การตลาด
สกู๊ป "เม็ดเงินโฆษณาทีวีดิจิทัล"ยังอยู่แดนติดลบหลายช่องส่อขอจอดำ


ถึงจะขยายตัวติดลบมาโดยตลอดสำหรับภาพรวมเม็ดเงินโฆษณาปี 2562 แต่พอถึงช่วงโค้งสุดท้ายของปีก็สามารถถีบตัวเองขึ้นมาอยู่ในแดนบวกได้สำเร็จ ด้วยเม็ดเงิน 124.267 ล้านบาท เติบโตจากปี 2561 ที่ประมาณ 3% เนื่องจากสินค้าและบริการหลายตัวออกมาโหมใช้เม็ดเงินผ่านสื่อโฆษณา เพื่อกระตุ้นยอดขายส่งท้ายปี โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอาหารเครื่องดื่ม ที่ออกมาใช้งบสูงถึง 18,335 ล้านบาท


อย่างไรก็ดีแม้ว่าภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาจะพลิกฟื้นกลับมาขยายตัวอยู่ในแดนบวกได้สำเร็จ แต่สื่อหลายประเภทก็ยังคงอยู่ในแดนลบไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุ หรือทีวีดิจิทัล โดยสื่อที่ส่อแววออกอากาศสาหัส ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา คือ สื่อทีวีดิจิทัล หลังจากช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาสามารถถีบตัวเองมาอยู่ในแดนบวกได้สำเร็จ แต่เนื่องจากปัจจุบันมีสื่อให้สินค้าต่างๆ เลือกใช้สื่อสารเป็นจำนวนมาก บวกกับสื่อทีวีมีราคาค่อนข้างแพง จึงทำให้สินค้าส่วนใหญ่หันไปให้ความสำคัญกับสื่อที่มีราคาถูกและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด

 
 
 
ปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้ทีวีดิจิทัลหลายช่องส่อแววอยากจะขอยกเลิกใบอนุญาตเพิ่มเติม หลังจากก่อนหน้านี้มีทีวีดิจิทัล 7ช่อง ประกอบด้วย ได้แก่ 1.ไบร์ททีวี 20 2.วอยซ์ทีวี21 3.MCOT family 4.ช่อง 13 Family 5.ช่อง 28 (3SD) 6.ช่องสปริงนิวส์ 19 และ 7.สปริง26 ของกลุ่มเนชั่นฯ ขอคืนใบอนุญาตไปเรียบร้อยแล้ว และจากเม็ดเงินโฆษณาที่ไหลเข้ามาในสื่อทีวีดิจิทัลที่ค่อนข้างน้อยไม่บูมเหมือนแต่ก่อน ประกอบกับหลายช่องวางกลยุทธ์ทางการผิดพลาด ส่งผลให้มีกระแสข่าวออกมาว่ามีทีวีดิจิทัลอีกหลายช่องมีความต้องการอยากจะขอคืนใบอนุญาตให้กับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

สิ่งที่ทำให้หลายคนประหลาดใจเกี่ยวกับกระแสข่าวการคืนช่องของ “เวิร์คพอยท์” เนื่องจากผลประกอบการในช่วงปีที่ผ่านมามีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านของผลกำไร สังเกตได้จากผลประกอบการไตรมาส 2 /2562 ที่ผ่านมา มีกำไรลดลงสูงถึง 37% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 72.56 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่มีกำไรอยู่ที่ 115.64 ล้านบาท เนื่องจากธุรกิจทีวีมีการแข่งขันสูง จึงทำให้มีรายได้ลดลง ส่วนผลประกอบการในช่วงไตรทาส 2/2562 มีรายได้รวมอยู่ที่ 803.61 ล้านบาทลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ประมาณ 4%
 
 

 
 
 
ปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้มีเสียงแว่วออกมาว่า “เวิร์คพอยท์” อยากคืนช่อง เพื่อผันตัวเองกับไปเป็น content provider เหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจุบันเรตติ้งของช่องเวิร์คพอยท์ ไม่ได้ขาขึ้นเหมืนแต่ก่อน จากข้อมูลของนีลเส็น ช่วงระหว่างวันที่ 13-19 ม.ค.ที่ผ่านมา เรตติ้งของ "เวิร์คพอยท์" หล่นไปอยู่อันดับที่ 4 เป็นที่เรียบร้อย หนีห่างจากช่องวัน ที่อยู่อันดับ 5 เพียง 0.1 เท่านั้น

อีกหนึ่งช่องที่ทำให้หลายคนเซอร์ไพร์ คือ โมโน เนื่องจากเมื่อกลางเดือน ม.ค.ที่ผ่านมามีการปลดพนักงานออกทั้งหมด 300 คน เนื่องจากไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นได้ ประกอบกับช่วงปลายปีที่ผ่านมาสูญเสียรายได้ที่ควรจะได้รับไปหลายร้อยล้านบาท เพราะมีการออกอากาศภาพยนตร์ต่างประเทศยิงยาวในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่แบบไม่รับเงินจากสื่อโฆษณา

นอกจากนี้ หากมองย้อนหลังกลับไปในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา ผลประกอบการของช่องโมโนก็เหมือนจะไม่สู้ดีนัก โดยผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 3/2562 พบว่ารายได้โฆษณาทีวี ลดลง 32.56 ล้านบาท คิดเป็น 7.85% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสาเหตุนั้นมาจากการแข่งขันที่รุนแรง ทำให้ช่องในอันดับ TOP 5 มีเรทติ้งโตขึ้นมาก และมีจัดโปรโมชั่นดึงเงินโฆษณาในช่วงเวลาดังกล่าว

 
 
 
 
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับทีวีดิจิทัลยังไม่หมดเท่านี้ เพราะยังมีทีวีดิจิทัลอีกหลายช่องอยากจะขอคืนใบอนุญาตเพิ่มเติมเช่นกันไม่ว่าจะเป็น ช่องนิวส์ทีวี หรือช่องทีเอ็นเอ็น เนื่องจากปัจจุบันการแข่งขันของกลุ่มช่องข่าวค่อนข้างมีความรุนแรง เพราะไม่ได้แข่งกันเฉพาะแค่กลุ่มช่องข่าวเท่านั้น แต่มีกลุ่มช่องเอชดี (กลุ่มช่องความคมชัดสูง) และกลุ่มช่องเอสดี (กลุ่มช่องความคมชัดมาตรฐาน) เข้ามาแข่งขันในด้านของคอนเทนต์ข่าวด้วย

เห็นได้จากการปรับคอนเทนต์รายการข่าวในช่วงปีที่ผ่านมาและต่อด้วยการลุยขยายฐานผู้ชมบนช่องทางออนไลน์ หลังได้นายอริยะ พนมยงค์ จากไลน์ ประเทศไทย มานั่งตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการ ขับเคลื่อนองค์กร ซึ่งล่าสุดได้ออกมาประกาศกลยุทธ์การขยายฐานผู้ชมไปในหลายแพลตฟอร์มออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชัน CH3+ (ซี-เอช-สาม-พลัส) พร้อมกับร่วมมือกับ WeTV นำคอนเทนต์ส่งออกไปทำตลาดในประเทศไทยและต่างประเทศ

ฝั่งช่อง 8 ก็ประกาศผังรายการใหม่ปี 2563 โดยการทรานส์ฟอร์มธุรกิจ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “CH 8 Connext to The New Era” เชื่อมโยงคอนเทนต์โดยกำหนดแผนการตลาดผ่านกลยุทธ์ C4 เป็นจุดขาย ซึ่งในแต่ละคอนเทนต์ เพื่อสร้างการจดจำให้กับคนดูหน้าจอ เช่น เดอะซีรีส์ รัก ลวง หลอน และสร้างความแข็งแกร่งและยั่งยืนให้แต่ละคอนเทนต์ด้วยกิจกรรม On-ground, COMMUNICATION สร้างสรรค์รูปแบบการสื่อสารใหม่ๆ และเชื่อมต่อ On-Air กับ Online เข้าด้วยกัน เพื่อตอบสนองการรับชมได้ทุกไลฟ์สไตล์

ด้าน อสมท ก็เดินหน้าปรับกลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายฐานผู้ชมและเพิ่มรายได้ให้กับองค์กร ด้วยการสร้างรายได้จากธุรกิจดิจิทัลและธุรกิจใหม่ ซึ่งประกอบด้วยรายได้จากเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย, รายได้จากการขายคอนเทนต์และรับจ้างผลิตรายการทั้งในและต่างประเทศ, รายได้จากธุรกิจแพลตฟอร์มใหม่ๆ เช่น WHAM และพอดแคสต์, เพิ่มกลยุทธ์จาก MCOT Academy ที่เน้นพัฒนาหลักสูตรสำหรับการพัฒนาการสื่อสารด้านวิชาชีพ, หลักสูตร Media Training และ Brand สำหรับผู้บริหารระดับสูง เพื่อกระจายความเสี่ยงจากธุรกิจดั้งเดิม ซึ่งหลังจากปรับกลยุทธ์ดังกล่าว อสมท มั่นใจว่าตั้งแต่ปี 2563-2567 จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

ปิดท้ายกันที่ช่อง 7HD ที่ยังคงบุกหนักขยายฐานผู้ชมอย่างต่อเนื่องเช่นกัน แต่รูปแบบการทำตลาดค่อนข้างจะแตกต่างไปจากคนอื่น คือ เลือกใช้ Youtube มาโปรโมตไฮไลต์ละคร หรือรายการ เพื่อกระตุ้นคนดูจากช่องทาง Youtube ไปสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ของช่อง 7 เอง ไม่ว่าจะเป็น Bagaboo TV หรือช่องทีวี 7HD

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 ม.ค. 2563 เวลา : 09:28:04
18-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 18, 2024, 11:48 pm