ประกัน
ซื้อประกัน COVID-19 แบบไหนถึงได้ประโยชน์การคุ้มครองดีเลิศ


ช่วงนี้หลายคนเริ่มมีความกังวลกันมากขึ้น หลังจากตัวเลขการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 พบตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศไทยมากขึ้น ก่อให้เกิดความตื่นตัวที่จะหาหลักประกันที่คุ้มครอง หากตัวเองเกิดติดเชื้อไวรัส COVID-19

 
 
 
 
จากปัญหาดังกล่าวจึงทำให้บริษัทประกันภัยต่างออกแบบกรมธรรม์ที่ให้ความคุ้มครองที่เกี่ยวกับเชื้อไวรัสCOVID-19 ออกมาในตลาดเป็นจำนวนมาก ดังนั้นหลายคนรวมถึงคุณคงตัดสินใจเลือกซื้อประกันดังกล่าวไม่ถูกว่าควรซื้อกรมธรรม์ประกันแบบไหนดี
 
มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯและคุณธีรพัฒน์ มีอำพล จึงมีข้อแนะนำดีๆมสบอกต่อว่า ก่อนคุณจะตัดสินใจซื้อกรมธรรม์ประกันแบบใด ขอให้คุณศึกษารายละเอียดและเงื่อนไขความคุ้มครองให้ชัดเจนก่อน

เหตุผลที่ต้องบอกเช่นนี้ เพราะบางแบบกรมธรรม์จะจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลให้หรือบางแบบจะจ่ายเป็นเงินก้อนชดเชยให้เมื่อตรวจพบว่าได้รับเชื้อไวรัส COVID-19 หรือบางแบบประกันจะจ่ายค่าชดเชยให้เมื่อผู้เอาประกันเข้าขั้นโคม่าหรือเสียชีวิต บางแบบก็ไม่คุ้มครองผู้เอาประกันที่มีโรคประจำตัวมาก่อน บางแบบก็ไม่คุ้มครองผู้เอาประกันที่มีการเดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขก่อนทำประกัน หรือบางแบบประกันก็มีระยะเวลารอคอยจากการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อ (Waiting Period) 14 วัน
 
ดังนั้นขอสรุปความคุ้มครองหรือผลประโยชน์หลักๆของแบบประกันที่ให้ความคุ้มครองเชื้อไวรัส COVID-19 ออกเป็น 4 กลุ่ม เพื่อจะได้ตัดสินใจเลือกซื้อได้ง่ายขึ้น
 
กลุ่มที่ 1 ค่ารักษาพยาบาลจากการติดไวรัส COVID-19 ผลประโยชน์กลุ่มนี้ บริษัทประกันจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ผู้เอาประกันตามจริงแต่ไม่เกินวงเงินผลประโยชน์ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ คือ ต้องมีหลักฐานพวกใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลและใบรับรองแพทย์ว่าเข้ารับการรักษาจากการติดเชื้อไวรัสดังกล่าว
 
กลุ่มที่ 2 ค่าชดเชยกรณีตรวจพบไวรัส COVID-19 หรือเจอปุ๊บจ่ายปั๊บ กรณีนี้บริษัทประกันจะจ่ายผลประโยชน์เป็นเงินก้อนให้แก่ผู้เอาประกัน ตามวงเงินผลประโยชน์ที่ได้ซื้อความคุ้มครองไว้ เมื่อมีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันว่าตรวจพบเชื้อไวรัสดังกล่าว
 
กลุ่มที่ 3 เงินชดเชยรายได้จากการรักษาตัวในโรงพยาบาลจากการติดไวรัส COVID-19 บริษัทประกันจะจ่ายผลประโยชน์ชดเชยให้แก่ผู้เอาประกัน กรณีต้องนอนพักรักษาตัวจากการติดเชื้อที่โรงพยาบาล โดยจะจ่ายค่าชดเชยให้ต่อวันตามจำนวนวันที่นอนพักรักษาตัว แต่กรณีนี้ผู้ซื้อจำเป็นต้องดูเงื่อนไขจำนวนวันสูงสุดที่จ่ายชดเชยให้ละเอียด
 
กลุ่มที่ 4 กรณีเจ็บป่วยขั้นโคม่าด้วยไวรัส COVID-19 บริษัทประกันจะจ่ายผลประโยชน์ก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันเจ็บป่วยเข้าสู่สภาวะโคม่าหรือภาวะสมองตายและระบบประสาทล้มเหลวหรือการเจ็บป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งเป็นการเจ็บป่วยรุนแรงที่แพทย์ลงความเห็นว่าไม่มีวิธีการรักษาให้หายได้และ/หรือเป็นเหตุทำให้เสียชีวิตโดยมีสาเหตุหลักมาจากการติดเชื้อไวรัสดังกล่าว
 
นอกจากนี้บางบริษัทประกันจะบวกความคุ้มครองหรือผลประโยชน์อย่างอื่นเข้าไปด้วยในแพ็คเกจ เช่น ผลประโยชน์การเสียชีวิต การสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงจากอุบัติเหตุ (อบ.1)หรือค่าปลงศพ ดังนั้นหากดูในรายละเอียดผลประโยชน์ของแต่ละแบบนั้น การซื้อแบบประกันในกลุ่มที่ 1 มีโอกาสในการได้ประโยชน์หรือโอกาสเคลมที่ต่ำ เพราะหากตรวจพบเชื้อไวรัส COVID-19 ผู้ติดเชื้อต้องถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลรัฐบาลที่มีศักยภาพในการรักษา
 
ซึ่งระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาท) หรือระบบประกันสังคมก็รับผิดชอบค่าใช้จ่ายพวกค่าห้อง ค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว ดังนั้นหากไม่มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรักษาที่ผู้เอาประกันต้องจ่ายส่วนต่างจะไม่สามารถเคลมผลประโยชน์ในส่วนนี้ได้หรือหากผู้เอาประกันมีประกันสุขภาพ ไม่ว่าจะประกันสุขภาพส่วนตัวหรือประกันสุขภาพแบบกลุ่ม โดยทั่วไปก็ให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลในทุกกรณีอยู่แล้ว
 
ดังนั้นจึงแนะนำประกันที่ให้ความคุ้มครองในกลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มที่ 2, 3 และ 4 คือ ตรวจเจอเชื้อไวรัส COVID-19 ก็จ่ายทันที รวมไปถึงเงินชดเชยรายได้จากการรักษาตัวในโรงพยาบาลจากการติดเชื้อ เพราะช่วงที่เข้ารับการรักษาอาจจะขาดรายได้ เงินชดเชยตรงนี้ก็จะมาทดแทนการขาดรายได้ในระหว่างที่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล
 
ดังนั้นผู้ที่กำลังตัดสินใจซื้อประกัน ควรศึกษารายละเอียดความคุ้มครอง ผลประโยชน์ เงื่อนไขการจ่ายผลประโยชน์ให้ละเอียด ไม่เช่นนั้นแล้วอาจจะได้ประกันที่เสียเปล่า หรือถ้าจะให้ดีถือเป็นโอกาสที่ดีในการทำประกันสุขภาพ เนื่องจากความคุ้มครองของประกันสุขภาพจะครอบคลุมการรักษาพยาบาลทุกโรค ไม่เฉพาะเชื้อไวรัส COVID-19 เพราะไม่มีใครรู้ว่าตัวเองจะเจ็บป่วยเมื่อไหร่ หรืออนาคตข้างหน้าจะมีเชื้อโรคอะไรใหม่ๆเข้ามาอีก
 
อย่างในกรณีหากสงสัย กังวลหรือมีอาการไข้ แล้วต้องไปนอนดูอาการในโรงพยาบาล แต่ตรวจแล้วไม่เป็น กรมธรรม์ประกันสุขภาพก็ยังคุ้มครองได้ แต่พวกประกันเชื้อไวรัส COVID-19 จะไม่จ่าย เพราะถือว่ายังไม่ได้พบเชื้อ

นอกจากนี้กรณีไหนบ้างที่ประกันภัย COVID-19 ไม่คุ้มครอง ได้แก่ คุณเจ็บป่วยด้วยโรคCOVID-19 มาก่อนทำประกัน การใช้สิทธิ์โดยไม่สุจริต ติดเชื้อโรค COVID-19 ในช่วงที่รอคอยการคุ้มครอง และการวินิจฉัยที่ไม่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ COVID-19
 
ดังนั้นการมีประกันไม่ได้หมายความว่าจะไม่ป่วย แต่เมื่อยามเจ็บป่วยประกันช่วยผ่อนภาระจากหนักเป็นเบาให้คุณได้
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 มี.ค. 2563 เวลา : 15:14:38
05-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 5, 2024, 3:39 am