การตลาด
สกู๊ป คนไทยขี้เกียจเพิ่ม หนุนธุรกิจ"ฟู้ด เดลิเวอรี่" ขยายตัวพุ่ง


ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับปี 2562 แม้ว่าปิดปีไปเศรษฐกิจของไทยจะชะลอตัวไปบ้างแต่หลายธุรกิจก็ยังสามารถขยายตัวได้ดี อย่างเช่น ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่หรือธุรกิจบริการส่งอาหาร เป็นต้น เนื่องจากปัจจุบันคนไทยต้องทำงานแข่งกับเวลา จึงทำให้มีพฤติกรรมขี้เกียจทำอาหารกันมากขึ้น จากเหตุปัจจัยดังกล่าวเลยทำให้ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่มีการขยายตัวดีกว่าหลายๆธุรกิจ


 
 
จากข้อมูลของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ CMMU ระบุว่า ปัจจุบันคนไทยมีพฤติกรรมขี้เกียจทำอาหารมากถึง 69% หรือประมาณ 45 ล้านคน ซึ่งจากพฤติกรรมที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้ธุรกิจ ‘ฟู้ด เดลิเวอรี่’ ตอบสนองความ ‘ขี้เกียจ’ ของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดีเหมือนเช่นธุรกิจ ‘ช็อปปิ้งออนไลน์’ หรือ ‘อี-คอมเมิร์ซ’ เห็นได้จากมูลค่าตลาดอี-คอมเมิร์ซที่มีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี 2561 มูลค่าสูงถึง 3.2 ล้านล้านบาท และในปี 2562 ที่ผ่านมาตลาดอี-คอมเมิร์ซไทยมีการขยายตัวมาอยู่ที่ประมาณ 3.8 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ในข้อมูลของ CMMU ยังระบุอีกว่า ‘ฟู้ด เดลิเวอรี่’ ถือเป็นห่วงโซ่ธุรกิจขี้เกียจที่ใหญ่ที่สุดในเวลานี้ เพราะไม่ได้มีแค่ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่นเท่านั้น แต่ยังมีผู้เล่นอีก 2 ส่วนที่เข้ามารับส่วนแบ่งและโอกาสทองจากช่องว่างของธุรกิจดังกล่าว นั่นก็คือ ร้านอาหารและคนส่งอาหาร โดยมีการคาดการณ์ว่า ร้านอาหารจะมีส่วนแบ่งรายได้จากธุรกิจดังกล่าวประมาณ 26,000 ล้านบาท และคนส่งอาหารจะมีส่วนแบ่งรายได้ประมาณ 3,900 ล้านบาท ส่วนผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่นหรือผู้กุมห่วงโซ่ธุรกิจ ‘ฟู้ด เดลิเวอรี่’ คาดว่าจะมีส่วนแบ่งรายได้ประมาณ 3,400 ล้านบาท ส่วนมูลค่าของธุรกิจ ‘ฟู้ด เดลิเวอรี่’ ในปี 2562 ที่ผ่านมาคาดว่ามีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 33,000 – 35,000 ล้านบาท

การขยายตัวที่ดีของธุรกิจ ‘ฟู้ด เดลิเวอรี่’ ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้คาดการณ์กันว่าในปี 2563 นี้ ธุรกิจ ‘ฟู้ด เดลิเวอรี่’ จะยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ขี้เกียจทำอาหารกันมากขึ้นจะเป็นปัจจัยเอื้อให้ธุรกิจเติบโตแล้ว การที่มีผู้ประกอบการหน้าใหม่โดดเข้ามาทำธุรกิจดังกล่าวมากขึ้นก็ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจ ‘ฟู้ด เดลิเวอรี่’ เป็นอีกหนึ่งธุรกิจดาวรุ่งในปี 2563 นี้

จากการคาดการณ์ดังกล่าวถือว่าสอดคล้องไปกับศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยที่ออกมาระบุว่า ธุรกิจออนไลน์และอี- คอมเมิร์ซ จะเป็น 2 ธุรกิจที่ได้รับความนิยมในอันดับต้นๆ เนื่องจากคนไทยยังคงต้องการความสะดวกสบาย

 
 
 
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า 10 อันดับธุรกิจดาวรุ่งในปี 2563 นี้ ธุรกิจแพลตฟอร์มจะเป็นธุรกิจดาวเด่นอันดับ 1 เนื่องจากมีหลายปัจจัยสนับสนุนทั้งความหลากหลายและรูปแบบการให้บริการ รวมทั้งความต้องการของผู้ประกอบการที่ต้องการทำธุรกิจออนไลน์มากขึ้น, การใช้ชีวิตที่เร่งรีบในชีวิตประจำวัน, พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป หันมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้นและความคุ้นชินกับการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น รวมไปถึงกระแสการพัฒนาแพลตฟอร์มที่เกิดขึ้นทั่วโลก ถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้ธุรกิจนี้มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 
 
ส่วนธุรกิจดาวรุ่งอันดับ 2 คือ ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ, ธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและอุปกรณ์ รวมทั้งผู้ให้บริการเครือข่าย, อันดับ 3 ธุรกิจเกมส์ และธุรกิจพัฒนาแอปพลิเคชัน, อันดับ 4 ธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์, อันดับ 5 ธุรกิจประกันภัย ประกันชีวิต, ธุรกิจบริการทางการแพทย์และความงาม, อันดับ 6 ธุรกิจบริการอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจสตรีทฟู้ด, อันดับ 7 ธุรกิจเกี่ยวกับผู้สูงอายุ, อันดับ 8 ธุรกิจด้านฟินเทค และการชำระเงินผ่านระบบเทคโนโลยี และธุรกิจพลังงาน, อันดับ 9 ธุรกิจก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐาน, ธุรกิจที่ปรึกษาด้านกฎหมาย/บัญชี และอันดับ 10 ธุรกิจด้านท่องเที่ยว Hostel modern tourism และ Lifestyle tourism และธุรกิจเครื่องสำอาง-ครีมบำรุงผิว

สำหรับ 10 อันดับธุรกิจดาวร่วงในปี 2563 อันดับ 1 คือ ธุรกิจเช่าหนังสือ, อันดับ 2 ธุรกิจผลิตโทรศัพท์พื้นฐานและเครื่องโทรสาร, อันดับ 3 ธุรกิจร้านให้บริการอินเทอร์เน็ต, อันดับ 4 ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์และวารสาร ธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ใช้แรงงานมากและขายในประเทศ, อันดับ 5 ธุรกิจหัตถกรรมและเฟอร์นิเจอร์ไม้, อันดับ 6 ธุรกิจการค้าแบบดั้งเดิม, อันดับ 7 ธุรกิจคนกลาง, อันดับ 8 ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ความจำ Storage media เช่น CD, DVD, Blu-Ray, External Hard Drives, Memory Card, อันดับ 9 ธุรกิจดั้งเดิมที่ไม่มีดีไซน์และใช้แรงงานสูง และอันดับ 10 ธุรกิจสถานศึกษาเอกชนและร้านถ่ายรูป

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า ธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงในปี 2563 นี้ คือ ธุรกิจร้านกาแฟที่ทำเลไม่ดี ไม่มีแฟรนไชส์ และมีขนาดเล็ก และธุรกิจร้านชานมไข่มุกที่ทำเลไม่ดี เนื่องจากปัจจุบันมีผู้สนใจเข้ามาทำธุรกิจดังกล่าวเป็นจำนวนมาก จึงทำให้มีการแข่งขันเพิ่มขึ้นและหนึ่งในกลยุทธ์ที่มีการแข่งขันรุนแรง คือ การตัดราคา

อย่างไรก็ดี ในส่วนของธุรกิจที่มีความเสี่ยงปานกลาง คือ ธุรกิจคลินิกเสริมความงาม ธุรกิจเครื่องสำอาง-อาหารเสริม เนื่องจากธุรกิจมีจำนวนมากมีการแข่งขันสูง และมีต้นทุนการดำเนินธุรกิจสูง รวมทั้งธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ทำเลไม่ดี เนื่องจากมี Over Supply รวมทั้งผลจากมาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งผลจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า แม้ว่าเศรษฐกิจในปี 2562 ที่ผ่านมาจะอยู่ในภาวะชะลอตัวหรือขยายตัวที่ 2.5% ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา แต่ศูนย์พยากรณ์ฯก็มีความเชื่อมั่นว่าสถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยในปี 2563 นี้ จะมีการขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้นอยู่ในระดับ 3.1% (กรอบ 2.7 – 3.4%) ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะขยายตัวได้ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.8% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับ 1%

ความคาดหวังดังกล่าวที่ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้น่าจะปรับตัวดีขึ้น หากเป็นไปตามที่คาดการณ์ธุรกิจที่น่าจะขยายตัวดีขึ้นคงไม่ใช่แค่ธุรกิจดาวรุ่งเท่านั้น แต่อีกหลายๆธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มดาวร่วง มีความเสี่ยงสูง และมีความเสี่ยงปานกลางก็น่าจะมีการขยายตัวดีขึ้นตามไปด้วย
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 ม.ค. 2563 เวลา : 08:41:39
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 10:44 pm