ประกัน
เลือกประกันสุขภาพผิด"เสี่ยง"ในการบริหาร-วางแผนการเงิน


ในความเป็นจริงของชีวิตคุณ ต้องเผชิญกับเหตุการณ์การเจ็บป่วยของตัวคุณเอง คนในครอบครัวและคนรอบข้าง ซึ่งเมื่อเข้ารับรักษาตัวในโรงพยาบาล คุณมักจะเจอคำถามว่า คุณมีประกันหรือเปล่า?หรือคุณใช้สิทธิการรักษาพยาบาลอะไรบ้าง?

 

 
 
 
 
หากคุณไม่มีประกันหรือสิทธิใดๆเลย สิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณก็คือ คุณต้องจำนนกับค่ารักษาพยาบาลและซึ่งเป็นสิ่งที่คุณไม่เคยต่อรองหรือปฏิเสธได้เลยและยิ่งต้องยอมจำนนมากไปกว่านั้น คือเงินทุกบาททุกสตางค์ที่คุณเก็บมาทั้งชีวิต ต้องถูกนำมาจ่ายค่ารักษาพยาบาล

ดังนั้นวันนี้มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯ และคุณ วรเดช ปัญจรงคะ จึงต้องการทำให้คุณเห็นภาพจริงว่า การวางแผนประกันสุขภาพมีความสำคัญสำหรับตัวคุณเองและคนในครอบครัว เพราะเป็นการบริหารความเสี่ยงในการวางแผนการเงิน

ดังนั้นปัจจัยสำคัญที่คุณจะต้องนำมาพิจารณาในการเลือกซื้อประกันสุขภาพให้กับตัวคุณและคนในครอบครัวคุณมีดังนี้

เริ่มจากคุณต้อง ประเมินความเสี่ยงตัวคุณและคนในครอบครัวว่า มีโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ เช่น เบาหวาน มะเร็ง ว่าคนในครอบครัวเป็นกันหรือไม่ มีโอกาสถ่ายทอดมายังตัวเองหรือไม่ หรือตัวคุณมีพฤติกรรม ดื่มสุรา สูบบุหรี่ นอนดึก ชอบกินของทอด หวาน มัน เค็ม เครียด ไม่ออกกำลังกาย นั่งทำงานนานไม่เปลี่ยนอิริยาบถ ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจและโรคอื่นๆตามมา

นอกจากนี้คุณต้องดูว่า สิ่งแวดล้อม สภาพการทำงาน สถานที่อยู่อาศัย มีความเสี่ยงในการรับมลพิษทางอากาศ เสียง น้ำ แสงและอื่นๆที่ส่งผลต่อสุขภาพอนามัยในระดับใด
คุณยังต้องดูด้วยว่า ระดับความรุนแรงของผลกระทบ หากเจ็บป่วยแล้วมีค่าใช้จ่ายสูง มีผลกระทบทางการเงินของตนเองและครอบครัว ควรทำการโอนความเสี่ยงด้วยการทำประกันสุขภาพ
 
ไม่เพียงเท่านี้คุณต้องรู้จักสวัสดิการที่มี ซึ่งคนไทยทุกคนรวมถึงคุณจะได้รับสิทธิประกันสวัสดิการสุขภาพถ้วนหน้า เมื่อเริ่มทำงานจะได้สวัสดิการของหน่วยงาน โดยบริษัทเอกชนหรือหน่วยงานของรัฐจะให้พนักงานสมัครเข้าระบบประกันสังคมและกองทุนทดแทน เมื่อออกจากงานก็เลือกได้ว่าจะอยู่ในระบบประกันสังคมหรือกลับสู่ประกันสุขภาพถ้วนหน้า
 
ในองค์กรที่มีความใส่ใจในสวัสดิการพนักงานจะมีการจัดทำสวัสดิการเบิกค่ารักษาพยาบาลจากองค์กรหรือทำประกันกลุ่มที่มีการคุ้มครองทั้งประกันชีวิต ประกันสุขภาพผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอก ทันตกรรม แต่คุ้มครองเฉพาะในช่วงที่เป็นพนักงาน หากลาออกหรือเกษียณก็จะไม่ได้รับการคุ้มครอง
 
ดังนั้นหากคุณประเมินสวัสดิการที่มีแล้วว่าไม่เพียงพอต่อระดับความต้องการบริการ ทั้งด้านเวลาที่ต้องรอคอยตามระบบที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก วิธีการรักษาที่จะใช้เทคโนโลยีที่สูงแต่ไม่สามารถเบิกได้ คุณภาพยาที่แตกต่างกัน คุณภาพห้องพักโรงพยาบาลที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าสิทธิประโยชน์ที่มี การมีประกันสุขภาพส่วนบุคคลก็เปรียบเสมือนเกราะชั้นที่ 2 เพื่อป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน หากเจ็บป่วยขึ้นมา
 
ดังนั้นคุณก็ต้องมาเลือกความคุ้มครองที่เหมาะสม ซึ่งความคุ้มครองที่สูงจะมาพร้อมกับค่าเบี้ยประกันภัยที่สูง

ดังนั้นการทำงบประมาณรายรับรายจ่าย เพื่อประมาณการค่าเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมกับการโอนความเสี่ยง โดยคุณควรศึกษารายละเอียด ดังนี้
1.งบประมาณ เบี้ยประกันปีแรก เบี้ยประกันปีต่ออายุ ซึ่งเบี้ยประกันจะเพิ่มขึ้นตามช่วงอายุ หรือบางกรมธรรม์มีการเพิ่มเบี้ยตามการเคลมสินไหม การชำระเบี้ยรายปี จะประหยัดกว่าการชำระเบี้ยรายเดือน

2.รายละเอียดความคุ้มครอง คุณต้องดูถึงความมั่นคงทางการเงินของบริษัทประกันเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะต้องรับผิดชอบผู้เอาประกันไปยาวนาน คุณต้องดูแบบประกันสุขภาพ มีการคุ้มครองหลายรูปแบบ เช่น ประกันสุขภาพแบบจ่ายตามตาราง อย่างเช่น ผ่าตัดเล็กจ่ายเพียง 20% ของค่าศัลยกรรมผ่าตัดในสัญญาประกันภัย

โดยประกันสุขภาพนั้นก็มีให้คุณเลือกหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ประกันสุขภาพแบบเหมาจ่ายตามจริง เบี้ยประกันจะสูงกว่าแบบจ่ายตามตารางแต่คุ้มครองจ่ายตามจริง โดยมีขอบเขตของวงเงินค่าห้องในการรักษาพยาบาล และวงเงินการรักษาพยาบาลแต่ละครั้ง

ประกันสุขภาพแบบมีค่า Deduct เช่น 20,000 บาทแรกของค่ารักษาพยาบาลไม่คุ้มครองแต่ค่ารักษาพยาบาลที่เกินจากนี้คุ้มครองตามสัญญาประกันภัย
ประกันสุขภาพแบบจ่ายรวม เช่น 20:80 หากค่าใช้จ่าย 100,000 บาท ผู้เอาประกันภัยจ่าย 20,000 บาท บริษัทประกันภัยจ่าย 80,000 บาท

นอกจากส่องหารูปแบบประกันแล้ว คุณต้องดูการคุ้มครองประกันสุขภาพแบบไหน แบบผู้ป่วยใน มีค่าห้อง ค่าผ่าตัด ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ค่ารักษาพยาบาลอุบัติเหตุฉุกเฉิน มีการคุ้มครองเป็นแบบวงเงินต่อครั้งต่อโรคและวงเงินต่อปี

ส่วนผู้ป่วยนอก มีจำนวนเงินต่อครั้งและระบุจำนวนครั้งสูงสุดในรอบปีกรมธรรม์ ค่าทดแทน หากไม่ได้มีการเบิกสินไหมค่ารักษาพยาบาลจากกรมธรรม์ เนื่องจากใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือประกันสังคม กรมธรรม์จะจ่ายค่าชดเชยการนอนโรงพยาบาลให้ตามสัญญาประกันภัย

ขณะที่เงื่อนไขการรับประกันก็จะมีระยะเวลาการรับประกัน ในสัญญากรมธรรม์จะมีการระบุการรับประกัน เช่น จนถึงอายุ 70, 80, 85 หรือตลอดชีพ แต่ในปัจจุบันหลายกรมธรรม์จะระบุว่าเป็นการคุ้มครองปีต่อปี สามารถบอกล้างสัญญาได้ ซึ่งบริษัทประกันคงไม่อยากบอกล้าง ถ้าไม่มีเหตุสงสัยในความผิดปกติของการเคลมสินไหม หรือเกิดภาวะการขาดทุนมากมาย

ขณะเดียวกันต้องดู เรื่องข้อยกเว้นในกรมธรรม์ โดยเฉพาะการไม่คุ้มครองโรค เช่น จิตเวช นอนกรน ท้องผูก ผลจากการดื่มสุรา ยาเสพติด การไม่คุ้มครองการเจ็บป่วยในต่างประเทศ เช่น หากอยู่ต่างประเทศเกิน 120 วัน ไม่ได้รับการคุ้มครองหรือการไม่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดในบางประเทศ

การถูกเพิ่มเบี้ยหรือลดเบี้ยประกันปีต่ออายุ ในแต่ละบริษัทประกันจะมีการพิจารณาและการปฏิบัติที่แตกต่างกัน แต่อยู่บนพื้นฐานของสัญญาในแต่ละกรมธรรม์ ซึ่งตัองได้รับการอนุมัติจากสำนักงาน คปภ.

การปฏิเสธรับประกันในปีต่ออายุ เมื่อมีการเคลมสินไหมที่มากเกินปกติ เช่น เคลมบ่อยครั้ง บริษัทประกันจะจับตามองเป็นพิเศษ และนำมาเป็นเหตุในการพิจารณาไม่รับประกันในปีต่ออายุ ซึ่งจะแจ้งลูกค้าถึงสาเหตุแต่ลูกค้าก็สามารถโต้แย้งบริษัทประกันให้ทบทวนใหม่ได้

ระยะเวลารอคอย หลังจากกรมธรรม์อนุมัติ การเจ็บป่วยทั่วไปแบบผู้ป่วยในมีระยะเวลารอคอย 30 วัน ส่วนโรคผ่าตัดทอมซิล ไส้เลื่อน โรคภายในสตรี เป็นต้น ระยะเวลารอคอย 120 วัน และหากกรมธรรม์ขาดอายุและต่อกรมธรรม์ใหม่ก็ต้องนับระยะเวลารอคอยใหม่

การเรียกร้องสินไหม โดยผู้เอาประกันที่ทำประกันสุขภาพจะได้รับบัตรสมาชิกผู้เอาประกันหรือโปรแกรมที่ติดตั้งในมือถือ ที่สามารถแสดงกับโรงพยาบาลเพื่อใช้ในการเรียกร้องสินไหมกับบริษัทประกันหรือได้ส่วนลดบางรายการ หรือนำส่งเอกสารใบเสร็จตัวจริง ใบรับรองแพทย์ เข้าบริษัทประกัน เพื่อทำการเรียกร้องสินไหม
 
ผู้ดูแลและให้บริการ ทั้งนี้การซื้อประกันชีวิต ประกันสุขภาพ เป็นการซื้อบริการและความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยซึ่งเป็นสัญญาระยะยาว ผู้ขายประกันต้องเป็นผู้ที่ผ่านการอบรมจากสำนักงาน คปภ. และบริษัทประกันภัย  ต้องมีจรรยาบรรณในวิชาชีพ

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การเลือกซื้อประกันสุขภาพ ให้ได้และโดน ครอบคลุมในสิ่งที่คุณและคนในครอบครัวต้องการ คงต้องเลือกแบบที่เข้ากับความต้องการและตัวคุณจริงๆ จึงจะคุ้มค่าและตรงใจที่สุด
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 มี.ค. 2563 เวลา : 09:48:16
03-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 3, 2024, 2:29 pm