การตลาด
สกู๊ป ''อิปซอสส์'' เผย 7 เทรนด์โลกหลัง 'โควิด-19'' แนะทำธุรกิจเชื่อมั่นต้องมาก่อน


การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ที่กระจายไปกว่า 200 ประเทศทั่วโลก ส่งผลให้ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อโรคดังกล่าวไปแล้วกว่า 3 ล้านคนทั่วโลก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้การใช้ชีวิตของคนทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นการกิน การเข้าสังคม หรือการทำธุรกิจ  ซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้ทั่วโลกต้องหันมาให้ความสำคัญกับ 'New Normal' หรือ 'ความปกติรูปแบบใหม่' จนกว่าจะมีวัคซีนเข้ามาจัดการกับโรคร้ายนี้

 
 
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นฟูทางด้านธรรมชาติ จะเห็นได้ว่าหลังจากไม่มีมนุษย์เดินทางเข้าไปท่องเที่ยวรบกวนธรรมชาติ สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งเริ่มมีความสวยงามมากขึ้น ขณะเดียวกัน ในด้านของการดำรงชีพของมนุษย์ เราก็จะเห็นอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย เพื่อการอยู่รอด หลายธุรกิจมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการ  เพื่อให้สอคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
 
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าว ถือได้ว่าโรคโควิด-19 เข้ามาช่วยเร่งปฏิกิริยาให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วขึ้น จากการสำรวจของ อิปซอสส์ เกี่ยวกับเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  พบเทรนด์ที่น่าสนใจด้วยกัน 7 เทรนด์ ดังนี้  
1.Reshoring of Supply Chains หรือการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ  เนื่องจากที่ผ่านมาหลายบริษัทมีการเข้าไปลงทุนสร้างโรงงานการผลิตสินค้าในประเทศที่มีค่าแรงต่ำ เช่น ประเทศจีน  แต่หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในครั้งนี้  หลายบริษัทเริ่มมีการกลับมาทบทวนแผนการดำเนินธุรกิจ  เพราะหลังจากมีโรคระบาดเกิดขึ้นในประเทศจีน  ทำให้จีนถูกตัดขาดจากโลกภายนอก และส่งผลให้ซัพพลายสินค้าที่มีแหล่งผลิตในประเทศจีนถูกตัดขาดไปด้วย ซึ่งจากผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว  ทำให้หลายบริษัทเริ่มมองโอกาสการย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยง  แม้ว่าต้นทุนอาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย  แต่ปัจจุบันก็เริ่มมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในด้านของการทดแทนแรงงานคนแล้ว  
2. An Increasingly Distributed Workforce  หรือพื้นที่สำนักงานเริ่มถูกลดความสำคัญ หลังจากเกิการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทุกประเทศก็หันมาให้ความสำคัญกับ Social Distancing หรือ การเว้นระยะห่างทางสังคม เห็นได้จากการเข้าแถวซื้อสินค้า หรือการที่หลายหลายบริษัทให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้วัตถุประสงค์ของออฟฟิศเปลี่ยนไป จากเดิมออฟฟิศจะเป็นสถานที่ทำงานที่ให้พนักงานเข้ามาทำงานร่วมกัน แต่ปัจจุบันออฟฟิศเริ่มเป็นเพียงสถานที่เพื่อใช้ทำการประชุม หรือเป็นสถานที่ที่รวมพนักงานเพื่อระดมความคิดการทำงาน  
 
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าวในอนาคตอาจเกิดเทรนด์การเช่าออฟฟิศแบบระยะสั้นในรูปแบบ Co-Working Space และอาจเห็นการเปลี่ยนแปลงราคาของพื้นที่เช่าอาคารสำนักงานใจกลางเมือง หรือย่านธุรกิจที่เปลี่ยนไป
 
   
 
3. Shift from Time-based to Task-based Compensation  หรือการจ่ายค่าแรงตามจำนวนงาน และเปิดโอกาสรับงานบริษัทอื่น การที่หลายบริษัทเปิดให้พนักงานสามารถ Work Form Home (WFH) ได้ ทำให้ผู้บริโภคเริ่มมีพฤติกรรมที่ชินกับการทำงานจากบ้านผ่านระบบออนไลน์ ที่มาพร้อมกับการพัฒนาระบบแปลภาษาที่มีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้นเรื่อยๆ 2 ปัจจัยทำให้เกิดเทรนด์การจ้างงานในรูปแบบ Task Based  หรือการจ้างตามจำนวนงานที่ได้ทำ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้คนที่มีศักยภาพสามารถทำงานกับบริษัทต่างชาติที่สนใจได้ทั่วโลก โดยไม่จำเป็นต้องไปทำงานที่ออฟฟิศ  แต่สำหรับคนที่มีศักยภาพน้อยจะได้รับโอกาสในด้านของการทำงานลดลงตามไปด้วย 
 
4. Hollowing Out of Middle-level Jobs หรือพนักงานระดับ Middle-level Jobs อาจไม่มีความจำเป็น เนื่องจากปัจจุบันมีการเริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงานในบางประเภทแล้ว จึงทำให้ความสำคัญของตำแหน่งงานที่เป็น Middle-level Jobs ที่ไม่ต้องใช้ทักษะการทำงานสูงเริ่มถูกลดค่าจ้าง และถูกเลิกจ้าง ทั้งนี้ เพื่อให้พนักงานระดับดังกล่าวเป็นที่ต้องการขององค์กรต่างๆ ทุกคนควรมีการพัฒนาความสามารถของตัวให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงงาน 
 
5.Decline of Institutional Education  หรือสถาบันการศึกษาอาจถูกลดความสำคัญ  รูปแบบการศึกษาในอดีตที่รับประกันเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา อาจไม่มีความจำเป็นเหมือนก่อน เนื่องจากโลกของการจ้างงานในอนาคตเริ่มหันมาจ้างงานตามทักษะของแต่ละบุคคลมากกว่าการศึกษา การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจทำให้รูปแบบการศึกษาเปลี่ยนไป และอาจมีการปรับค่าเล่าเรียน หรือสอนผ่านออนไลน์กันมากขึ้น   
 
6. Reshaping of Business Responsibilities หรือการปฏิรูปโครงสร้างความรับผิดชอบในสังคม จากผลการสำรวจพบว่า 77% ของคนทั่วโลกมองว่า ภาคธุรกิจควรเป็นหนึ่งในส่วนร่วมของการรับผิดชอบสังคม เพื่อให้สังคมน่าอยู่ขึ้น ขณะเดียวกัน ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ ผลประโยชน์ที่ได้จากรัฐบาล หรือการที่รัฐบาลเข้ามาช่วยอุ้มธุรกิจ เช่น การบินไทย ควรมีการออกมาชี้แจงภาพรวมของผลการดำเนินธุรกิจ เพื่อความโปร่งใส และตรวจสอบได้ 
 
7.Reengineering of Social Safety Nets  หรือการปรับสวัสดิการสังคม  จากผลการสำรวจของอิปซอสส์ พบว่าความกังวลของคนทั่วโลก 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ความยากจน ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม  2. การว่างงาน  3. อาชญากรรมและความรุนแรง  4. การเงินและการคอร์รัปชั่นทางการเมือง  และ 5. สุขภาพ  ซึ่งทั้ง 5 อันดับจะเห็นได้ว่าเป็นการให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องของความยากจน เรื่องของเงิน  และรายได้เกือบทั้งหมด
 
 
นายอิษณาติ วุฒิธนากุล ผู้อำนวยการอาวุโสองค์กรลูกค้าสัมพันธ์  บริษัท อิปซอสส์ (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวสรุปว่า การเกิดขึ้นของโรคโควิด-19  ได้สร้างผลกระทบรุนแรงกว่าโรคซาร์สที่เกิดขึ้นในปี  2545 ตอนนั้นขนาดเศรษฐกิจจีนยังไม่ใหญ่มาก แต่คนจีนก็มีความเชื่อมั่นว่า หลังวิกฤติเศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวเร็ว เช่นเดียวกับครั้งนี้ที่คนจีนมีความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจหลังโควิดจะฟื้นตัวได้ภายในครึ่งปีหลังของปี 2563 เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆทั่วโลกที่ยัง “ขาดความเชื่อมั่น” ว่าเศรษฐกิจประเทศตนจะฟื้นตัวได้ 
 
ดังนั้น เพื่อให้ธุรกิจไปต่อได้  นักการตลาดต้องมีการปรับตัว ซึ่งในส่วนของประเทศไทยก็เริ่มมีหลายแบรนด์สินค้าปรับตัวกันไปบ้างแล้ว เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชวนผู้บริโภคปาร์ตี้อออนไลน์สร้างเอ็นเกจเมนต์ แบรนด์สินค้าความงามแตกแบรนด์ใหม่สู่สินค้าเพื่อสุขภาพ เช่น เจลล้างมือ สบู่ล้างมือ และหน้ากากอนามัย เป็นต้น  ส่วนแบรนด์ไหนที่ทำการตลาดไม่ได้ ก็เริ่มออกมาทำกิจกรรมเพื่อสังคม สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการเดินมาถูกทางหากแบรนด์ยังต้องการครองใจผู้บริโภค(Top of Mind)
 

 


บันทึกโดย : วันที่ : 01 พ.ค. 2563 เวลา : 15:35:56
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 11:49 am