั่นที่จะเป็น ASEAN Bank ของบริษัทในไทย และเดินหน้า add value ให้ลูกค้าผ่านการสนับสนุนสินเชื่อ วาณิชธนกิจ บริหารเงิน เทรดไฟแนนซ์ โดยจะสนับสนุนลูกค้าในประเทศทั้งลูกค้าฝั่งสถาบันการเงินและลูกค้าฝั่งบริษัท ทั้งความต้องการขยายธุรกิจในประเทศและช่วยลูกค้าที่ต้องการออกไปโตในอาเซียนได้
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 ธ.ค. 2562 เวลา : 18:12:07
04-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 4, 2024, 5:34 pm