เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
EIC คาด กนง. คงดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปี หลังลดดอกเบี้ย ลงมาที่ 0.5%


· กนง. มีมติให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 0.50% ต่อปี ด้วยมติ 4 ต่อ 3 จากแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่หดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ และเสถียรภาพระบบการเงินที่เปราะบางมากขึ้น

·กนง. ประเมินว่ามาตรการทางการเงินที่ดำเนินไปก่อนหน้ามีส่วนช่วย ต่อเสถียรภาพตลาดการเงิน
แต่ยังแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ และเงินบาทที่อาจกลับมาแข็งค่าขึ้น

· EIC คาด กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อรอดูผลของการผ่อนคลายมาตรการทางการเงินและมาตรการทางการคลังที่ได้ดำเนินไป นอกจากนั้น การดำเนินมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงินของ ธปท. ในช่วงที่ผ่านมาช่วยให้ภาวะการเงินไทยผ่อนคลายลงบ้างในบางมิติ เช่น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงมา

·อย่างไรก็ดี หากเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีมีการหดตัวรุนแรงขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับครึ่งแรก
ก็อาจมีการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมอีกได้ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้เป็นอย่างเร็ว
 

*   Key points

กนง. มีมติให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 0.50% ต่อปี ด้วยมติ 4 ต่อ 3 จากแนวโน้มเศรษฐกิจ
และอัตราเงินเฟ้อที่หดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ และเสถียรภาพระบบการเงินที่เปราะบางมากขึ้น ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 20 พฤษภาคม 2020 กนง. มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง (3 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้) ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 0.75% มาอยู่ที่ 0.50% ต่อปี เนื่องจาก

เศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ โดยการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้า
ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามากกว่าคาด ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่หดตัวรุนแรงและผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดทั่วโลก ขณะที่อุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวกว่าที่ประเมินไว้จากการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นและมาตรการควบคุมการระบาดภายในประเทศ สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2020 มีแนวโน้มติดลบมากกว่าที่คาดไว้เดิมตามราคาพลังงานที่ลดลง เป็นสําคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในระดับต่ําต่อเนื่อง นอกจากนี้ กนง. ยังมองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจะช่วยสอดประสานกับมาตรการทางการเงินและการคลังที่ดำเนินไปก่อนหน้านี้ เพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่องของครัวเรือนและธุรกิจ รวมทั้งสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวได้ในระยะต่อไป
 
เสถียรภาพระบบการเงินที่เปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ แม้ว่าธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสํารองที่เข้มแข็ง แต่ในระยะข้างหน้ายังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพของระบบธนาคารพาณิชย์ หากความสามารถในการชําระหนี้ของลูกหนี้ด้อยลงกว่าคาด โดยเฉพาะหลังมาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องของภาครัฐทยอยสิ้นสุดลง
 
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการ 3 ท่านออกเสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้ เนื่องจาก ต้องการให้เร่งรัดประสิทธิผลของมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ได้ประกาศไปแล้ว ทั้งนี้คณะกรรมการฯ โดยรวมเห็นว่า
ควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ โดยเฉพาะครัวเรือนและธุรกิจ SMEs
ให้เกิดผลในวงกว้างมากขึ้น และเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ ที่ได้ออกมาก่อนหน้าเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุดและทันการณ์
 
กนง. ประเมินว่ามาตรการทางการเงินที่ดำเนินไปก่อนหน้านี้ส่งผลให้ตลาดการเงินมีเสถียรภาพขึ้น แต่ยังแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ และเงินบาทที่อาจกลับมาแข็งค่าขึ้น โดยหลัง ธปท. ออกมาตรการดูแลเสถียรภาพตลาดการเงิน รวมทั้งจัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (Corporate Bond Stabilization Fund: BSF) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลงและอัตราผลตอบแทนหุ้นกู้ที่ซื้อขายในตลาดรองผันผวนน้อยลง ตลาดตราสารหนี้กลับมาทําหน้าที่ได้เป็นปกติมากขึ้น อย่างไรก็ดี กนง. ให้ติดตามสถานการณ์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่อาจได้รับผลกระทบจากการลงทุนในตราสารหนี้ และสถานการณ์เงินบาทที่อาจกลับมาแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

*   Implication

EIC คาด กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อรอดูผลของการผ่อนคลายมาตรการทางการเงินและมาตรการทางการคลังที่ได้ดำเนินไปค่อนข้างมาก โดยมติ 4 ต่อ 3 ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้สะท้อนได้ว่า คณะกรรมการบางส่วนมีความต้องการที่จะชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อประเมินผลจากการผ่อนคลายนโยบายต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินไปค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ การจัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ การเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทย การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และมาตรการอัดฉีดทางการคลัง

โดย EIC ประเมินว่า หากการหดตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2020 มีแนวโน้มลดลง และภาพเศรษฐกิจโดยรวมเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ตามสถานการณ์ COVID-19 ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างมีนัย และเริ่มมีการเปิดเมืองมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว กนง. น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในประวัติการณ์ในช่วงที่เหลือของปีนี้ได้

เศรษฐกิจต่างประเทศส่วนใหญ่ปรับหดตัวลงในไตรมาส 1 ปี 2020 จากผลของมาตรการปิดเมือง EIC ประเมินว่า
ในไตรมาสที่ 3 เป็นต้นไป หลังจากหลาย ๆ ประเทศได้ผ่อนคลายมาตรการลงจะทำให้เศรษฐกิจโลกเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ โดยตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 1 ของหลาย ๆ ประเทศที่ออกมาล่าสุดนั้น ส่วนใหญ่ปรับหดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสะท้อนผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เริ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์และแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้างในเดือนมีนาคม ทำให้ภาครัฐของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกออกมาตรการควบคุมการเดินทางและกิจกรรมทางสังคม โดยดัชนีความรัดกุมมาตรการดูแลของภาครัฐ (Government Policy Stringency Index)
 
ซึ่งจัดทำโดยมหาวิทยาลัย Oxford พบว่า นับตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา ประเทศส่วนใหญ่ได้เพิ่มความเข้มงวดของมาตรการขึ้น โดยในหลาย ๆ ประเทศได้มีการปิดเมือง (เช่น โรงเรียนหยุดการเรียนการสอน บริษัทหยุดการปฏิบัติงานโดยให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน) งดกิจกรรมสังสรรค์ต่าง ๆ และห้ามไม่ให้ประชาชนเดินทางทั้งภายในและต่างประเทศ
 

EIC พบว่ามาตรการที่เข้มงวดขึ้นนี้ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยประเทศที่มีมาตรการดูแลของภาครัฐที่เข้มงวดกว่าจะมีการหดตัวทางเศรษฐกิจไตรมาส 1 ในอัตราที่มากกว่า (รูปที่ 1) เนื่องจากมาตรการที่เข้มงวดนั้นส่งผลให้ทั้งภาคการผลิต ภาคบริการ และการค้าโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยพบว่าภาคบริการได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าภาคการผลิต สำหรับในไตรมาสที่ 3 เป็นต้นไป หลาย ๆ ประเทศน่าจะทำการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองลงต่อเนื่องจากปัจจุบันที่เริ่มมีการผ่อนคลายไปบ้างแล้ว ทำให้ EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะทยอยกลับมาฟื้นตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้

การดำเนินมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงินของ ธปท. ในช่วงที่ผ่านมาช่วยให้ภาวะการเงินไทยผ่อนคลายลงบ้างในบางมิติและการลดดอกเบี้ยในครั้งนี้น่าจะทำให้ภาวะการเงินผ่อนคลายเพิ่มขึ้นได้ โดย EIC ประเมินว่ามาตรการ
ของ ธปท. มาตรการด้านสินเชื่อ และมาตรการทางการคลังที่ได้ดำเนินไป มีส่วนช่วยทำให้ภาวะการเงินไทยในมิติต่าง ๆ ผ่อนคลายลงได้บ้าง ดังนี้

การระดมทุนของภาคธุรกิจผ่านตลาดสินเชื่อปรับตัวดีขึ้น แต่การระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนปรับลดลง โดยอัตราการขยายตัวของสินเชื่อภาคธุรกิจอยู่ที่ 3.3%YOY ในไตรมาสแรกของปี 2020 ปรับตัวขึ้นจาก -0.8% ในปี 2019 ซึ่งได้รับแรงสนันสนุนจากสินเชื่อของธุรกิจขนานใหญ่ที่ขยายตัวถึง 5.3% อย่างไรก็ดีสินเชื่อของธุรกิจ SMEs ยังคงหดตัวที่ -0.2 และการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่ส่วนหนึ่งมาจากการลดการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน โดยปริมาณการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัวในทุกลำดับความน่าเชื่อถือ (grade) โดยตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเมษายนของปี 2020 หุ้นกู้กลุ่ม (A-)-(AAA) กลุ่ม (BBB-)-(BBB+) และกลุ่ม Non-investment (ตั้งแต่ BB+ ลงไป) มีหุ้นกู้ออกใหม่ 107, 9.7 และ 1.3 พันล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2019 มีการออกหุ้นกู้แต่ละกลุ่มที่ 152, 33.7 และ 5.9 พันล้านบาท ตามลำดับ (รูปที่ 2)
 
 
มาตรฐานการให้สินเชื่อภาคธุรกิจตึงตัวขึ้นในอัตราที่ลดลง ขณะที่ความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้น แต่ความต้องการสินเชื่อเพื่อการลงทุนลดลงอย่างมีนัย โดยจากรายงานผลการสำรวจภาวะและแนวโน้มสินเชื่อที่จัดทำโดย ธปท. ระบุว่า คาดการณ์มาตรฐานการให้สินเชื่อภาคธุรกิจ
 
ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2020 มีแนวโน้มปรับตึงตัวขึ้นในอัตราที่ลดลง โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อในช่วงที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มถดถอย แต่ก็ยังได้รับการสนันสนุนจากมาตรการ
ของภาครัฐและ ธปท. ทำให้มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อไม่ตึงตัวขึ้นมากนัก นอกจากนี้ ผลสำรวจความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจยังระบุว่า ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2020 ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และ SMEs ต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นสำหรับเงินทุนหมุนเวียน แต่ความต้องการสินเชื่อเพื่อการลงทุนปรับลดลงอย่างมีนัย
 
ภาพรวมคุณภาพสินเชื่อด้อยลงนับจากสิ้นปีก่อน โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคและสินเชื่อธุรกิจ SMEs แต่การปรับเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้ช่วยให้สัดส่วน NPL ปรับดีขึ้นในเดือนมีนาคม โดย NPL ของสินเชื่อรวมปรับสูงขึ้นจาก 2.98% เป็น 3.05% โดยเฉพาะสินเชื่ออุปโภคบริโภคและธุรกิจ SMEs ที่ NPL ปรับสูงขึ้นจาก 2.90% และ 4.63% เป็น 3.23% และ 4.81% ตามลำดับ นอกจากนี้สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (stage 2) ปรับสูงขึ้นจาก 2.79% เป็น 7.70% อย่างไรก็ดี การปรับเกณฑ์การจัดชั้นเพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้สัดส่วน NPL และ stage 2 ปรับดีขึ้นในเดือนมีนาคมปี 2020
 
เงินบาทปรับอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับต้นปี แต่ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับการแข็งค่าสะสมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นับจากต้นปีค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง 6.7% ดัชนีค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่งอ่อนค่าลง 4.6% อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับต้นปี 2014 ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐและดัชนีเงินบาทยังคงแข็งค่าสูงขึ้น 12.1% และ 13.7% ตามลำดับสะท้อนได้ว่า เงินบาทที่อ่อนค่ามาในปีนี้
 
ยังไม่สามารถช่วยเรื่องความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของผู้ส่งออกสินค้าและบริการไทยมากนัก
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลง ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เริ่มฟื้นตัวขึ้นแต่ยังคงต่ำกว่าเมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤต COVID-19 แต่ความเสี่ยงด้านเครดิตของภาคธุรกิจยังคงปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง
 
โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 1 ปี และ 10 ปี อยู่ที่ 0.52% และ 1.19% ปรับตัวลดลงจาก
ต้นปี 64 bps และ 30 bps ตามลำดับ ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องและมาตรการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทยของ ธปท. ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ด้านดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยเริ่มฟื้นตัวขึ้นตามความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ปรับดีขึ้นหลังธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลกต่างผ่อนคลายนโยบายการเงินและอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ อย่างไรก็ดี credit spread ของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนยังคงปรับสูงขึ้นต่อเนื่องในทุก ๆ ระดับความน่าเชื่อถือ
 
อย่างไรก็ดี หากเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีมีการหดตัวรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับครึ่งแรก ก็อาจมีการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมอีกได้ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้เป็นอย่างเร็ว โดยเครื่องมือนโยบายที่ กนง. สามารถนำมาใช้ได้คือ 1) การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 25 bps เพื่อลดต้นทุนการระดมทุนและเพิ่มสภาพคล่องในระบบอย่างต่อเนื่อง หรือ 2) ปรับลดอัตราเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF fee) เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์สามารถส่งผ่านผลการลดอัตราเงินนำส่งไปยังครัวเรือนผ่านการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง เหมือนที่ได้ปรับลดไปเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดย EIC มองว่าหากการส่งออกไทยยังหดตัวต่อเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา การบริโภคภายในประเทศยังไม่ฟื้นตัว หรืออัตราการว่างงานยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กนง. ก็อาจผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมได้อีก อย่างเร็วในช่วงไตรมาส 3 ปี 2020 นี้

บทวิเคราะห์จากเว็บไซต์ EIC : https://www.scbeic.com/th/detail/product/6834

ผู้นำเสนอบทวิเคราะห์

ดร. กําพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดเงิน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด มหาชน

วชิรวัฒน์ บานชื่น นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด มหาชน

พงศกร ศรีสกาวกุล นักวิเคราะห์ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด มหาชน

EIC Online: www.scbeic.com 
Line: @scbeic

บันทึกโดย : วันที่ : 21 พ.ค. 2563 เวลา : 10:59:04
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 6:39 pm