เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
อีไอซีปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2020 เหลือ 1.8% จากเดิมคาดที่ 2.1%


Economic Intelligence Center (EIC) ของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 63 เหลือเติบโต 1.8% จากคาดการณ์เดิมที่ 2.1% เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) มีแนวโน้มรุนแรงและน่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าที่คาดไว้ โดยอาจส่งผลต่อการลดลงของการเดินทางท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยของคนไทยอีกด้วย อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากเรื่อง Supply chain disruption ที่อาจส่งผลกระทบต่อการชะลอตัวของการส่งออกไทยเพิ่มเติมได้ ขณะเดียวกันสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)ได้แถลงตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในไตรมาส 4/62 ขยายตัวที่ 1.6% ชะลอลงจาก 2.6%YOY ในไตรมาสก่อนหน้า นับเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 21 ไตรมาส ทำให้ทั้งปี 62 เศรษฐกิจไทยขยายตัวที่ 2.4% ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 57 เป็นต้นมา
 
          
 
 
EIC ระบุว่า ตัวเลขGDP ล่าสุดบ่งชี้ความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยที่มีมากขึ้น โดยแม้ GDP ในภาพรวมจะยังไม่เข้าสู่ภาวะ techinical recession แต่มีหลายภาคเศรษฐกิจที่สำคัญเข้าสู่ภาวะ technical recession แล้ว โดยแม้ว่าในภาพรวม GDP จะยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค (technical recession) แต่ก็ถือว่ามีอัตราเติบโตแบบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและปรับผลของฤดูกาลแล้ว (QOQ) ที่ต่ำมาก โดยขยายตัวเพียง 0.2% ในไตรมาสที่ 3 และ 4 ปี 62 
          
และหากพิจารณาในรายภาคเศรษฐกิจ ก็จะพบว่ามีหลายสาขาการผลิตที่เข้าสู่ภาวะ technical recession แล้ว ได้แก่ ภาคการส่งออกสินค้า การลงทุนภาครัฐทั้งในส่วนของการก่อสร้างและเครื่องมือเครื่องจักร และการบริโภคสินค้ายานยนต์ ในส่วนของเศรษฐกิจด้านการใช้จ่าย ขณะที่ด้านการผลิต สาขาที่เข้าสู่ technical recession แล้ว คือการก่อสร้าง และการเกษตร ในส่วนของการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมพบว่ามีการพ้นภาวะ technical recession แล้วหลังจากมี %QOQ ติดลบติดต่อกันถึง 3 ไตรมาสแรก แต่อัตราขยายตัวยังคงเปราะบาง โดยมีการขยายตัวเพียง 0.1% QOQ 
          
 
 
 
 
EIC ประเมินว่า อัตราการขยายตัวของ GDP ไทยช่วงไตรมาส 1/63 (%YOY) จะชะลอลงอย่างมากจากผลกระทบ COVID-19 และความล่าช้าของการอนุมัติงบประมาณ ในช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณฟื้นตัวผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้ว สะท้อนจากตัวเลข PMI ของหลายประเทศสำคัญที่มีการปรับตัวดีขึ้นในช่วงหลัง 
          
อย่างไรก็ดี หลังจากมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในช่วงปลายเดือน ม.ค.63 ทำให้คาดว่าโรคระบาดจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทย ผ่านการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยว และภาวะการค้าโลกที่จะชะลอลง ทั้งที่มาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและปัญหาการผลิตและขนส่งสินค้าจากจีนที่หยุดชะงัก (supply chain disruption) ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของภาคส่งออกไทยในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ COVID-19 ยังอาจส่งผลต่อการลดลงของการเดินทางท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยของคนไทย เนื่องจากมีความตื่นกลัวโรคระบาด 
          
ทั้งนี้ จากการประเมินของ EIC ในกรณีฐาน คาดว่าสถานการณ์ COVID-19 จะใช้เวลาประมาณ 5 เดือนก่อนที่จะกลับมาเป็นปกติในเดือนมิถุนายน 2563 ซึ่งผลกระทบจะมีมากสุดในช่วงไตรมาสแรกจากมาตรการที่เข้มงวดของทางการจีนในการควบคุมโรคที่ส่งผลต่อการเดินทางออกนอกประเทศของนักท่องเที่ยวจีน รวมถึงการผลิตและการขนส่งสินค้าของจีน นอกจากนี้ จากความล่าช้าของการอนุมัติงบประมาณ (ล่าสุดร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เพิ่งผ่านสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 13 ก.พ.63) ยังส่งผลต่อการเบิกจ่ายเม็ดเงินของภาครัฐในช่วงไตรมาสแรก จึงทำให้คาดว่า GDP ไทยไตรมาสแรกจะชะลอลงมากสุดก่อนที่จะค่อยๆฟื้นตัวในระยะถัดไป
          
จากตัวเลขเร็ว (High frequecy data) ของจำนวนผู้โดยสารต่างประเทศรายวันล่าสุดที่มีแนวโน้มหดตัวมากกว่าคาด ทำให้ EIC ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 63 เหลือ 1.8% จากเดิมคาดที่ 2.1% จากการติดตามจำนวนผู้โดยสารต่างประเทศที่เดินทางเข้าไทยผ่าน 5 สนามบินหลัก พบว่าในช่วงวันที่ 1-13 ก.พ.63 นักท่องเที่ยวหดตัวไปแล้วกว่า -45%YOY ซึ่งลดลงมากกว่าคาดการณ์เดิมของทาง EIC ที่ -30.8%YOY จึงมีการปรับคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงในเดือน ก.พ.(lowest draw-down) 
 
 
          
 
 
 
นอกจากนี้ยังคาดว่าการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มช้ากว่าที่คาดไว้เดิม เนื่องจากลักษณะของ COVID-19 ที่มีการแพร่เชื้อได้ง่าย สะท้อนจากผู้ติดเชื้อทั่วโลกที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวในการกลับมาเดินทางอีกครั้ง จึงทำให้ EIC ปรับลดประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 63 เหลือประมาณ 37 ล้านคน คิดเป็นการหดตัว -7.1%YOY จากประมาณการเดิมที่ประมาณ 38 ล้านคน (-4.6%YOY) ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้อีไอซีปรับลดคาดการณ์ GDP เหลือ 1.8% จากเดิมที่ 2.1% 
อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้ที่ภาครัฐจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจในปี 63 ซึ่งจะต้องติดตามลักษณะและขนาดของมาตรการอย่างใกล้ชิดต่อไป 
          
ขณะที่ EIC คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องที่ 1.00% ในช่วงที่เหลือของปี 63 จากขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัดขึ้น และอาจหันไปพึ่งมาตรการด้านอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น โดย กนง.ให้ความสำคัญต่อการใช้มาตรการด้านอื่น ๆ ที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น และอาจรอประเมินผลกระทบจากมาตรการเหล่านั้นต่อภาคเศรษฐกิจจริงก่อน

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 18 ก.พ. 2563 เวลา : 16:36:54
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 10:12 am